หลังจากมองหาทีมพัฒนามาหลายปี ในที่สุด ไลน์ ประเทศไทย ก็ปิด “ดีลแรก” ในการซื้อกิจการ DGM59 เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ สตาร์ทอัพไทย เพื่อมาเป็นทีมพัฒนาทีมแรกในครอบครัวไลน์ และเป็นดีลแรกที่ไลน์ ประเทศไทยได้ควักกระเป๋าซื้อกิจการด้วย
การรุกคืบซื้อกิจการของไลน์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะลงทุนตลาดในประเทศไทยมากขึ้น เพราะไทยตลาดที่สำคัญของไลน์ มีผู้ใช้ราว 41 ล้านราย รองจากญี่ปุ่น และยุทธศาสตร์ของไลน์ต้องการปั้นบริการให้มากขึ้นโดยนำบริการเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันผู้บริโภค เพื่อดึงให้ลูกค้าอยู่กับไลน์ได้ตลอด จำเป็นต้องอาศัยนักพัฒนาโลคอลซึ่งเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยได้ลึกซึ้งมากกว่า
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “การมีทีมพัฒนาเป็นของตัวเองทำให้พัฒนาอะไรได้อีกเยอะขึ้น รูปแบบของบริการจะถูกพัฒนาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ โดยบริการที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และต้องหลากหลาย โดยจะไปเสริมกับบริการหลัก ที่เป็นพระเอกของ LINE เช่น LINE MAN, LINE Today และ LINE TV
โดยบริการใหม่ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นบริการใหม่ๆ ที่มาจากทีม DGM59 แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นรูปแบบไหน
สิ่งที่จะเห็นต่อจากนี้ก็คือ ไลน์ ประเทศไทย จะมีการพัฒนาสินค้า และบริการที่รวดเร็วขี้น ยืดหยุ่นขึ้น ไม่ต้องจำเป็นต้องรอจากทีมพัฒนาของญี่ปุ่น หรือเกาหลีอีกต่อไป ซึ่งในอนาคต DGM59 จะช่วยพัฒนาบริการระดับโกลบอลได้ด้วย
LINE ประเทศไทย จะยังไม่ได้ปิดกั้นนักพัฒนาที่จะเข้ามาร่วมทีม เพราะปัจจุบันมีทีมนักพัฒนาอยู่ราว 20 คน และต้องการเพิ่มปริมาณขึ้นอีก 2-3 เท่า ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด โดยการนำฐานลูกค้าที่ใช้งาน LINE กว่า 41 ล้านคนมาเป็นแรงดึงดูด
รู้จัก DGM 59 ที่มีไลน์มาถือหุ้น
ดีลการซื้อกิจการของ LINE ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะมีคนสนับสนุน ไม่ต้องมีการระดมทุนหรือมีรายได้ระดับยูนิคอร์นแต่ก็เกิดในโมเดลการซื้อกิจการมาร่วมทีมของบริษัทใหญ่
DGM59 เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2553 จากการรวมตัวกันของนักศึกษาจบใหม่ มี 4 หัวเรือหลักของทีม ได้แก่ ซินหมิง จ้าว, ภูมิพัฒน์ เตชะพูลผล, วิเชาวน์ แสงหิรัญวัฒนา ทั้ง 3 ผู้ก่อตั้งรู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ณัชพล ไตรวงศ์วรนาถ เพิ่งเข้ามาร่วมงานเมื่อปี 2556 ปัจจุบันในทีมมีสมาชิกรวมกว่า 20 คน และมีการสรรหาเพิ่มมากขึ้น
DGM59 เริ่มต้นจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดด้านดิจิทัลต่างๆ เช่น โมบายล์แอปพลิเคชั่น และ Marketing tools ต่างๆ เคยได้รับการระดมทุนครั้งเดียวเมื่อปี 2558 แต่เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนรายบุคคล แต่ไม่เปิดเผยรายชื่อ
เดิมทีไลน์ ประเทศไทยได้ร่วมงานกับ DGM59 มาก่อนแล้วราว 1 ปี เป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ของไลน์ในการทำ Business Connect ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2558 เป็นบริการให้กับลูกค้าของไลน์ โปรเจกต์นี้มีพาร์ตเนอร์ร่วม 10-15 ราย โดยที่ DGM59 ได้ช่วยพัฒนาโซลูชั่นให้กับลูกค้าของไลน์ที่เป็นแบรนด์ มีบริการบน Official Account และ DGM59 เป็นผู้ชนะการแข่งขันในโครงการ LINE Hackathon เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ทำงานใกล้ชิดกับไลน์มากขึ้น ทางไลน์ ประเทศไทยจึงตัดสินใจซื้อกิจการ เพื่อเป็นทางลัดในการสรรหาทีม