ปาดเหงื่อ ! ร้านอาหารยอดขายตก 50% ออนไลน์-ดีลิเวอรี่กินตลาด 4 พันล้าน

อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “ต้องวิ่งสู้ฟัด” กันเลยทีเดียว สำหรับธุรกิจ “ร้านอาหารและภัตตาคาร” ไหนจะต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว สภาพการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้คนกินอาหารนอกบ้านลดลงเหลือแค่ 1 ครั้งต่อเดือน ของแพงไม่สั่ง แถมยังสั่งลดลงจาก 6 เหลือแค่ 3 อย่าง

แต่ก็ยังเป็นธุรกิจยอดฮิตที่มีรายใหม่ๆ เปิดต่อเนื่อง แถมพฤติกรรมผู้บริโภคเวลานี้ หันไปใช้บริการออนไลน์ ดีลิเวอรี่ ที่เปิดกันเกลื่อนเมือง

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ภาวะตลาดร้านอาหารและภัตตาคารในประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 4 แสนแห่ง

แบ่งเป็น ร้านอาหารขนาดเล็กกว่าเอสเอ็มอีและหาบเร่แผงลอยประมาณ 3 แสนแห่ง และร้านอาหารขนาด 1-2 ห้องแถว รวมถึงร้านที่มีขนาดพื้นที่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป 1 แสนแห่ง ซึ่งขณะนี้พบว่าร้านอาหารที่ไม่มีแบรนด์มียอดขายตกมากกว่า 50% ส่วนร้านอาหารที่มีแบรนด์ก็มียอดขายตกลง 20-30%

สาเหตุหลักที่ร้านอาหารต่างมียอดขายตกเนื่องจากปัจจัยหลัก

  1. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว
  2. ราคาพืชผลการเกษตรและการประมงตกต่ำ
  3. การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากมีผู้ประกอบการใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
  4. ความนิยมของผู้บริโภคในการใช้บริการร้านอาหารออนไลน์และร้านอาหารประเภทบริการจัดส่ง (ดีลิเวอรี) ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่องจนปัจจุบันตลาดมีมูลค่าถึง 4 พันล้านบาท

ขณะที่ผู้ประกอบการมีค่าบริหารการจัดการร้านที่สูงขึ้น เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ วัตถุดิบ และอื่นๆ แต่คนไทยมีความถี่ในการรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลงจากเดิมคนละ 4 ครั้งต่อเดือน เหลือเพียง 1 ครั้งต่อเดือน ขณะเดียวกันยังมีการสั่งอาหารน้อยลงจาก 6 อย่างเหลือเพียง 3 อย่าง ทั้งยังมีการสั่งรายการอาหารที่ราคาไม่ค่อยสูงมากนัก ส่งผลให้รายการอาหารที่มีราคาค่อนข้างสูงขายไม่ค่อยดีนัก เช่น ปลา และกุ้งขนาดใหญ่

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้ผู้ประกอบการมีผลกำไรลดลงและมีการปรับกลยุทธ์การตลาดด้านต่างๆ โดยเฉพาะการให้ส่วนลดจากเดิมที่เคยให้มากถึง 20-25% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ภายใต้เงื่อนไขชำระด้วยเงินสด ขณะเดียวกัน ในส่วนของร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป ที่มีจำนวน 1 แสนแห่งนั้นยังพบว่ามีการปรับตัว โดยเน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%

“ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายๆ ด้านเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาการทำตลาดออนไลน์และพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ให้มีความทัยสมัยเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความต้องการความสะดวกรวดเร็วในการบริโภค”


ที่มา : manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9600000084060