ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องพบเจอกับพฤติกรรมผู้ซื้อสินค้าออนไลน์หลากหลาย บางคนก็เอาใจยาก ในขณะที่บางรายก็ซื้อง่าย มาจากผู้บริโภคชาวไทยนั้นมีความเชื่อ, พื้นเพ, วัฒนธรรม และการได้รับการเลี้ยงดู ที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้พฤติกรรมของพวกเขาในโลกออนไลน์นั้นแตกต่างกันด้วย
บริษัท iPrice ซึ่งเป็นเว็บค้นหาสินค้าออนไลน์จึงได้ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย และจัดกลุ่มพวกเขาตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าออนไลน์
1. อีคอมเมิร์ซตอบโจทย์กลุ่มคนรักสบาย
ร้านค้าอีคอมเมิร์ซได้เข้ามาตอบโจทย์คนไทยที่รักความสบายได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากความสะดวก กดสั่งซื้อสินค้าเพียงนิ้วคลิก ก็ได้สินค้ามาส่งถึงหน้าบ้านกันแล้ว โดยกลุ่มคนรักสบายมีสูงถึง 62.5% เลยทีเดียว โดยรองลงมาคือกลุ่มนักล่าดีลที่มองหาสินค้าราคาถูกในโลกออนไลน์ และเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อทุกครั้ง
2. ค้นหาข้อมูลได้ง่ายดายเพราะกูเกิลคือพ่อทุกสถาบัน
ถ้าหากจัดกลุ่มโดยการค้นหาสินค้าแล้วนั้น กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่ม กูเกิลพ่อทุกสถาบัน ที่ใช้ Search Engine ในการค้นหาด้วยตัวเอง กล่าวคือผู้บริโภคใช้ Google, Yahoo, Bing ในการหาข้อมูลด้วยตนเอง พวกเขาต้องการรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งและนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ผ่านกระบวนการความคิดและตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกใช้ Search Engine สูงถึง 77% อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจก็คือกลุ่มติ่งเน็ตไอดอล ซึ่งเป็นพวกเชื่อคำโฆษณาของเน็ตไอดอลต่างๆ และนำมาตัดสินใจในการซื้อสินค้า โดยกลุ่มนี้มีขนาด 21%
3. นิยมจ่ายเงินผ่านธนาคาร
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของ Fintech ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากพูดถึงการชำระค่าสินค้าออนไลน์ หลายๆ คนคงจะต้องนึกถึงการโอนเงินผ่านธนาคารเป็นอย่างแรก ซึ่งกว่า 50% ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ชาวไทยเลือกว่าพวกเขาใช้บริการธนาคารเป็นประจำ สาเหตุอันเนื่องมาจากผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมและความเชื่อแบบดั้งเดิม คือการโอนเงินผ่านธนาคารนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการชำระค่าสินค้าด้วยระบบอื่นๆ จึงทำให้การชำระค่าสินค้าผ่านทางธนาคารนั้นได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง
ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ขายสินค้าออนไลน์ คำถามที่คุณจะถูกถามบ่อยที่สุดก็คือ “คุณมีธนาคาร XXX ไหม ผมจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าโอนต่างธนาคาร”
4. มนุษย์ลงทะเบียน ร้องสินค้าต้องมี Tracking เท่านั้น
การจัดสั่งสินค้าให้ลูกค้า คุณคงจะถูกถามบ่อยๆ ว่าสินค้าลงทะเบียนหรือไม่ ซึ่งผู้บริโภคกว่า 51% ต้องการให้สินค้าของพวกเขาลงทะเบียน เนื่องจากสินค้าลงทะเบียนนั้นมีราคาประหยัด และที่สำคัญคือมี Tracking Code สำหรับการติดตามสินค้าเพื่อจะได้ทราบวันที่สินค้าจะจัดส่งอย่างแน่นอน นอกจากนี้มันยังช่วยคลายกังวลว่าสินค้าจะสูญหายหรือไม่ ให้กับคนกลุ่มนี้มากกว่านั้นลูกค้าตัวป่วนมักต้องการให้ร้านค้าจ่ายค่าจัดส่งให้อีกด้วย
5. ชาวเน็ตนิยมบอกเล่าหลังได้รับสินค้า
เมื่อได้รับสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนไทยซึ่งมีนิสัยแบบชาวเน็ต กว่า 34% เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสินค้าที่ได้ซื้อมาในโซเชียลมีเดียของตนเอง ผ่านการรีวิว, ภาพถ่าย หรือแม้กระทั่งเขียนแคปชั่นเก๋ๆ เพื่อโชว์สินค้าให้แก่คนอื่นๆ ได้รับรู้ โดยมีเพียง 17% ของคนไทยที่ซื้อสินค้ามาแล้วจะอ่านคู่มือการใช้และหาวิธีการใช้ให้แน่นอน
6. คนไทยเป็นคนตรง ชอบรีวิวแบบตรงไปตรงมา
คนไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ชอบการวิจารณ์แบบอ้อมค้อม เนื่องจากกลัวการปะทะกันต่อหน้า ที่สำคัญคนไทยขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเดินทางสายกลาง นิยมให้คะแนนแบบกลางๆ เพราะกลัวบาปกรรม แต่พฤติกรรมเหล่านี้คงไม่ใช่สำหรับคนไทยในโลกออนไลน์ ถ้าหากพูดถึงการเขียนรีวิวของคนไทยต่อสินค้าและบริการแล้วนั้น คนไทยกลับเป็นคนตรงไปตรงมา ถ้าหากพวกเขาชอบสินค้าและบริการก็จะให้คะแนนเต็ม แต่ถ้าหากสินค้าและบริการไม่ได้ดั่งใจก็ให้คะแนนที่น้อย โดยคนตรงๆ แบบนี้มีมากกว่า 50% เลยทีเดียว โดยรองลงมาคือพวกเดินทางสายกลางซึ่งมีปริมาณ 22% และพวกโลกสวยที่ให้คะแนนรีวิวเต็มอยู่เสมอมีอยู่จำนวน 11%
ทั้ง 6 ข้อนี้คือการศึกษาที่น่าสนใจที่เราได้พบจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ เราชื่อว่าร้านขายสินค้าออนไลน์ทั้งเล็กและใหญ่ในประเทศไทยจะต้องเจอเรื่องปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน เพื่อขายสินค้าและให้บริการที่ดีที่สุดต่อลูกค้าเหล่านี้ เพราะความสุขของลูกค้าก็คือความสุขของเรานั่นเอง ดังนั้นร้านขายสินค้าออนไลน์ควรนำการศึกษาครั้งนี้ไปปรับใช้เพื่อรับมือต่อลูกค้าให้ดีขึ้นนั่นเอง