#การบินไทยขาดทุนเท่าฟ้า แต่ทำไมแอร์เอเชียกำไร ?

เกิดคำถามขึ้นทุกครั้ง หลังประกาศผลประกอบการ ของ “การบินไทย” ที่ขาดทุนยับต่อเนื่อง แถมบางปีทำรายได้ทะลุ 2 แสนล้าน แต่กำไรน้อยนิดแค่ 15 ล้าน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “แอร์เอเชีย” เปิดมาไม่ถึง 15 ปี แต่กลับกำไรทุกปี

จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2560 คาดว่าจะสูงถึง 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีนักท่องเที่ยว 14.5 ล้านคน แม้จะผ่านวิกฤติหลากหลายทั้งม็อบการเมือง น้ำท่วมใหญ่ ระเบิด และล่าสุดการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ประเทศไทยก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เสมอ

นี่คือความหวังของธุรกิจสายการบินที่จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

แต่คำถามก็เกิดขึ้นกับ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ทุกไตรมาสที่แจ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือเมื่อไหร่จะมีกำไร เพราะถ้าดูย้อนหลังไป 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2556 ก็พบว่ามีผลขาดทุนต่อเนื่องในแต่ละปีกว่า 1 หมื่นล้าน โดยมีเพียงปี 2559 ที่สายการบินแห่งชาติ ซึ่งมีรายได้ปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ทำกำไรได้ 15 ล้านบาท

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2560 ที่เพิ่งแจ้งตลาดฯ ไปนั้น แม้จะมีสัญญาณดีว่ามีรายได้ และกำไรจากผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ที่หากดูเฉพาะรายการนี้ ก็จะโชว์ตัวเลขกำไร 739 ล้านบาท

แต่เมื่อดูจากเครื่องบินที่ปลดระวาง รอการขาย คือรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบิน ที่ราคาท้องตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่บันทึกไว้ 13 ลำ รวม 1,405 ล้านบาท และผลขาดทุนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคืออัตราแลกเปลี่ยน 829 ล้านบาท จึงฉุดตัวเลขรวมขาดทุนไตรมาสนี้ไป 1,814 ล้านบาท

การด้อยค่าของเครื่องบินที่ปลดระวาง และฝีมือการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน คือ 2 ปัจจัยกดดันการบินไทยมาโดยตลอด

ตัวเลขไตรมาสนี้จึงส่งผลกระทบฉุดผลประกอบการรอบ 9 เดือนของปี 2560 ไปอีก ที่แม้จะมีรายได้รวม 141,913 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้ 135,553 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 4.7% แต่ก็ทำให้ขาดทุนสุทธิแล้ว 3,878 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีกำไรสุทธิ 1,604 ล้านบาท คิดเป็นกำไรลดลง 356%

แม้ว่าไตรมาสแรกปีนี้จะทำกำไรได้ 3,169 ล้านบาท เพราะผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 1,560 ล้านบาท แต่ไตรมาส 2 กลับมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2,431 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 2 มีผลขาดทุนเฉพาะไตรมาส 2 ถึง 5,208 ล้านบาท

แน่นอนว่าทุกไตรมาสยังคงมีการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินกว่า 10 ลำ ในหลักร้อยล้านบาทบ้าง และหลักพันล้านบาทบ้าง

มรดกการเมืองซื้อเครื่องบินฉุดการบินไทย

เครื่องบิน 13 ลำ ที่บันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่า ไตรมาส 3 ดังกล่าว คือ แอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ เอ 340-500 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 747-400 เฟรตเตอร์ 2 ลำ และ เอ 330-300 จำนวน 2 ลำ

เครื่องบินเหล่านี้นับเป็นมรดกที่ไม่มีใครอยากได้ เป็นผลของการบริหารงานที่ประเมินการทำธุรกิจพลาด และหลักในการคุมการบินไทยในแบบสมบัติผลัดกันชม จนมีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ๆ เกือบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล จนการบินไทยมีแบบเครื่องบินมากกว่า 10 แบบ ขณะที่สายการบินอื่นจะมีน้อยแบบมากที่สุด เพื่อไม่ให้มีภาระต้นทุนในการซ่อมบำรุง

ทุกวันนี้มีเครื่องบินการบินไทยที่ปลดระวางที่จอดอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภาหลายลำ โดยเฉพาะในตระกูล เอ 340 ท้ัง 500 และ 600 ที่จัดซื้อในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2546-2547 เพื่อบินตรง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก โดยไม่ต้องแวะพัก ซึ่งความเสียหายนอกจากไม่คุ้มการลงทุนในแต่ละเท่ียวบิน ที่เมื่อเทกออฟก็ขาดทุนแล้ว ทำให้การบินไทยต้องหยุดบินเส้นทางนี้ภายใน 3 ปี พร้อมผลขาดทุน 7,000 ล้านบาท

นอกเหนือจากมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ จากราคาที่ซื้อเมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้ว ที่ราคาลำละ 153 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันบางรายเสนอราคาซื้อไม่ถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งถูกกดราคา ย่ิ่งทำให้การตัดสินใจขายของผู้บริหารปัจจุบัน ยิ่งยาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เครื่องบินมรดกนี้จึงยังอยู่ พร้อมภาระการรับผลการด้อยค่าของเครื่องบินปีละกว่า 1,000 ล้านบาท และตัวเลขจะยังคงอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะขายเครื่องบินนั้น ๆ ออกไปได้

ส่วน 747-400 เฟรตเตอร์ 2 ลำ ที่การบินไทยเคยเตรียมไว้ให้บริการขนส่งสินค้า แต่ไม่มีใครใช้บริการ ส่วน เอ 330-300 จำนวน 2 ลำนั้น ได้ทยอยขายได้เรื่อย ๆ เพราะเครื่องเก่า เก้าอี้ไม่ได้ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO 13 ลำนี้จึงโชว์ผลในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

“แอร์เอเชีย” กำไร ตอกย้ำการบินไทยอ่อนแอ  

ขณะที่สายการบินน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเข้ามาบินในไทยไม่ถึง 15 ปีอย่างไทยแอร์เอเชีย มีกำไรทุกปี ที่หากย้อนหลังไปดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ก็พบว่ามีกำไรกว่า 1,000 ล้านบาท มีเพียงปี 2557 ที่เกิดรัฐประหารที่กำไรวูบไปอยู่ที่ 183 ล้านบาท และ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 ก็ทำกำไรไปแล้ว 1,001 ล้านบาท

แน่นอนว่า เปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้ เพราะไทยแอร์เอเชียมีจุดยืนทางการตลาด คือสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ส่วนการบินไทย คือสายการบินพรีเมี่ยม แม้จะมีสายการบินลูกที่เป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ อย่างนกแอร์ และ ไทยสมายล์ แต่ลูกยังไม่แข็งแรงพอ โดยแม่ยังต้องพยุงอยู่ โดยเฉพาะนกแอร์ท่ีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน ก็มีตัวเลขโชว์ขาดทุนตั้งแต่ปี 2557 นอกจากเพราะการแข่งขันสูงแล้ว นกแอร์ยังเผชิญปัญหาความขัดแย้งภายใน จนขาดทุนหนักในปี 2559 สูงถึง 2,795 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกของปีนี้ ขาดทุนไปแล้ว 1,628 ล้านบาท

ทำให้ไทยแอร์เอเชีย แข็งแรง และชิงส่วนแบ่งตลาดไปได้สูง โดยเฉพาะเส้นทางบินในประเทศ ที่แม้ว่าการบินไทย รวมนกแอร์ รวมไทยสมายล์แล้ว ยังได้ส่วนแบ่งตลาดไม่ถึงครึ่ง โดยการบินไทยได้ 8.6% ไทยสมายล์ 9.8% นกแอร์ 18.8% ขณะที่ไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาด 30.5% บางกอกแอร์เวยส์ 10.8% และไทยไลอ้อนแอร์ 19.1%

การบินไทยเองยังเผชิญการแข่งขันรุนแรงในเส้นทางบินในภูมิภาคทั้งในอาเซียน และเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นบางกอกแอร์เวยส์ที่สามารถหาจุดเด่นของตัวเอง ไม่ลงแข่งสนามโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และมีไลอ้อนแอร์ ที่พร้อมหนุนตัดราคาดึงผู้โดยสาร และมีเครือข่ายในอาเซียน จากฐานของอินโดนีเซีย การบินไทยยังมีต้นทุนสูงในการบินเที่ยวบินต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา จนมีการยุบ เลิก และกลับมาบินบางเส้นทางอยู่บ่อยครั้ง สภาพทุกวันนี้ทำให้การบินไทย แม้มีรายได้นับแสนล้าน แต่กว่าจะได้กำไรแต่ละบาท ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่ง.