“N-Gage” ขาที่สามของโนเกีย

“นับจากนี้จะไม่มีมือถือรุ่นไหนเรียกว่า N-Gage อีกต่อไป แต่ N-Gage จะกลายเป็น Mobile Gaming Platform ซึ่งเป็นการบริการดาวน์โหลดเกมผ่านเครือข่าย Ovi ของโนเกียแทน โดยมีมือถือในตระกูลเอ็นซีรี่ส์ 9 รุ่นรองรับบริการนี้” วิภู ซาวาบาล ผู้จัดทั่วไป บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด บอกถึงการเปลี่ยนแปลงของ N-Gage

โนเกียได้ให้เหตุผลของจุดเปลี่ยนครั้งนี้ว่า “ต้องการให้ความสนุกในการเล่นเกมบนมือถือ ไม่ถูกจำกัดเพียงมือถือรุ่น N-Gage แต่ต้องการให้เข้าถึงผู้บริโภคของโนเกียมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 46 ล้านเครื่องทั่วโลก และ15-20% เป็นกลุ่มที่สามารถรองรับบริการนี้ได้ทันที”

ประกอบกับผลวิจัยของ IDC เกี่ยวกับตลาด Mobile Gaming Online พบว่า ปัจจุบันมีอัตราการเติบโต 35% และคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีจะมีอัตราการเติบโตโดยรวมสูงถึง 20% และพฤติกรรมของผู้ใช้มือถือ 50% นิยมเล่นเกมบนมือถือ

บริการ N-Gage จะถูกรวมอยู่ภายใต้การบริการโอวี่ ที่ปัจจุบันให้บริการทั้ง Navigation และ Music แม้โนเกียไม่ได้เปิดเผยว่าธุรกิจด้านการบริการทำรายได้เป็นสัดส่วนเท่าใด เพียงแต่บอกว่าการบริการภายใต้อินเทอร์เซอร์วิสของโนเกียจะมีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี

เพื่อให้รูปแบบของเกมตอบสนองผู้ใช้ในระดับไฮเอนด์ โนเกียเลือก Gamloft เป็น Partner ทำให้โนเกียต้องเสียเวลาและประหยัดงบประมาณกับการพัฒนาเกมขึ้นใหม่เอง จึงทำให้มีเกมรอพร้อมดาวน์โหลดนับ 30 เกม

นอกจากจะมีเกมใหม่ๆ แล้ว โนเกียยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารออนไลน์ผ่านบริการ N-Gage ด้วย ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกซื้อเกมผ่านจอมือมือ และ Chat กับเพื่อนที่ออนไลน์อยู่ทั่วโลก เปรียบได้กับเป็นชุมชนเกมบนมือถือ นับว่าเป็นจุดขายที่แตกต่างจากเครื่องเล่นเกม PSP (PlayStation Portable) ซึ่งเป็นเครื่องเกมพกพาของโซนี่

“เกมที่ให้บริการดาวน์โหลดเป็น Casual Game ที่สามารถเล่นได้ง่ายๆ และไม่ซับซ้อน User เล่นเพื่อฆ่าเวลา หรือคลายเครียด จึงต่างจากเกมออนไลน์หรือเครื่องเกมพกพาทั่วไปที่นิยมเล่นกันอย่างจริงจัง” วิภู บอกถึง Positioning ของการบริการครั้งนี้

ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการขายเกมครั้งนี้ ถือว่าโปรโมชั่นโดนใจคนไทย เพราะสามารถโหลดไปเล่นก่อนฟรีๆ แล้วค่อยซื้อที่หลัง มาพร้อมกับการขายแบบแพ็กเกจที่สามารถเลือกซื้อได้แบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือถาวร ซึ่งราคาก็แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 45-279 บาท

นอกจากเพลงและแผนที่แล้ว เกมก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ธุรกิจบริการที่โนเกียคาดหวังไว้ เพราะตลาดรวมของอินเทอร์เน็ตเซอร์วิสภายในสองปี จะมีอัตราการเติบโตมีมูลค่าสูง 100 ล้านยูโร และเกมก็เป็นหนึ่งบริการที่มีสัดส่วนมากกว่า 10%

โจทย์ใหญ่ของโนเกียนับจากนี้ต้องพัฒนาทั้งเรื่องของฟังก์ชันและไซส์ของเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความจำ ความละเอียดของภาพ และเสียง ให้รองรับกับบริการที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานภายใต้เครือข่ายโอวี่

คนไทยเล่นเกมบนมือถือมากที่สุดในเอเชีย
ออสเตรียเลีย 9%
อินโดนีเซีย 10%
มาเลเซีย 22%
ฟิลิปปินส์ 25%
ไทย 29%
สิงคโปร์ 4%
ที่มา : เกมลอฟท์

Did you know?

เกมงู คือจุดเริ่มต้นของเกมบนมือถือรุ่นแรกของโนเกีย ที่เปิดตัวในปี 2540 รุ่น 5110