ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรก 60 โตอืดแค่ 2.81 กำลังซื้อไม่มา-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กังวลกำลังซื้อครึ่งปีหลังจากผลดัชนีไตรมาสสองแผ่วตัว ฉุดดัชนีครึ่งปีแรกโดยรวมลดลง

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรกของปี 2560 เติบโตเพียง 2.81% อันเป็นผลมาจากยอดค้าปลีกในไตรมาสสองเริ่มแผ่วตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่เติบโตถึง 3.02%

โดยมีสาเหตุหลักจากวัฏจักรของการจับจ่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มพุ่งสูงขึ้นที่ไตรมาสสี่ ส่งผลต่อเนื่องให้ไตรมาสหนึ่งเติบโตสูงขึ้นด้วย จากนั้นไตรมาสสองและสามจะค่อยๆ ชะลอตัวลง และเริ่มขยับขึ้นช่วงไตรมาสสี่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากเป็นช่วงไตรมาสที่สามของงบประมาณ ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกครึ่งปีแรกย่อตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.81

ดัชนีสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ครึ่งปีแรก / 2560

จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกในไตรมาสสอง การเติบโตของหมวดสินค้าต่างๆ จะกระจุกตัวเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักๆ ของการท่องเที่ยว 2-3 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ของสาขาทั้งหมด

ในทางกลับกันสาขาส่วนใหญ่อีก 70% ที่อยู่ในต่างจังหวัด จะมีการเติบโตที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัย ส่งผลให้ดัชนีในไตรมาสที่สอง และภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีหลังอ่อนตัวลงตามไปด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดอยู่ในช่วงไม่สู้ดีนัก เพราะนอกจากเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัว แต่กลับอ่อนตัวลงไปอีก ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา และต้องเน้นเป้าหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในครึ่งแรกของปี 2560 โดยละเอียด ดังต่อไปนี้

1. หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods)

สามารถแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1) กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 3A (Appliance, Air Condition, Audio Television) 2) กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3C (Camera, Computer, Cellular Phone หรือ Smart Phone) 3) กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ในไตรมาสแรกหมวดสินค้าคงทนมีการเติบโตในอัตราที่ต่ำ แต่กลับฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาสสอง เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40 ของหมวดสินค้าคงทน มีการเติบโตสูงขึ้นจากการที่กล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ออกรุ่นใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาดอยู่เสมอ ส่วนกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงทรงตัว เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนก็เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ในขณะที่กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ยังไม่ฟื้นตัว อันเป็นผลมาจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตลดลง

2. หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods)

ยังคงเติบโตในอัตราทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แม้ว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทำให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจัยหลักที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เติบโตต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังได้อานิสงส์จากกลุ่มเครื่องกีฬาและสุขภาพ ซึ่งเติบโตตามเทรนด์ค่อนข้างมากมาช่วยพยุง ส่งผลให้อัตราการเติบโตในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทั้งหมดยังทำได้แค่ทรงตัว ขณะเดียวกัน กลุ่มรายได้ปานกลางตอนบนซึ่งเป็นกลุ่มหลักของการจับจ่ายสินค้าหมวดนี้ ติดกับดักหนี้เครดิตการ์ดที่สูงเกือบชนเพดานทำให้กำลังซื้อหดตัวลง

3. หมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods)

หรือหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เริ่มส่งสัญญาณบวกในการฟื้นตัวช้าๆ อย่างต่อเนื่อง นับจากไตรมาสสี่ปีที่แล้วจนกระทั่งถึงไตรมาสแรกของปีนี้ อันเป็นผลมาจากการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าไตรมาสสอง ดัชนีการบริโภคกลับแผ่วตัวลง ซึ่งอาจเป็นผลจากวัฏจักรของการจับจ่าย แต่ด้วยว่าปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้ดัชนีการเติบโตของหมวดสินค้าไม่คงทนยังคงพยุงตัวไว้ได้เหนือร้อยละ 3.05 แม้จะสะท้อนให้เห็นว่ามีการเติบโตอย่างกระจุกตัว ในหมวดสินค้านี้อย่างชัดเจนก็ตาม

ในส่วนของสถานการณ์ค้าปลีกครึ่งหลังของปี 2560 สมาคมผู้ค้าปลีกไทยค่อนข้างกังวลใจในเรื่องของกำลังซื้อในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากกลุ่มรายได้ปานกลางส่วนล่างและกลุ่มรายได้น้อย ที่ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่วนกลุ่มรายได้ปานกลางตอนบน การใช้จ่ายก็คงไม่คล่องตัว ด้วยหนี้บัตรเครดิตที่สูงเช่นกัน 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมภาคค้าปลีก น่าจะยังทรงตัวในไตรมาสที่สาม และดีดตัวขึ้นไปในไตรมาสที่สี่ตามวัฏจักรของการจับจ่าย แม้ภาครัฐจะเร่งให้มีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ภายในปีนี้ แต่ผลจากการลงทุนจะส่งผลมายังภาคค้าปลีกก็ต้องใช้เวลา 6-8 เดือน จึงยังไม่มีผลต่อการเติบโตของภาคอุตสาหรรมค้าปลีกในครึ่งปีหลังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าการเติบโตในลักษณะกระจุกตัวน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้พอมีความหวังว่า ดัชนีค้าปลีกโดยรวมของปี 2560 น่าจะดีกว่าปี 2559 เล็กน้อย โดยคาดว่า การเติบโตน่าจะอยู่ราว 3.0-3.2%