“หนังวาย” กับ LINE TV เจาะใจแฟนคลับสายเปย์ “ตลาดแมสแล้วนะจ๊ะ”

หนึ่งในคอนเทนต์รายการของไลน์ทีวี (LINE TV) ที่ถือเป็นจุดขายเพื่อเจาะกลุ่มคนดูที่เป็นวัยรุ่น คือ หนังเกย์หรือหนังวาย ซึ่งไลน์มองว่า คอนเทนต์เหล่านี้จัดเป็นคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม ภาพของชายรักชายจะมีอยู่ในภาพยนตร์นอกกระแสเป็นส่วนมาก โอกาสที่จะมาปรากฏตัวในสื่อแมสแทบจะไม่มี หรือคอนเทนต์วาย ก็จะอยู่ในคอมมูนิตี้สาววาย เช่น เว็บบอร์ด หนังสือการ์ตูน หรืออะนิเมชั่น

แต่ในปัจจุบัน คอนเทนต์วายเหล่านี้ถูกปรับให้ใกล้เคียงกับคำว่าแมสมากขึ้น สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือ จำนวนซีรี่ส์ชายรักชายใน LINE TV ที่มีถึง 11 เรื่อง ออกมาให้ดูพร้อมๆ กัน

เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่อนักการตลาด?

ไลน์ มองว่า เมื่อดูจากยอดวิวของซีรี่ส์วายใน LINE TV ที่สูงเกินกว่า 600 ล้านวิว การเข้าถึงระดับนี้ไม่ใช่ Niche Market อีกต่อไป ความป๊อปของหนังวายจึงมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้แค่กลุ่มเกย์หรือสาววายเท่านั้น

4 ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับหนังวาย

1. “สาววาย” และ “เกย์” คือสายเปย์ตัวจริง

“สาววาย” คือกลุ่มแฟนพันธุ์แท้และดั้งเดิมของคอนเทนต์วาย ซึ่งอาจจะฟันธงให้ชัดเจนไม่ได้ว่าพวกเธอเป็นใคร อายุเท่าไร การศึกษาระดับไหน เพราะพวกเธอรวมตัวกันด้วยความศรัทธาในสิ่งเดียวกัน (Interests) กลายเป็นกลุ่มสาวกที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งนั่นแปลว่าจะเอาวิธีคิดแบบ Demographic มาแบ่งเซ็กเมนต์ไม่ได้

แต่พฤติกรรมที่น่าสนใจของสาววายก็คือ พวกเธอเกาะกลุ่มกันเป็นคอมมูนิตี้ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบอย่างเหนียวแน่น และมี Loyalty สูงมาก

ไลน์ได้หยิบเอากูรูการตลาดระดับโลกอย่าง Seth Godin เคยกล่าวไว้บนเวที TED ว่า นักการตลาดต้องตามหากลุ่ม Geek หรือคนที่หลงใหลคลั่งไคล้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วสื่อสารกับพวกเขา ถ้ามัน engage กับพวกเขาได้ ก็เท่ากับเข้าถึงกลุ่ม Early adopter ได้ มันจะถูกบอกต่ออย่างกระตือรือร้นโดยที่แบรนด์ไม่ต้องหว่านเงินเพื่อจับตลาดแมสตั้งแต่แรก

สำหรับกลุ่มเกย์ นี่คือผู้บริโภคที่นักการตลาดพยายามเข้าถึงมาโดยตลอด เพราะเป็นกลุ่มที่มี Double income สามารถใช้จ่ายกับตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีครอบครัว และหนังวายก็เป็นคอนเทนต์อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา

2. คอนเทนต์วายไม่ได้มีแค่ผู้ชายรักกัน

หนังวายมีที่มาจากคำว่า “Yaoi” ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเรื่องรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย (Boy’s love) มีตั้งแต่ระดับกุ๊กกิ๊ก จับมือใสๆ อบอุ่น ไปจนถึงระดับสมจริง แต่มันไม่ใช่แค่นั้น

สำหรับคนที่ไม่เคยรับชมหนังวาย ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ณ เวลานี้ หนังวายเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ในอีกรูปแบบหนึ่ง มีการดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้ผู้ชมร่วมลุ้นไปกับตัวละคร เช่นเดียวกันกับหนังทั่วๆ ไป

ยกตัวอย่างเช่น SOTUS The series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง เนื้อหาถูกแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างอบอุ่นระหว่างผู้ชาย 2 คน และระบบโซตัสที่เป็นประเด็นทางสังคมทุกๆ ปีเมื่อมีข่าวการรับน้อง

ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ Diary Tootsies เป็นตัวอย่างของซีรี่ส์ LGBT ที่ตอบโจทย์กลุ่มแมสอย่างแท้จริง เน้นความบันเทิงเป็นหลัก แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจที่ให้แง่คิดกับผู้ชม ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและการใช้ชีวิต

หรือ GAY OK BANGKOK หนังเกย์ที่มีดีกรีความเข้มข้นมากที่สุดใน LINE TV ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องชายรักชาย น้ำหนักในการเล่าเรื่องถูกเกลี่ยไปที่ความซับซ้อนของการใช้ชีวิตในสังคมเมือง ตอบโจทย์กลุ่มคอหนังตัวจริงที่รับชม เพื่อซึมซับศิลปะในการเล่าเรื่อง โดยมีประเด็นเรื่องเกย์มาเป็นตัวขับเคลื่อนให้ดราม่าสนุกขึ้น

สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับซีรี่ส์ GAY OK BANGKOK ก็คือ มีการสอดแทรกประเด็นเรื่อง HIV เข้าไปในบทได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัย

จะเห็นว่าคอนเทนต์วายหรือหนังเกย์ในชั่วโมงนี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยตัวคอนเทนต์เองที่มีแง่มุมหลากหลายจนกลายเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ในอีกรูปแบบหนึ่ง มันจึงเข้าถึงคนได้ในวงกว้างมากขึ้น

3. คอนเทนต์วายถูกหยิบมานำเสนอบนสื่อที่หลากหลายมากขึ้น

กูรูสายคอนเทนต์มักจะมีคำพูดว่า “Content is like water” คอนเทนต์ก็เหมือนน้ำ มันเปลี่ยนรูปร่างได้ตามภาชนะที่ใส่ ซึ่งในที่นี้ก็คือ “สื่อ” และเมื่อสื่อเปลี่ยนไป กลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

หนังวายหลายๆ เรื่องถูกพัฒนามาจากนิยายที่ได้รับความนิยมในเว็บบอร์ดเฉพาะกลุ่ม แต่ถูกเปิดอ่านหลายล้านครั้ง เจ้าของบทประพันธ์มักจะเป็นผู้หญิง คาแร็กเตอร์ของตัวละครและพลอตเรื่องถูกออกแบบมาเพื่อเติมเต็มจินตนาการของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น หล่อ ตัวสูง ขายาว เรียนเก่ง บ้านรวย ฯลฯ แฟนตาซีเหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นยังไงยังงั้น

เมื่อได้รับความนิยมจนถึงจุดหนึ่ง สำนักพิมพ์ก็จะมองเห็นโอกาสทางการตลาด จึงจับมารวมเล่มเพื่อขายในร้านหนังสือทั่วไป ทำให้ฐานแฟนเริ่มกว้างขึ้นไปอีก และเมื่อได้แรงสนับสนุนจากแฟนคลับมากขึ้น มันจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นซีรี่ส์

นี่คือสเต็ปในการเติบโตของซีรี่ส์ชื่อดังทั้ง 3 เรื่องใน LINE TV ได้แก่ SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง, Make It Right รักออกเดิน และ 2 Moons The Series เดือนเกี้ยวเดือน เดอะซีรี่ส์

การเล่าเรื่องข้ามสื่อ ส่งผลให้ซีรี่ส์เหล่านี้มีฐานแฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีเฉพาะสาววาย เมื่อก้าวเข้ามาสู่หน้าจอ LINE TV คอนเทนต์ก็เข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ได้ไม่ยาก

ถึงแม้ว่าเกย์รุ่นใหญ่ไฟกะพริบอาจจะไม่ถูกดึงดูดด้วยพลอตเรื่องสไตล์แฟนตาซีเด็กมหาลัย แต่จุดร่วมที่ทำให้ทั้งเกย์รุ่นใหญ่ สาววาย สาวประเภทสอง และสาวทั่วไป มาอยู่บนหน้าจอเดียวกันได้ก็คือ นักแสดงซีรี่ส์วายมักจะหน้าตาดีเกินค่าเฉลี่ยชายไทยไปหลายช่วงตัว ขาวใสทะลุจอ ความหล่อทะลุใจ ตามคาแร็กเตอร์ในนิยายต้นฉบับ

ไม่ใช่แค่ในซีรี่ส์เท่านั้น มิวสิกวิดีโอจำนวนหนึ่งก็ใช้ตัวละครชายรักชายเป็นตัวเดินเรื่อง เพื่อสร้างพลอตที่เข้มข้นเหนือความคาดหมายของคนดู ยกตัวอย่างเช่น เพลง “รอเธอเสียใจ” ของ Lipta และเพลง “ยังไงก็ไม่ยัก” ของเก่ง ธชย โดยภาพที่ออกมาก็จะไม่ใช่เกย์ แต่เป็นผู้ชายแมนๆ ที่ชอบผู้ชายอีกคน ตามขนบของหนังวายที่เริ่มมีฐานผู้ชมกว้างขึ้นทุกขณะ

4. ไทยคือผู้ส่งออก “คู่จิ้น” ระดับเอเชีย

รู้หรือไม่? นักแสดงซีรี่ส์วายจากประเทศไทยมีแฟนคลับในต่างแดนมากพอๆ กับแฟนคลับในไทย ถ้าลองเข้าไปดูในแฮชแท็ก#2moonstheseries หรือ #SotusTheSeriesใน Twitter ก็จะเห็นว่ามีความนานาชาติสูงมาก ทั้งไทย อังกฤษ จีน รวมทั้งญี่ปุ่น ประเทศต้นตำรับของสาววาย

เป็นที่รู้กันดีในหมู่แฟนคลับว่า นักแสดงเหล่านี้ไปออกอีเวนต์และพบปะแฟนคลับในเอเชียค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในเวียดนามและจีน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับแบรนด์ที่อยากเป็นที่รู้จักในประเทศแถบนี้

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแฟนคลับในจีนก็คือ พวกเธอเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมตัวกันเหนียวแน่นเพื่อสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการจัดงานพบปะแฟนคลับกึ่งคอนเสิร์ตของนักแสดงนำเรื่อง SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ที่หางโจว ประเทศจีน และบัตรขายหมดภายใน 5 นาที นี่คือสิ่งที่ยืนยันความฮอตของคู่จิ้นส่งออกจากไทยได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้คือพฤติกรรมและรูปแบบการเปิดรับคอนเทนต์ที่จะส่งผลต่อการวางแผนสื่อของแบรนด์ต่างๆ นักการตลาดควรเริ่มต้นจากการปรับ Mindset ที่มีต่อหนังวาย โดยต้องมองว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป