โอมิเซะ (Omise) ยูนิคอร์นหนุ่มออกวิ่ง กับดีลซื้อ 2 กิจการจากเพย์สบาย

อิศราดร หะริณสุต (ซ้าย) และ จุน ฮาเซกาวา (ขวา) ผู้ร่วมก่อตั้ง Omise

นับเป็นอีก “ดีล” ของการซื้อกิจการในแวดวงสตาร์ทอัพ “ฟินเทค” ที่น่าสนใจ จากการที่บริษัท โอมิเซะ (Omise) ผู้บริการเทคโนโลยีด้านการเงินสัญชาติไทย ที่ได้เทเงินเข้าซื้อส่วนบริการส่วนเพย์เมนต์เกตเวย์ (Payment Gateway) หรือช่องทางทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนของกระเป๋าเงินออนไลน์
(E-wallet) ของเพย์สบาย (Paysbuy) โดยที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเพย์สบาย ยังอยู่ภายใต้การดูแลของดีแทค (DTAC) เช่นเดิม

การซื้อกิจการ 2 ส่วนจาก Paysbuy ของ Omise ยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย ดีลนี้เกิดขึ้นหลังจาก โอมิเซะ สามารถระดมเงินทุนจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ รอบล่าสุดได้สำเร็จ ในช่วงก่อนหน้านี้ (ระดมทุนเป็นเงินดิจิตอล)

บริษัท Paysbuy นั้น จัดเป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินออนไลน์อันดับต้นของเมืองไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ข้อมูลจากงบประมาณปี 2559 บริษัท PaySbuy มีรายได้รวม 2,224.1 ล้านบาท ทำกำไร 433.9 ล้านบาท สินทรัพย์รวมมูลค่า 5,240.1 ล้านบาท

ในขณะ Omise เป็นบริษัทเกิดใหม่ มีรายได้รวม 35.7 ล้านบาท ยังมีภาวะขาดทุน 67.4 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์รวม 296.7 ล้านบาท

ดีลนี้ยิ่งสร้างความน่าสนใจมากขึ้น เพราะโอมิเซะนั้นเป็นบริษัทเพิ่งเกิดใหม่เมื่อปี 2556 รายได้น้อยกว่า แถมยังอยู่ในภาวะขาดทุน แต่หลังจากระดมทุนมาได้ ก็สามารถซื้อธุรกิจบางส่วนจากบริษัทลูกของยักษ์ใหญ่วงการโทรคมนาคม ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนเห็นถึงโอกาสเติบโตของดาวรุ่งฟินเทคอย่าง Omise 

โอมิเซะ ก่อตั้งโดย ดอน-อิศราดร หะริณสุต และจุน ฮาเซกาวา Startup สาย Fintech ทำธุรกิจให้บริการ Payment Gateway ที่เปิดให้จ่ายเงินทางออนไลน์ โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร เช่น ตั๋วเครื่องบิน บัตรคอนเสิร์ตหรือช้อปปิ้งเว็บอีคอมเมิร์ซต่างๆ ผลงานก่อนหน้านี้ของผู้ก่อตั้งโอมิเซะ คือ ทำระบบ Payment ให้กับ True Corporation, พิซซ่า คอมปานีของกลุ่ม Minor International, สตาร์ทอัพด้วยกัน Ookbee และ Primetime

ช่วงก่อตั้ง โอมิเซะมุ่งไปที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่กำลังโตในไทยในเวลานั้น ก่อนจะพบว่า Payment Gateway ที่ต้องเลือกใช้ในเว็บไซต์ยังไม่ตอบโจทย์ เช่น หน้าจอไม่แสดงผล ไม่รองรับการใช้งานบน
มือถือ เมื่อลูกค้าจ่ายเงินไม่ได้ทันที ก็จะเลิกซื้อไปในที่สุด จึงหันมามุ่งที่ธุรกิจ Payment Gateway เต็มตัวในปี 2557

โอมิเซะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปได้ไกลที่สุดของไทย บางคนเรียกพวกเขาว่า ยูนิคอร์นตัวใหม่ของวงการเลยทีเดียว หลังจากที่สร้างความเชื่อมั่น ขายเรื่องราวของบริษัท จนสามารถระดมทุนระดับซีรี่ส์ B ได้ 17.5 ล้านเหรียญ ทำลายสถิติสูงสุดของ Startup ในไทย

ดอน-อิศราดร ผู้ก่อตั้ง และ CEO โอมิเซะ บอกว่า ถึงโอมิเซะจะไม่ใช่ Payment Gateway รายแรกในไทย แต่มีจุดแข็งที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นคือ การมองเห็นปัญหาและหาวิธีที่ทำให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่ายขึ้น หมดยุคของการจ่ายเงินแบบยุ่งยากซับซ้อน ทุกอย่างต้องเรียลไทม์และไม่สะดุด

ถ้าซื้อออนไลน์ แล้วจ่ายออนไลน์เลย จะมีโอกาสปิดยอดขายได้ง่าย และเร็วขึ้น เขาเชื่อมั่นในเรื่องนี้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตั้งแต่เปิดบริการมา 2 ปี อัตราการเติบโตของโอมิเซะยังไม่เคยตก และมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เข้ามาร่วมเพื่อเตรียมบุกตลาดอีกหลายประเทศ

ในระยะเวลาเพียง 3 ปี โอมิเซะระดมทุนหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ และยังได้ Alibaba เว็บขายสินค้าออนไลน์อันดับหนึ่งจากจีนเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ เป้าหมายหลักของบริษัทคือ การเป็นผู้นำด้าน Payment Service Provider สำหรับเอเชีย โอมิเซะระบุว่า ได้นำเงินจากการระดมทุนไปพัฒนาระบบและเปิดบริการในตลาดอื่นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559 เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยวางเป้าว่าภายใน 18 เดือนต่อจากนี้จะก้าวมาเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจรในอาเซียน

การเข้าซื้อกิจการของเพย์สบายในครั้งนี้ จะทำให้โอมิเซะมีโอกาสขยายธุรกิจได้มากขึ้น จากใบอนุญาติบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาด E-wallet ที่จะเป็นเป้าหมายต่อไป