กระบวนท่าฝ่าวิกฤตยักษ์สีฟ้า

4C+2 หลักบริหารกู้วิกฤต สร้างพนักงานแบบ Hybrid สุดท้ายสิ่งที่ลืมไม่ได้คือการสื่อสาร กับพนักงานและลูกค้า เป็นวิถีการบริหารแบบครบกระบวนท่าที่ “ศุภจี สุธรรมพันธ์” รองประธานประจำภูมิภาคเอเซียน กลุ่มธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด ต้องนำมาใช้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เธอบอกว่า “เศรษฐกิจตอนนี้แย่ และถดถอย”

หลักบริหารแบบ 4C+2

“ศุภจี” เสนอกลยุทธ์ช่วงนี้ คือ 4C และ 2 หลัก เพื่อฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ คือ C ตัวแรก Climate การพิจารณาบรรยากาศแวดล้อม ตามด้วย Capability การสร้างความสามารถขององค์กร Culture สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสม เล็งไปข้างหน้า และหาโอกาสใหม่ เพื่อ Speed ให้ได้เร็วที่สุด และสุดท้าย Career การสร้างความรู้สึกให้พนักงานอยู่กับเรา มีแรงจูงใจ และบอกเขาให้ได้ว่าเขามีอนาคตในองค์กรอย่างบ้าง โดยเฉพาะคนที่ต่อจากผู้บริหารในกลุ่ม Middle Management

สำหรับ “ศุภจี” ที่ต้องดูแลหลายธุรกิจของไอบีเอ็มใน 10 ประเทศ แนวทางการบริหารสำหรับช่วงนี้ มี 2 หลักคือ คือการ Shift โดยพิจารณาว่าประเทศไหนธุรกิจมีโอกาสเติบโตสูงสุด ก็ไปลงทุน อย่างขณะนี้เวียดนามมีโอกาสมากเติบโตมากที่สุด สำหรับประเทศไทยยังอยู่ในเพียงอันดับ 3-4 เท่านั้น

สิ่งที่สองคือ การหา Partnership เพื่อทำตลาดไปด้วยกัน ยิ่งมีพาร์ตเนอร์จะยิ่งสามารถต่อรองและสร้างพลังในการทำตลาดได้มากขึ้น

เน้นคน Hybrid

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องหันกลับมาพิจารณาว่าองค์กรของตัวเองมีทักษะที่เหมาะกับความต้องการของตลาดหรือไม่ หากไม่เหมาะก็ต้องปรับทักษะของคนในองค์กร เช่น ในอดีตไอบีเอ็มจะเน้นในเรื่องเทคนิค แต่ขณะนี้ได้ปรับคนให้มีลักษณะผสมผสาน Hybrid มากขึ้น คือรู้ด้านไอทีเป็นหลัก โดยต้องเพิ่มความรู้ และทักษะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของลูกค้าด้วย เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจธนาคาร การเงิน

“คนต้องเป็น Hybrid เพื่อให้เข้าใจตลาดว่าต้องการอะไร และผสมผสานกับทฤษฎี Sense & Respond คือการรับรู้และตอบสนองกับปัญหาได้รวดเร็ว”

สื่อสารมาก ๆ

“ศุภจี” อธิบายว่า ในทฤษฎีนี้ คือต้องสื่อสารกับคนในองค์กรมากๆ ใกล้ชิดกับพนักงาน อย่างที่ตัวเธอใช้คือ อัดเสียงใส่ iPod เพื่อสื่อสารกับคนในองค์กรทั้งหมด หรือบางบริษัทอาจใช้รูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นอีเมล หรือวีซีดี แต่ที่ไอบีเอ็มทุกคนมี iPod จึงเป็นสื่อที่เหมาะสมที่สุด เมื่อสื่อสารแล้วให้ใช้ Sense สังเกตการตอบสนอง โดยสามารถวัดได้จากการทำงานว่ามีทิศทางไปทางเดียวกันหรือไม่

การใช้ Sense ของ “ศุภจี” ยังนำมาใช้กับลูกค้าคือการสังเกตลูกค้า

“นอกเหนือจากนี้สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจนว่าเราอยู่ตรงไหน และเราสามารถช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราเป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้ และเรามีความแตกต่างจากคนอื่น”

สิ่งที่ “ศุภจี” เน้นย้ำคือ วิกฤตแบบนี้ทุกคนต้องบริหารจัดการความเสี่ยง ดูตลาดว่าต้องการอะไร และอยู่ที่ไหน ที่สำคัญคือไม่เชื่อว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว ต้องลดคน และลดการลงทุน เพราะบุคลากรเหล่านี้ที่สร้างขึ้นมา เป็นทรัพยากรที่มีค่า หากปลดออกแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจขยายตัว องค์กรอาจวิกฤตยิ่งกว่า