เปิดเทรนด์ร้อนจากฟินแลนด์ บริการในโลกอนาคตของโนเกีย

POSITIONING เป็นสื่อมวลชนเพียงฉบับเดียวจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญจากโนเกียเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนา “The Way We Live Next 2008” โดยมีสื่อมวลชนจากนานาประเทศอีกกว่า 70 คน เมื่อกันยายน 2551 ที่ผ่านมา ณ Nokia House สำนักงานใหญ่ของโนเกีย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเอสปู (Espoo) ประเทศฟินแลนด์ ห่างจากเมืองหลวง คือ กรุงเฮลซิงกิ ประมาณ 20 นาที

Flight Time กว่า 14 ชั่วโมง รวมระยะเวลาเปลี่ยนเครื่องที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ทำให้รู้สึกเพลียไปบ้าง แต่การเดินทางโดยชั้นธุรกิจของสายการบิน SAS ก็ทำให้ร่างกายปรับสภาพได้เร็วกว่าที่คิด และเตรียมพร้อมสำหรับการสัมมนาอย่างทรหดในวันรุ่งขึ้น

โชคดีในโชคร้าย เมื่อลูแอน Communication Manager สิงคโปร์ ที่จะทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชนจากไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ไม่สามารถเดินทางมาฟินแลนด์ได้เนื่องจากติดขัดปัญหาวีซ่า แต่เธอก็ได้เตรียมการเรื่องต่างๆ ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการจัดคิวสัมภาษณ์ให้กับเราไว้เสร็จสรรพ เรื่องยุ่งๆ เลยลงเอยด้วยดี

แม้ CEO ของโนเกียจะไม่ได้ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย แต่ก็มี Bob Iannucci ซึ่งเป็น Senior Vice President และ Chief Technology Officer ของโนเกีย เป็นประธานกล่าวเปิดงานและเป็นผู้บรรยายในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย ร่วมกับผู้บรรยายอีก 10 คนซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของโนเกีย

งานสัมมนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะประกาศกับสื่อมวลชนทั่วโลกว่า โทรศัพท์มือถือของโนเกียจะเปลี่ยนโฉมหน้าเป็นอย่างไรในปี 2015 จากรูปแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

บรรยากาศการสัมมนาเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก แม้จะรู้สึกร้อนไปบ้าง เนื่องจากในห้องสัมมนาเปิดฮีทเตอร์ แต่ด้วยเนื้อหาของการสัมมนาที่เข้มข้น กระชับ ไม่น่าเบื่อ ก็ทำให้ใจจดจ่ออยู่กับพรีเซนเตชั่นจนลืมร้อนไปเลย

Bob ซึ่งจบระดับปริญญาเอกจาก MIT มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ R&D ของบริษัท และเปลี่ยนแปลงแนวคิดการจัดการแบบ Traditional ของโนเกีย เขาได้รับการยอมรับจากคนโนเกียว่าเป็นผู้ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการตลาด ได้เปิดฉากบรรยายในหัวข้อ Future Mobility, Building the Path Forward ฉายให้เห็นภาพรวมของการวิจัยเพื่ออนาคตในปี 2015 ซึ่งตอกย้ำวิสัยทัศน์สำคัญที่ว่า “Demos or Die”

เขายังเล่าถึงการทำแบบทดสอบแบบ Global Test ผ่าน Nokia Beta Labs เพื่อแชร์ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค ซึ่งจะได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของวิเคราะห์เพื่อพัฒนา Product&Service ที่ Effect กับคนนับพันล้าน เพราะเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนไปจะต้องสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แบบ Economy of scale ได้

ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้าง Engagement ระหว่างแบรนด์โนเกียกับผู้บริโภคได้อย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย

นอกจากนี้โนเกียยังหวังใช้ประโยชน์จาก Sensor ที่มีอยู่ คือ ต้นทุนที่แทบไม่เสียอะไร แต่การสร้างสะพานเชื่อมต่อคือสิ่งที่โนเกียต้องทำ เช่น Sensor ในโทรศัพท์มือถือสามารถพัฒนาให้เก็บข้อมูลจากสภาพแวดล้อมและแปรผลเพื่อรายงานสภาพอากาศในขณะนั้นได้ด้วย เป็นต้น

โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ อาทิ MIT เพื่อศึกษาเทรนด์และพัฒนา Mobile Technology ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที คือตัวอย่างของสะพานที่ก่อด้วยวัตถุดิบชั้นดี

“โนเกียต้องการเติมเต็มช่องว่างระหว่างโลก Physical กับโลก Digital ทุกวันนี้มี GPS กล้อง บลูทูธ ไว-ไฟ และอื่นๆ แต่อนาคตอันใกล้จะมีสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้น เช่น Indoor Positioning เป็นต้น” Bob เอ่ยย้ำถึงวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ของโนเกีย

ต่อคำถามที่ว่า เมื่อโนเกียเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจของบริษัทเป็น Internet Company โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ของโนเกียจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์นั้น โนเกียจะดำเนินธุรกิจที่ทับซ้อน เหลื่อมล้ำกับบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หรือไม่ เขาตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนว่า “ใช่ อย่างแน่นอน แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองได้ แต่เกือบทุกคนสามารถมีโทรศัพท์มือถือได้ หลากหลายบริการจึงสามารถพัฒนาให้ใช้งานได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะกับคุณสมบัติของ Mobility”

สมรภูมิรบของโนเกีย ได้กินขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมากนัก เพราะคู่แข่งไม่ใช่แค่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหรือ Device ทั้งหลายอีกต่อไปแล้ว บริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับอินเตอร์ที่มีอยู่มากมายต่างหากคือคู่แข่งผู้ช่ำชอง แต่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาโฟกัสในเรื่องของ Mobility และ Internet ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสอันมหาศาลแบบไม่รู้จบ

เพราะถ้าโนเกียมุ่งขาย Device เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าสำหรับผู้บริโภคคนหนึ่ง นั่นคือการขายขาดเพียงครั้งเดียว อาจมีการซื้อซ้ำบ้าง แต่หากโนเกียขาย Device บวกกับ Service อื่นๆ ที่เป็น On Top ย่อมทำให้การขายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงมีความถี่และโอกาสในการเก็บเกี่ยวรายได้มากกว่านั่นเอง อีกทั้งด้วย Scale of Billion ทำให้โนเกียคาดหวังว่าจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจาก Advertiser ได้ไม่ยาก

โนเกียรู้ดีว่ามาทีหลัง แต่สถานะของการเป็นผู้นำในตลาด Device ของโลก ย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญและยังความมั่นใจให้กับโนเกียได้ไม่น้อย แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ Bob บอกว่าต้องรีบพัฒนาคือ Energy Management เพราะหากจะทำให้โนเกียใช้งานใน Application ที่หลากหลาย แบตเตอรี่ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันอาจไม่สามารถรองรับความต้องการดังกล่าวได้ พร้อมอธิบายว่า

“ถ้าเราใส่แบตเตอรี่มากกว่า 3 วัตต์ ซึ่งมากกว่าที่ใช้กันในโทรศัพท์ปกติ จะทำให้เครื่องร้อนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อ”

ใช่เพียงนวัตกรรมภายในเครื่องเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงไป ดีไซน์ของโทรศัพท์มือถือก็จะเปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องถือ แต่เราสามารถสวมใส่ประหนึ่งเป็นเครื่องประดับติดตัวเราซึ่งทีมวิจัยของ Nokia Research Center กว่า 1,400 คน ทำหน้าที่อย่างคร่ำเคร่ง เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ

ด้านLeo Karkkainen, Chief Visionary จาก Nokia Research Center บรรยายว่า Mobile Technology สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายเรื่อง เช่น เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความบันเทิง เป็นต้น

นั่นหมายความว่าโนเกียตั้งเป้าที่จะให้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับชีวิต ความเป็นอยู่ และไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลก บนโทรศัพท์มือถือของตนเอง ฟังดูยิ่งใหญ่แต่เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“ถ้าโตได้ใน Area ใหม่ๆ เราก็จะโต โดยไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป”

กระนั้นสิ่งที่โนเกียได้ประกาศไปแล้วเมื่อต้นปีว่าจะผลิตโทรศัพท์มือถือแบบ Touch Screen นั้น ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นในงานนี้ แต่ Bob Inannucci ก็ได้ตอบคำถามที่ว่า มองความสำเร็จของ iPhone ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือ Touch Screen ยอดนิยมอย่างไรบ้าง

“ไม่เชื่อว่านี่คือความสำเร็จ เพราะโนเกียทำสิ่งที่ก้าวไกลกว่านั้น คือ การผลิต Portfolio Product และมี Supply Chain ที่ดี อีกทั้งยังมีบริการ On Top ส่วนเรื่อง Touch Screen เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องพื้นฐานจำเป็น ไม่ใช่ทุกคนที่ปรารถนามัน นโยบายของโนเกียคือ การทำโทรศัพท์มือถือให้ Easy, Multi Cultural และ Simple to use” เขาตอกย้ำถึงความต่างในนิยามของคำว่าความสำเร็จระหว่างโนเกียและคู่แข่ง

การสัมมนาเสร็จสิ้นลง ไม่มีปาร์ตี้เลี้ยงอำลา มีเพียงบุฟเฟต์มื้อเที่ยงแบบเรียบง่าย ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวต่อไป

ธงชาติฟินแลนด์โบกสะบัดพลิ้วไหวท้าลมหนาว บริเวณด้านหน้าอาคารกระจก Nokia House สะท้อนแสงแดดยามบ่ายส่งประกายระยิบระยับประหนึ่งเป็นสัญญาณว่า “โนเกีย” แบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์และแบรนด์มือถือที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ของโลกซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด พร้อมแล้วที่จะก้าวต่อไปอีกขั้นในสนามรบที่ร้อนแรงและแตกต่างจากเดิม

เทคโนโลยีล้ำๆ เพื่อไลฟ์สไตล์ในอนาคต

อีก 7 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีเหล่านี้จะพร้อมให้บริการอย่างถ้วนทั่ว โนเกียโชว์เทคโนโลยีร้อนๆ ส่งตรงจากห้องแลป ให้กับสื่อมวลชนได้ชมการสาธิต Demosโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ณ Nokia Louge ห้องแสดง Demo ภายใน Nokia House

Demos ถูกจัดขึ้นไว้ 4 ธีมอย่างเป็นระเบียบ คือ People&Places, Reaching for the Future, Green Research, Accesibility-Enabling Senses ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจ และช่วยทำให้ภาพของการเป็น Internet Company ของโนเกียแจ่มชัดขึ้น

ตามมาดูธีม People&Places บริการที่โดดเด่นคือ

Indoor Positioning ซึ่งเป็น Location-Based Service ภายในตัวอาคาร ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานใน
ศูนย์การค้าหรืออาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยเหตุผลหลักในการพัฒนาบริการนี้คือ คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตใน Indoor มากกว่า Outdoor โดยใช้เวลาอยู่ใน Indoor ประมาณ 80-90% กันเลยทีเดียว และการใช้โทรศัพท์กว่า 70% ก็เกิดขึ้นใน Indoor ด้วยเช่นกัน

ขณะที่บริการนี้เกิดขึ้นเพื่อขจัดข้อจำกัดของ GPS ใน Indoor เพื่อหาสินค้าและบริการในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพราะ Consumer Insight ที่พบคือ ลำพังแผนที่บอกจุดตั้งของช็อปต่างๆ ในศูนย์การค้าหรือป้ายบอกประเภทของสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นไม่เพียงพอ มิหนำซ้ำยังเสียเวลาในการค้นหาอีกด้วยอีกด้วย

ต่อไปนี้การช้อปปิ้งจะมีสีสันและประหยัดเวลา รวมทั้งทำให้คุณรู้จักเลย์เอาต์ของศูนย์การค้านั้นแบบทะลุปรุโปร่งแม้จะใช้บริการเป็นครั้งแรกก็ตาม

นอกจากนี้ยังช่วยทำให้การช้อปปิ้งของกลุ่มเพื่อนและครอบครัวสนุกสนานและผ่อนคลายมากขึ้น เพราะสามารถแยกย้ายกันช้อปปิ้งได้โดยไม่ต้องคอยโทรเช็กกันอีกด้วย เพราะสามารถรู้ว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรที่ไหนอยู่ภายในศูนย์การค้า

โดยเริ่มต้นให้บริการที่สำนักงานของโนเกียกว่า 40 แห่งทั่วโลก และทดลองใช้กับ Kamppi Shopping Center ก่อน บ้านเราน่าจะเหมาะกับการนำมาใช้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างสยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์

Point & Find เป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของโฆษณาได้ โดยเมื่อใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปโปสเตอร์หนัง ก็จะได้รอบฉายพร้อมตัวอย่างหนังมาดู โดยสามารถจดจำรูปภาพได้มากกว่า 2 ล้านรูป นอกจากนี้ยังสามารถใช้หลักการเดียวกันในการทำโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายเฉพาะสาขา ผ่านโปสเตอร์ที่ติดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้โนเกียได้เริ่มคุยกับ Advertiser บางรายซึ่งชื่นชอบเทคโนโลยีนี้แล้ว

Friend View พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดของ Social Networking เป็น Location-Based Service ที่เราสามารถติดตาม รู้ความเคลื่อนไหวของเพื่อนสนิทว่าเขาทำอะไรอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันได้ ผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมกับการส่ง SMS แจ้งสถานะของคุณกับเพื่อนสนิท โดยในขั้นนี้ได้พัฒนาเฉพาะบางพื้นที่ของกรุงเฮลซิงกิเท่านั้น

ด้านธีม Reaching for the Future มีนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ

Morph เป็น Device ที่พัฒนาด้วยนาโนเทคโนโลยี ร่วมกับ Cambridge Nanoscience Centre ใน UK
ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นโทรศัพท์มือถือในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากฝาพับหรือแบบสไลด์ เช่น รูปแบบคล้ายคลึงกับนาฬิกาข้อมือ ซึ่งจากการนำไปโพสต์ไว้ใน Youtube พบว่ามีผู้สนใจชมคอนเซ็ปต์นี้แล้วกว่า 2 ล้านคน

Video Conferencing Pet เจ้าหุ่นยนต์น่ารักนี้มีชื่อว่า Jeppe เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ทำหน้าที่สอดส่องความเป็นไปภายในบ้าน มีกิริยาท่าทางการแสดงออกเหมือน Avatar ที่มีชีวิตของผู้ควบคุมซึ่งสั่งงานผ่านโทรศัพท์มือถือโนเกีย

Mobiledu หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อการศึกษา (Mobile Education) ใช้ในการสอนภาษาอังกฤษแก่ชาวจีน แบบครบวงจรทั้งภาพ เสียง ตัวอักษร แบบทดสอบ และบทเรียนที่นำไปใช้งานได้จริง ปัจจุบันมีบทเรียนกว่า 20,000 บท และมีผู้ใช้งานแล้วราว 3 ล้านคน

ด้านธีม Green Research เป็นเทคโนโลยีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโนเกีย มีนวัตกรรมที่เด่นๆ คือ

Nokia Carbon Calculator สามารถตรวจจับและวัดวิธีการเดินทางแล้วคำนวณเชื่อมโยงกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ซึ่งช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถติดตามการปล่อยก๊าซดังกล่าวของพวกเขาได้โดยง่ายว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด พร้อมกับโน้มน้าวให้พวกเขาลดปริมาณก๊าซเสียนี้ลง

สุดท้ายกับธีม Accessibility-Enabling Senses ขอยกตัวอย่างเรื่องของ Voice Idle สั่งงานโทรเข้า-ออกด้วยเสียง โดยไม่จำเป็นต้องมองที่จอโทรศัพท์มือถือ เหมาะสำหรับผู้ใช้งานสูงอายุที่มีปัญหาด้านสายตา

Did you know?

ทั่วโลกมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 3.3 พันล้านคน หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

โทรศัพท์โนเกียมากกว่า 1 พันล้านเครื่องถูกจำหน่ายไปแล้วทั่วโลก

ฟินแลนด์ในความทรงจำ

ระยะทางเพียง 20 กิโลเมตรจาก Nokia House มุ่งตรงสู่โรงแรม Radisson SAS Seaside อันเป็นที่พัก แต่ค่ามิเตอร์แท็กซี่อยู่ที่ 20 ยูโร ขณะที่การเดินทางภายในเมืองระยะทางใกล้ๆ ก็ต้องเตรียมเงินไว้แล้วอย่างต่ำ 9 ยูโรแล้ว ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถรางสาธารณะและใช้สองเท้าก้าวเดินดูจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

การเดินบนทางเท้าที่กว้างขวางปราศจากสิ่งกีดขวาง ทำให้สามารถเดินได้นานเท่านาน เพลิดเพลินกับร้านรวงสวยงาม สถาปัตยกรรมแปลกตา และหนุ่มสาวชาวฟินแลนด์ซึ่งมองไปทางไหนก็ดูเหมือนจะเป็น Fashionista ไปเสียหมด

อากาศในกรุงเฮลซิงกิในช่วงปลายเดือนกันยายนกำลังเย็นสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มาจากเมืองร้อน ซึ่งโหยหาความหนาวเย็นจากธรรมชาติมาโดยตลอด โดยกลางวันอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 12-14 องศา ขณะที่กลางคืนอุณหภูมิลดต่ำลงถึง 2-4 องศา

ฟินแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีผู้คนนิยมดื่มกาแฟกันมากที่สุดในโลก ไม่แปลกใจที่จะเห็นร้านกาแฟเปิดเรียงรายอยู่ทุกถนน กลิ่นกาแฟเย้ายวนใจ อดไม่ได้ที่จะดื่มไปวันละ 3-4 แก้ว ลาเต้ที่นี่หอม กลมกล่อม การจิบลาเต้ร้อนๆ โดยปฏิเสธสารให้ความหวาน ท่ามกลางอากาศเย็นยะเยือกในตอนกลางคืน ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ไม่อาจลืมเลือน

ไม่ปล่อยให้ค่ำคืนสุดท้ายในกรุงเฮลซิงกิไร้สีสัน จึงออกตระเวน Nightlife แบบฉายเดี่ยว ผับ บาร์ ที่นี่ดูเงียบเหงาไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของ Weekday แต่ดนตรีก็เข้าท่าและนำสมัย จำได้ว่าซิงเกิลใหม่ Spotlight ของเจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ก็ได้ฟังที่นี่ ส่วนใหญ่นักท่องราตรีชาวฟินแลนด์จะนิยมดื่ม Local Beer ซึ่งรสชาติไม่เลวนัก

นาฬิกาบอกเวลาตีสอง ได้เวลากลับไปพักผ่อน ไม่เรียกแท็กซี่ แต่เลือกที่จะเดินกลับโรงแรมคนเดียว โดยไม่รู้สึกกลัว ทั้งๆ ที่คืนก่อนหน้าเพิ่งจะมีข่าวฆาตกรรม 10 ศพ ในวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลางกรุงเฮลซิงกิ และตลอดระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร แทบจะไม่เจอสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนเลย สิ่งเดียวที่ทำได้หลังจากหายรื่นรมย์กับอากาศที่เย็นสะใจก็คือ กระชับเสื้อโค้ทต้านแรงลมพร้อมกับสาวเท้าเร็วไว กึ่งเดินกึ่งวิ่งจนถึงโรงแรมในที่สุด

ตื่นเช้ามาอย่างปลอดภัย ตรงดิ่งดื่มด่ำลาเต้ร้อนๆ ก่อนอื่นใด จากนั้นควานหาช็อปโนเกีย แต่เดินแล้วเดินอีกก็เจอเพียงแค่แห่งเดียวตั้งตระหง่านอยู่อยู่ใกล้กับห้าง STOCKMAN ซึ่งได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น Harrod’s of Finland ก่อนจะไปพบกับช็อป H&M แบรนด์ดังจากสวีเดนโดยบังเอิญ จากนั้นการช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่งก็เกิดขึ้น ด้วยความหลงใหลและชื่นชอบในแบรนด์นี้มานาน

หลังจากเช็กอินและโหลดกระเป๋าเดินทางน้ำหนักเฉียด 30 กิโลกรัม เสร็จสิ้น ช็อกโกแลตแบรนด์ดังของฟินแลนด์ Fazer รสมินต์ เม็ดแล้วเม็ดเล่าถูกทยอยส่งเข้าปาก ระหว่างนั่งรอใน Business Louge ของ SAS ก่อนจากลาดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืนสู่มหานครบางกอกโดยสวัสดิภาพ พร้อมกับความทรงจำและประสบการณ์อันทรงคุณค่า