เมื่อนิยาม Startup ถูกหยิบมาใช้เป็นตัวแทนโมเดลใหม่ของการเริ่มต้นธุรกิจยุคนี้ หลากหลายคนรุ่นใหม่มองหาช่องทาง และพร้อมที่จะเข้ามาทดลองบนโมเดลใหม่อย่างคึกคัก ทำให้เห็นปรากฏการณ์ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุก Startup จะแบกความมุ่งหวัง ไปถึงปลายทางความสำเร็จได้
Startup ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ กำลังได้รับการจัดอันดับจากสมาคมนิสิตเก่า MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย ที่ทำการคัดเลือก Startup ประมาณ 50 บริษัท
เพื่อรับรางวัล JUMC STARExcellence 2017 ปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 5 บริษัท
1. Omise ยูนิคอร์นหนุ่มเขางาม
โอมิเซะ Startup สาย Fintech บริการ Payment Gateway ที่เปิดให้จ่ายเงินทางออนไลน์โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร เช่น ตั๋วเครื่องบิน บัตรคอนเสิร์ต หรือช้อปปิ้งเว็บอีคอมเมิร์ซต่างๆ ผลงานก่อนหน้านี้ของผู้ก่อนตั้งโอมิซะ คือทำระบบ Payment ให้กับ True Corporation, Minor International, Ookbee และ Primetime
โอมิเซะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปได้ไกลที่สุดของไทย บางคนเรียกพวกเขาว่า ยูนิคอร์นตัวใหม่ของวงการเลยทีเดียว หลังจากที่สร้างความเชื่อมั่น ขายเรื่องราวของบริษัท จนสามารถระดมทุนซีรี่ส์ B ได้17.5 ล้านเหรียญ ทำลายสถิติสูงสุดของ Startup ในไทย
โอมิเซะ ก่อตั้งในปี 2013 โดย ดอน-อิศราดร หะริณสุต และ จุน ฮาเซกาวา เริ่มจากการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่กำลังโตในไทยในเวลานั้น ก่อนจะพบว่า Payment Gateway ที่ต้องเลือกใช้ในเว็บยังไม่ตอบโจทย์ เช่น มีข้อผิดพลาดทางเทคนิค หน้าจอไม่แสดงผล และไม่รองรับการใช้งานบนมือถือ เมื่อลูกค้าจ่ายเงินไม่ได้ทันที ก็เลยเลิกไปในที่สุด ในขณะเดียวกันก็นำปัญหาที่ได้จากการทำอีคอมเมิร์ซในเรื่อง Payment Gateway ที่ยังไม่มีใครคิดแก้ปัญหาอย่างจริงจัง มาพัฒนาต่อและเป็นเปลี่ยนมาทำ Payment Gateway เต็มตัวในปี 2014
อิศราดร หะริณสุต ผู้ก่อตั้ง และ CEO โอมิเซะ บอกว่า โอมิเชะมีจุดแข็งที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นคือ ทำให้ผู้บริโภคใช้ได้ง่ายขึ้น หมดยุคของการจ่ายเงินแบบยุ่งยากซับซ้อน ทุกอย่างต้องเรียลไทม์และไม่สะดุด
“ถ้าซื้อออนไลน์ แล้วจ่ายออนไลน์เลย จะมีโอกาสปิดยอดได้ง่าย และเร็วขึ้น” เขาเชื่อมั่นในเรื่องนี้ และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ตั้งแต่เปิดบริการมา 2 ปีอัตราการเติบโตของโอมิเซะยังไม่เคยตก และมีพาร์ตเนอร์รายใหญ่เข้ามาร่วมเพื่อเตรียมบุกตลาดอีกหลายประเทศ
2. Freshket ซัพพลายเชนร้านอาหาร
Freshket เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หยิบเอาซัพพลายเชนในธุรกิจร้านอาหารมาพัฒนาต่อยอด
พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ CEO เฟรซเก็ต บอกว่า เฟรซเก็ตคือแพลตฟร์อมมาร์เก็ตเพลสที่ทำให้ผู้ซื้อ เช่น ภัตตาคาร, ร้านอาหาร กับผู้ผลิตเช่นเกษตรกร สามารถบริหารการสั่งซื้อวัตถุดิบได้สะดวกขึ้น โดยตัดความซับซ้อนรุงรังของระบบเอกสารออกไป
ปัญหาที่ผ่านมาคือร้านอาหารจะสั่งของทั้งทางแฟกซ์อีเมลและไลน์ ซึ่งซัพพลายของร้านอาหารจะยิบย่อยมาก เฟรซเก็ตเป็นตัวเชื่อมต่อระบบการสั่งงานจากหน้าบ้านเข้าหลังบ้าน เมื่อร้านอาหารสั่งของทางซัพพลายเออร์ก็ไม่ต้องมาทำบิลโดยการคีย์ใหม่ทั้งหมด เพราะแพลตฟอร์มจะทำเป็นรายการสินค้าเป็นบิลออกมาเลย เพราะของที่ต้องทำทุกวันจะไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น พงษ์ลดาบอกเล่าถึงสิ่งที่เธอกำลังทำ
กลุ่มเป้าหมายของเฟรซเก็ตคือร้านอาหารที่จับกลุ่มลูกค้าระดับ B ขึ้นไป ตั้งราคาอาหารไว้ประมาณ 300 บาทต่อคน ขณะนี้เน้นร้านอาหารในซอยเอกมัย และทองหล่อเป็นหลัก จากนั้นจะขยายไปยังย่านอื่นๆ สิ้นปีนี้จะมีร้านอาหาร 800 แห่งที่เข้าร่วมกับเฟรซเก็ต
3. Globish Can you speak English ?
ความไม่มั่นใจการการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ คือจุดเริ่มต้นของ Startup รายนี้ อุปนิสัยนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องกับผู้ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ความอายในการพูด ถูกนำมาเป็นจุดแข็งของ Globish
ธกานต์ อานันโทไทย CEO บอกว่า Globish คือการเรียนการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ซึ่งมีความโดดเด่นคือเน้นการสอนแบบตัวต่อตัว Globish จะเรียกผู้สอนต่างชาติว่าโค้ช ผู้เรียนและโค้ชจะเห็นหน้ากันแบบ “เรียลไทม์” ผ่านวิดีโอคอลและสามารถ “ตอบโต้กันได้ทั้งสองทาง”
การเผญิชหน้าผู้เรียนกับผู้สอนภายออนไลน์ อาจทำให้เกิดความเกร็ง ความอายของผู้เรียนลดน้อยลง กล้าที่จะพูดออกมา และสะดวกขึ้นในการเลือกเวลา สถานที่ในการเรียน
Globish มีคนเข้ามาเรียนแล้วประมาณ 400 คน 80% เป็นลูกค้าทั่วไป ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 25-35 ปี และ 20% เป็นลูกค้าองค์กร บางองค์กรจ้าง Globish จัดคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานขายที่ให้บริการในสนามบินต่างๆ
ปัจจุบัน Globish มีโค้ชต่างชาติ ประมาณ 200 คน โดยมีราคาการเรียนอยู่ที่ 120-165 บาทต่อ 25 นาที
ธกานต์ บอกว่า เธอเคยตั้งราคาที่ถูกกว่านี้แต่ก็พบกับความท้าทายว่า “เมื่อธุรกิจการศึกษาตั้งราคาถูกเกินไป ที่สุดกลับทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ”
ธกานต์ คาดหวังว่า จะขยายลูกค้าทั่วไป และลูกค้าองค์กรให้มีสัดส่วนที่ 60:40 และภายใน 3 ปี จะมีผู้เข้าเรียนวันละ 2,000 คลาส และขยายไปเวียดนาม และอินโดนีเซีย
4. Local Alike ทัวร์ไร้มลพิษ
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ชุมชนสามารถกำหนดโปรแกรมการท่องเที่ยวเองได้ กลายเป็นโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ของ สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง และ Operation & Finance ของ Local Alike
สมศักดิ์ บุญคำ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของคนไทย แต่ไม่มีใครบอกได้เลยว่ารายได้ที่ว่านั้น ไปที่โรงแรมเท่าไหร่ แล้วชุมชนเท่าไหร่ ผมอยากทำตัวเลขนี้ให้ชัดขึ้น และถ้าต้องการท่องเที่ยวทำอย่างไรให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจริงๆ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากสถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-I) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอ ทำงานโดยไม่หวังผลกำไรและเก่งเรื่องพัฒนา เราก็เลยเรียนรู้มาจากเขา
การทำงานของ Local Alike คือตัวกลางระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน โดยเข้าไปรับฟังปัญหา และวางแผนพัฒนาแต่ละชุมชนเพื่อสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็งของชุมชนขึ้นมา ที่สำคัญคือชุมชนบริการจัดการตัวเองล้วนๆ ไม่ใช่คนภายนอก เราเชื่อว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนได้
“ความแตกต่างจากบริษัททัวร์อื่น คือการจำกัดนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตชุมชน” เขาเล่าถึงจุดแข็งของ startup ตัวนี้
Local Alike ทำการตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นหลักเช่นสื่อวิดีโอ และเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางการหาลูกค้า และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
ในแง่โอกาสของธุรกิจ จากสถิติที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศ มี 20 % ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน นั่นคือโอกาสของ Local Alike
5. Skootar เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ติดล้อ
รับส่งเอกสาร ส่งผู้โดยสาร ดูจะง่ายไปสำหรับ Skootar ที่มองช่องว่างของผู้ประกอบการ SME ในเรื่องการวางบิล เก็บเช็ค ส่งพัสดุสำคัญ ที่ต้องการผู้ให้บริการที่เข้าใจ และน่าเชื่อถือ ในการทำธุรกรรมการเงินบางประเภท
ธีภพ กิจจะวัฒนะ Co-Founder และ CEO Skootar บอกว่า Skootar คือแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ให้บริการแมสเซ็นเจอร์สำหรับธุรกิจ ในการวางบิล เก็บเช็ค ส่งเงินเข้าธนาคาร หรือส่งพัสดุตามที่ต่างๆ โดยใช้โมเดล crowdsourcing ของแมสเซ็นเจอร์ เช่นเดียวกับ GrabBike, Lalamove โดยผู้ใช้สามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปทั้งแอนดรอยด์ และ iOS
“ความท้าทายในธุรกิจนี้คือการสร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply สองสิ่งนี้ต้องค่อยๆ โตไปด้วยกัน อีกอย่างก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมคน จากที่โทรเรียกแมสเซ็นเจอร์ให้เปลี่ยนมาเป็นใช้แอปพลิเคชั่น คนส่วนมากจะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย“