จุดจบ MVNO

ทันทีที่ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำกัด ขอสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ในการให้บริการขายต่อบริการและบริการขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนแบบ Non Facilities Based MVNO – Medium MVNO ด้วยเหตุผลขาดทุน ทำให้ ไอ-โมบาย เลิกเป็น MVNO ทั้งจากของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขณะที่ฝ่ายบริหารของไอ-โมบาย เอง ต่างก็แยกย้ายไปตามทางของตนเอง ทำให้เกิดคำถามว่า การเป็น MVNO นั้น เป็นโมเดลที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่ไม่มีคลื่นเป็นของตนเองจริงหรือ

เลิก MVNO เพราะเจ๊ง

ไอ-โมบาย ได้แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอสิ้นสุดการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง พร้อมส่งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการภายหลังจากสิ้นสุดการอนุญาตให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา เมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ไอ-โมบาย อ้างเหตุผลในการขอสิ้นสุดการอนุญาตของบริษัทว่า ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาที่เป็นเจ้าของโครงข่ายไม่ได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการตามแผนธุรกิจ และไม่มีการพัฒนาแผนธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงเกิดปัญหาระบบสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องบ่อยครั้งและมีการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้ ไอ-โมบาย ขาดทุนและไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้

รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที

ขณะที่ ทีโอที ชี้แจงเหตุผลของการยุติการให้บริการและยกเลิกบันทึกความเข้าใจโครงการทดลองการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G กับ ไอ-โมบาย ว่า เป็นเพราะไอ-โมบาย มีหนี้ค้างชำระและผิดนัดชำระค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ กสทช. ต้องติดตามและตรวจสอบสาเหตุของการยุติการให้บริการของ ไอ-โมบาย ให้มีความชัดเจนด้วย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาลักษณะดังกล่าว เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่อไป

ทีโอทีแจงเทคนิคอยู่รอดต้องไม่แข่งราคา

รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที กล่าวว่า การจากไปของ ไอ-โมบาย ทำให้ปัจุจบันทีโอทีมี MVNO เหลืออยู่ 2 ราย คือ mobile 8 กับ ล็อกซเล่ย์ สำหรับลูกค้า ไอ-โมบายนั้น ทีโอทียินดีให้บริการต่อ ซึ่งขณะนี้ ก็ทยอยส่งมาเรื่อยๆ เพราะเหลือลูกค้าอีกไม่มากประมาณไม่เกิน 10,000 ราย ซึ่ง MVNO รายเดิมทราบเรื่องโครงข่าย 3Gทีโอที ที่มีอยู่เดิมกว่า 5,000 สถานีฐาน ดีอยู่แล้ว การที่ MVNO จะรอดหรือไม่รอดนั้น ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละราย ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรก อาจมีความได้เปรียบเพราะ TOT 3G ยังสูสีกับรายอื่น

แต่หลังจากปี 2558 และ 2559 ค่ายมือถือรายอื่นขยายโครงข่าย 3G/4G ไปไกลกว่าทีโอทีมาก และให้บริการในแพ็กเกจราคาถูกและจูงใจ MVNO คงทำตลาดสู้ด้วยราคาลำบาก ดังนั้นควรต้องวางกลยุทธ์ที่ดี แต่ ไอ-โมบาย ทำตลาดด้วยการขายเครื่องพ่วงซิมเป็นหลักในลักษณะการซับซิไดซ์ ประกอบกับในระยะหลังเครื่องโทรศัพท์มือถือแบรนด์ต่างๆ ลดราคาอย่างมากพร้อมทั้งคุณสมบัติที่ดีขึ้น ในขณะที่เครื่องไอ-โมบายเองอาจสูญเสียความได้เปรียบด้านราคา จนอาจสู้พวกมีแบรนด์ไม่ได้

‘อย่างไรก็ตาม ทีโอที เอง ก็ยังคงเปิดรับ MVNO สำหรับคลื่น 2300 MHz ซึ่งคาดว่าเครือข่ายน่าจะเริ่มทำตลาดได้ประมาณปีหน้า’

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม

CAT หวัง MVNO เป็นธุรกิจหลัก

ขณะที่ กสท โทรคมนาคม เห็นความสำคัญในการสร้างรายได้จาก MVNO เพราะต้องสร้างธุรกิจใหม่ให้มีกำไร พร้อมกับหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้บริษัทสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดย พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม ต้องการให้ระยะยาวบริษัทต้องไม่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) แข่งกับใคร แต่บริษัทจะเป็นผู้สร้างให้เกิด MVNO รายใหม่ๆ แม้ว่าบริษัทจะไม่ใช่ผู้ชนะการประมูลที่ต้องทำตามเงื่อนไขในการสนับสนุนให้เกิด MVNO และก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามเงื่อนไข กสทช. แต่การสร้าง MVNO นั้นตนเองเชื่อว่าจะช่วยทำตลาดเฉพาะกลุ่มได้มากกว่า

ปัจจุบัน กสท โทรคมนาคม มี MVNO อยู่ 4 ราย คือ 1.บริษัท เรียลมูฟ จำกัด 2.บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด 3.บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ 4. บริษัท เดอะไวท์สเปซ จำกัด

ชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดอะไวท์สเปซ เจ้าของซิม แพนกวิน

ส่องโมเดลอยู่รอดของ เดอะไวท์สเปซ

ชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดอะไวท์สเปซ เจ้าของซิม แพนกวิน กล่าวยอมรับว่า การทำตลาดของ MVNO เหนื่อยจริง แต่ที่บริษัทอยู่ได้ เพราะบริษัททำธุรกิจเดียว จริงจัง และโฟกัสกลุ่มลูกค้าชัดเจน ไม่ลงเล่นตลาดกลุ่มแมส ขณะที่การสร้างแพ็กเกจก็ต้องสอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่โฟกัสด้วย เช่น ที่ผ่านมาจับกลุ่มคนสูงวัย และวัยรุ่น ซึ่งได้สำรวจแล้วพบว่า ผู้สูงวัยในตอนนี้เริ่มใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารกับลูกหลาน และค้นหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีความกังวลว่า เน็ตที่ใช้จะรั่ว ทำให้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนเกินจำนวนมาก

ส่วนกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่ชอบใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย จะมีความช่างเลือก ชอบความหลากหลาย มีมาตรฐานสูง และรู้ว่ามีทางเลือกอีกมากจากข้อมูลบนโลกออนไลน์ จึงมักจะพิจารณา เปรียบเทียบราคา และคุณภาพ จนกว่าจะเจอตัวเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น บริษัทจึงได้ออกแพ็กเกจสำหรับลูกค้า 2 กลุ่มดังกล่าว และยังได้สำรวจพบอีกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ 75% เป็นลูกค้าต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ 85% ใช้งานด้านข้อมูล

ล่าสุด ได้จับมือกับ ซิงเกอร์ประเทศไทย ออก ‘ซิมซิงเกอร์’ โดยอาศัยจุดแข็งของซิงเกอร์ ที่มีเครือข่ายพนักงานขายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 14,000 คน ซึ่งแต่ละรายเป็นการขายตรงถึงบ้าน และซิงเกอร์เองก็มีการขายโทรศัพท์มือถือด้วย โดยลูกค้าจะได้รับแพ็กเกจโทร.ฟรี 200 นาทีทุกเครือข่าย พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด จำนวน 2.5 GB จากนั้น สามารถเล่นต่อได้ที่ความเร็ว 384 Kbps ตลอดระยะเวลาโปรโมชัน 30 วัน

นอกจากนี้ หากต้องการเติมเงินโทรศัพท์ภายหลังจากจำนวนการโทร.ฟรีหมด โดยสามารถเลือกได้จากหลากหลายช่องทาง เพียงเติมเงินผ่านตู้เติมเงินซิงเกอร์ ตู้เติมเงินอื่นทั่วไป ร้านเจมาร์ท,ร้านสะดวกซื้อ,7-Eleven, แฟมิลี่มาร์ท รวมถึงเติมเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ เช่น AirPay, WePay, PayforU และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีทีมคอลเซ็นเตอร์คอยให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจรอีกด้วย คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มจากแคมเปญนี้ 10,000 เลขหมาย จากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ในปี 2559 ที่ 2.5 แสนเลขหมาย

ซิงเกอร์ประเทศไทย ออก ‘ซิมซิงเกอร์’

ชัยยศ กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจแบบ MVNO ของ บริษัทราบรื่น ส่วนหนึ่งก็ยังมาจากเจ้าของเครือข่าย อย่าง กสท โทรคมนาคม ด้วย ว่าให้ความสำคัญกับ MVNO อย่างไร โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า กสท โทรคมนาคม ทำงานรวดเร็ว และพร้อมจะข้ามขั้นตอนบางประการเพื่อให้การทำงานร่วมกันรวดเร็วขึ้น และนับว่า บริษัท เป็น MVNO รายเดียวที่มีเลขหมายจำนวนมากที่สุด ซึ่ง กสทช. อนุมัติเลขหมายให้แล้ว 1.2 ล้านเลขหมาย ส่วนในอนาคตบริษัทจะเป็น MVNO กับ คลื่น 2300 MHz กับ ทีโอที หรือไม่นั้น ชัยยศ ตอบสั้นๆ ว่า ‘เรายินดีเปิดรับทุกค่าย’

ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าจะยังมีใครกล้า โดด ลงมาร่วมวง เป็น MVNO อีกหรือไม่ !!


ที่มา : https://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000066935