สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กำลังเผชิญกับวิกฤตรายได้ที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่ตระกูล “มาลีนนท์” ต้องฝ่าฟันและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทีวีที่ถาโถมอย่างหนัก
เพราะจุดพลิกของ “ทีวีดิจิทัล” 24 ช่อง นำพาคู่แข่งรายใหม่ๆ เข้ามาชิงเค้กโฆษณาจนเค้กเหลือก้อนเล็กลง จากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป และแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ
ศึกด้านละครก็เช่นกัน “ช่อง 7” ไม่ใช่คู่แข่งทางตรงที่ผลัดกันแพ้ชนะอีกต่อไป แต่ยังมี “ช่องวัน ช่อง 8 ช่องจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ก็ตีโอบเข้ามา และเริ่มสร้างความนิยมในหมู่คนดู ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมืองและคนรุ่นใหม่ๆ ขณะที่ช่อง Work Point ก็มาแรงจัด โดยเฉพาะรายการวาไรตี้ และกำลังขยายฐานไปสู่ละคร
หากย้อนไปปี 2559 มาถึงปีนี้ เรตติ้งละครหลังข่าวของช่อง 3 ไหลรูดมาตลอด มีเพียง “นาคี” ละครเรื่องเดียวที่ทำเรตติ้งพุ่งถึง 10 ส่วนล่าสุด “สายลับจับแอ๊บ” ที่ออนแอร์เมื่อ 21 มิถุนายน จนถึง 26 กรกฎาคม ทำได้แค่ 1.963 จึงต้องรีบอวสานก่อนกำหนด ในวันที่ 3 สิงหาคม ซึ่งมีแค่ 13 ตอน จากปกติ ออนแอร์ 15 ตอนขึ้นไป
สำหรับ “รายการข่าว” ที่เคยเป็นหัวใจของการสร้างรายได้รองจาก “ละคร” หลังจากขาดพิธีกรที่ชื่อ “สรยุทธ สุทัศนจินดา” เรตติ้งก็ทรุดฮวบ คู่แข่งช่องข่าวและช่องวาไรตี้ต่างแจ้งเกิด ทั้งช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคนดูไปได้เร็วขึ้น ส่งผลให้รายได้จากโฆษณารายการข่าวหายไปถึง 80%
3 ช่องทีวีดิจิทัล ที่ประมูลมาได้ แทนที่จะเป็น “โอกาส” กลับกลายเป็น “ต้นทุน” ที่ช่อง 3 ต้องแบกรับ เพราะไม่สามารถหารายได้มาหล่อเลี้ยงได้ทัน
ส่งผลให้รายได้รวมของช่อง 3 ตั้งแต่ปี 2557 ลดลงเรื่อยๆ จาก 16,300 ล้านบาทในปี 2557 ติดลบ 1.89% ปี 2558 รายได้ลดลง 16,000 ล้านบาท ติดลบ 2.22% มาปี 2559 รายได้เหลือ 11,151 ล้านบาท หายไป 3,045.5 ล้านบาท ติดลบ 21.5%
ขณะที่กำไรสุทธิปี 2559 ลดเหลือ 1,767 ล้านบาท เทียบปี 2558 ที่เคยมีกำไรสุทธิถึง 2,982.71 ล้านบาท เท่ากับกำไรหายไป 59.15% ราคาหุ้นก็ลดลงต่อเนื่องจาก 60 บาทเหลือ 16 บาท
นอกจากคู่แข่งมากหน้าหลายตา “ช่อง 3” ยังต้องเผชิญกับ “สื่อออนไลน์” ที่ดูดคนดูจากหน้าจอทีวีมาเป็น “มัลติชาแนล” ที่กลายเป็นโอกาสให้แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ มีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ ไลน์ทีวี และยังมีแพลตฟอร์มอย่าง “โอทีที” จากไทยและต่างประเทศ ดาหน้าเข้าแย่งชิงคนดูและโฆษณา
วินาทีนี้ “ทีวี” จึงคลายอิทธิพลลง
กล่าวถึง “โฆษณาทีวี” จากเดิมตลาดเป็นของ “ผู้ขาย” แต่วันนี้อยู่ในมือ “ผู้ซื้อ” แทน
จากโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ที่เอเยนซี่โฆษณาต้องจองล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆ ก็เหลือเวลาให้เลือกมากมาย ค่าโฆษณาจึงต้องลดและแถม ประเมินว่าไพรม์ไทม์ และนอน-ไพรม์ไทม์ของช่อง 3 เหลือไม่น้อยกว่า 40%
คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้ตระกูล “มาลีนนท์” ต้องเร่ง “ยกเครื่ององค์กร” โดยเปิดทางให้ “มืออาชีพ” เข้ามาบริหาร การเปลี่ยนแปลงรอบนี้ต่างจากอดีต เพราะไม่สามารถยึดติดอยู่กับ “สูตรสำเร็จ” แบบเดิมได้ เพราะช่อง 3 ต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ที่ใหญ่และท้าทายกว่าเดิม การจะผลักดันให้องค์กรที่มีอายุ 47 ปีให้เปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดคงเป็นเรื่องยาก เพราะที่นี่มีพนักงาน 2,000 คนที่อยู่ในวัยเกษียณเกือบครึ่งหนึ่ง
ตระกูล “มาลีนนท์” เข้าใจสถานการณ์ขององค์กรตัวเองดี จึงตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 โดยดัน “ประสาร มาลีนนท์” รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ “พี่ใหญ่” ของตระกูล ขึ้นมารักษาการแทน “ประวิทย์ มาลีนนท์” ในตำแหน่ง MD
แม้ไม่มีตำแหน่ง แต่ประวิทย์ซึ่งคนช่อง 3 เรียกติดปากว่า “นาย” ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในรายการต่างๆ ทั้งละคร รวมถึงการดูแลผู้จัดละคร และดารา
มาปี 2559 ประสาร ลาออกจากตำแหน่ง จึงแต่งตั้งให้ สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ขึ้นแทน จนปลายปีที่แล้ว ประสารเสียชีวิตลง ประชุม มาลีนนท์ น้องชายคนเล็กที่ดูธุรกิจไอที และเทคโนโลยี ได้รับความเห็นชอบจากพี่ๆ ในตระกูล ให้ขึ้นเป็น “แม่ทัพ” คนใหม่ของบีอีซีเวิลด์
เมื่อพี่น้องมาลีนนท์ที่ถือหุ้นในสัดส่วนเท่าๆ กัน ได้เทเสียงไปที่น้องชายคนเล็ก “ประวิทย์” จึงได้ยื่นใบลาออกในทุกตำแหน่งเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2559
นับเป็นการทิ้งบทบาททั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอย่างสิ้นเชิง เพื่อเปิดทางให้ “ประชุม” พิสูจน์ฝีมือเต็มที่
มาถึงต้นปี 2560 ช่อง 3 เริ่มให้น้ำหนักกับการดึงมืออาชีพเข้ามาบริหาร โดยมีชื่อ สมประสงค์ บุญยะชัย อดีตซีอีโอชื่อดังจากเอไอเอส และอินทัช โฮลดิ้งส์ เข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหาร แทน เทรซี่ แอนน์ มาลีนนท์ ซึ่งเป็นลูกสาวของประชา มาลีนนท์
จากนั้นบอร์ดบีอีซีเวิลด์เริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลง ด้วยการแต่งตั้ง สมชัย บุญนำศิริ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย ที่เป็นกรรมการอิสระของช่อง 3 ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ส่วน ประชุม มาลีนนท์ ขยับจากกรรมการบริษัท ขึ้นเป็นรองประธาน
จากนั้นแค่เดือนเดียว “ประชุม” ก็ขึ้นรับตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” Group Chief Executive Officer บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) พร้อมจัดทัพใหม่แต่งตั้งให้ “สมประสงค์” ขึ้นนั่งประธานคณะกรรมการบริหาร แล้วดึงมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพสร้างความแข็งแกร่ง
เช่น “อาภัทรา ศฤงคารินกุล” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส ซึ่งเธอเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ “ประชุม” ช่วงที่บริหารบริษัทลูกของช่อง 3 มาก่อน
ตามติดด้วยลูกหม้อค่ายเอไอเอสเหมือนกัน “ภัทรศักดิ์ อุตตมะโยธิน” อดีตผู้อำนวยการ ส่วนงาน HR เข้ามาเป็น “หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล” รวมถึง “วรุณเทพ วัชราภรณ์” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ มารับตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาด้านการตลาด” ขึ้นตรงต่อ “ประชุม” โดยตรง
ล่าสุด “น้ำทิพย์ พรมเชื้อ” ผู้บริหารจากอินทัช ตัดสินใจมาช่วยช่อง 3 อีกคน ในตำแหน่ง หัวหน้าคณะผู้บริหารวางกลยุทธ์ Chief Strategy Officer หรือ CSO มีผลเมื่อ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นี่จึงเป็น “ที่มา” ของกระแสข่าวว่า “ช่อง 3 ถูกเอไอเอสเทคโอเวอร์” จนช่อง 3 และเอไอเอสต้องออกหนังสือยืนยันปฏิเสธข่าว แม้แต่ตัวประวิทย์เองยังส่งไลน์ส่วนตัวถึงผู้จัดและดาราว่า ไม่ใช่เรื่องจริง
ขณะเดียวกัน คนของช่อง 3 ทยอยลาออก เช่นข่าวลือที่เป็นจริงคือการลาออกของ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ที่ย้ายข้ามค่ายไปเป็น “ผู้อำนวยการใหญ่ ช่องพีพีทีวี” จะมีผลในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ “ประชุม” ควบตำแหน่ง MD และ Group CEO ไปโดยปริยาย
ต้องยอมรับว่า การผ่าโครงสร้างครั้งใหญ่ของช่อง 3 รอบนี้ เกิดแรงกระเพื่อมถึงทีมงานเดิม รวมทั้งกลุ่มผู้จัดละคร ดาราศิลปิน ที่อยู่กับช่องมานาน
โดยเฉพาะทีมงานขายและการตลาดต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด จากฝ่ายตั้งรับมาเป็นฝ่ายรุก จากที่เคยรอรับโทรศัพท์จากลูกค้า วันนี้ต้องคิดทำแพ็กเกจจูงใจและออกไปขายโฆษณา
ช่อง 3 ต้องใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการหารายได้ใหม่ๆ เช่น เปิดหน่วยงานบริหารศิลปินเพื่อหารายได้เพิ่ม จากเดิมที่ให้ศิลปินดาราในสังกัด รับงานอีเวนต์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ได้เอง ก็เปลี่ยนใหม่โดยให้ช่องรับงานแทน แล้วแบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสม
นับเป็นครั้งแรกที่ช่อง 3 ขอแบ่งเปอร์เซ็นต์จากดาราในสังกัด
แล้วที่น่าจับตา เร็วๆ นี้จะมี “มืออาชีพ” จากบริษัทบันเทิงข้ามชาติเข้ามาร่วมฝ่าวิกฤตด้วย โดยจะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องบริหารศิลปิน และหาโอกาสสร้างรายได้จากการเปิดตลาดในต่างประเทศ
พร้อมกับเดินหน้าควบคุมค่าใช้จ่ายจากการผลิตละคร ลดการตุนเรื่องเพื่อรอออกอากาศ รวมถึงต้องหาสปอนเซอร์ไว้ล่วงหน้าให้มากพอก่อนจะผลิต
เพื่อรับมือกับสื่ออนไลน์ “ช่อง 3” กำลังจริงจังกับการสร้างแพลตฟอร์ม mello เป็นของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เปรียบแล้วก็เหมือนละครบทใหม่ที่ต้องสร้างสรรค์อย่างสุดความสามารถ
47 ปีบนเส้นทางธุรกิจทีวี
“ช่อง 3” จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสใหม่ได้หรือไม่ ต้องภาวนาและน่าจับตา !!!