Google อ่วม! อียูสั่งปรับ 9 หมื่นล้าน ฐานผูกขาดผลเสิร์ช

นับจากนี้ กูเกิล (Google) เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิน จะมีเวลาอีก 90 วัน เพื่อปรับปรุงระบบ หลังจากสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union) ตัดสินว่ากูเกิลมีความผิดต้องชดใช้เงินมากกว่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท ฐานผูกขาดผลเสิร์ชจนเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

มาร์เกร็ต เวสแทเกอร์ (Margrethe Vestager) ประธานฝ่ายการค้ายุติธรรมของอียู ได้ออกคำสั่งดังกล่าว หลังจากทำการสอบสวนกูเกิลมานานกว่า 7 ปี โดยเรียกร้องให้บริษัทลงมือปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการเสียใหม่ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะประเด็นการให้บริการเปรียบเทียบดีลซื้อสินค้าออนไลน์

เธอ มองว่ากูเกิลขัดขวางการค้ายุติธรรมในยุโรป ด้วยการจัดอันดับผลการเสิร์ชบริการเปรียบเทียบดีลซื้อสินค้าออนไลน์ของตัวเองให้โดดเด่นกว่าบริการ comparison shopping services รายอื่น ทำให้บริการเปรียบเทียบรายอื่นยากที่จะแข่งขันด้วย ผิดกฏหมายเรื่องผูกขาดการค้าในยุโรป เนื่องจากกูเกิลใช้ความสามารถในการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาข้อมูล สร้างข้อได้เปรียบอย่างผิดกฎหมายต่อการให้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อีกอย่างหนึ่งของกูเกิล

การกระทำของกูเกิลยัง “ปิดทาง” ไม่ให้ผู้บริโภคยุโรปมีทางเลือกใช้บริการอื่นซึ่งอาจมีนวัตกรรมที่ดีกว่า

กูเกิล ได้ออกปฏิเสธเสียงแข็ง และบอกปัดทุกข้อกล่าวหาจากอียู โดยในแถลงการณ์ล่าสุด กูเกิลระบุว่าบริษัทจะยังคงแสดงผลเสิร์ชที่จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าที่ต้องการได้เร็วและง่ายขึ้นต่อไป

โดยระบุว่า เหตุผลที่ทำให้กูเกิลแสดงโฆษณาสินค้าบนหน้าผลการเสิร์ช (shopping ads) เพื่อต้องการเชื่อมโยงผู้ใช้เข้ากับนักโฆษณาหลายพันรายทั้งใหญ่และเล็ก ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

เคนท์ วอลเกอร์ (Kent Walker) ตัวแทนฝ่ายกูเกิลระบุบนบล็อกว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ประกาศในวันนี้ โดยจะทบทวนการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการในรายละเอียดเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไป

คำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษขั้นหนัก หลังจากที่มีการยกเลิกการไต่สวนกูเกิลโทษฐานผูกขาดธุรกิจค้นหาโดยไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังในปี 2013 นอกจากนี้ คำสั่งปรับนี้ยังถูกมองว่าเป็นการเริ่มต้นลงดาบตรวจสอบกูเกิลเพียงส่วนเดียว เพราะ Vestager เคยตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และแนวทางปฏิบัติด้านการโฆษณาออนไลน์ของกูเกิลนั้นเข้าข่ายทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน

อียูเคยตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ก็มีปัญหาผูกขาดตลาดที่ยังไม่ได้แก้ไขเช่นกัน

สำหรับผู้ที่ออกโรงร้องเรียนกูเกิลในอียูนั้น ถูกมองว่าบางส่วนก็เป็นคู่แข่งของกูเกิลในสหรัฐฯ เช่น Yelp, News Corp. และ Oracle ซึ่งได้เขียนรายงานอีกครั้งในวันอังคารเพื่อตีแผ่วิธีการที่กูเกิลพยายาม “ทำลายการแข่งขัน” ของธุรกิจทั่วโลก

ขณะที่ค่าปรับ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้นคิดเป็นเงินจำนวน 2.42 พันล้านยูโร จุดนี้วงเงินค่าปรับดังกล่าวถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในคดีต่อต้านการแข่งขัน เพราะสูงกว่าที่อียูเคยสั่งปรับบริษัทอินเทล 1.06 พันล้านยูโรในปี 2009

หากพ้นเวลา 90 วันที่กูเกิลจะมีโอกาสยุติพฤติกรรมดังกล่าว กูเกิลอาจจะถูกปรับเพิ่มอีก 5% ของรายได้เฉลี่ยต่อวันทั่วโลกของบริษัทอัลฟาเบ็ต (บริษัทแม่ของกูเกิล) ในกรณีที่อียูไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ถือเป็นสัดส่วนค่าปรับที่โหดเอาเรื่องตามสไตล์อียู


ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065614