เม็ดเงินสื่อโฆษณาดิจิทัลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT เผยภาพรวมงบสื่อโฆษณาดิจิทัลช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่า 6,086 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังมีการคาดการณ์เม็ดเงินสื่อดิจิทัลมูลค่า 6,019 ล้านบาท
ทำให้คาดการณ์ถึงสถานการณ์สิ้นปีนี้เม็ดเงินทะลุหมื่นล้านปิดที่มูลค่า 12,195 ล้านบาท มีการเติบโตจากปี 2559 ที่ 29% ถือเป็นตัวเลขสูงกว่าการประเมินไว้เมื่อต้นปีที่มองว่าจะมีมูลค่า 11,000 ล้านบาท และในปีนี้จะเป็นปีแรกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 2,700 ล้านบาท เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเม็ดเงินเติบโตราว 2,200-2,500 ล้านบาทเท่านั้น
ปัจจัยหลักที่ทำให้แบรนด์ และนักการตลาดหันมาใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้นเพราะมองเห็นว่าตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพูดคุยได้ การลงทุนเห็นผลมากขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ที่อยู่แต่หน้าจอมือถือ และคอมพิวเตอร์ พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีสื่อดิจิทัลรูปแบบใหม่เกิดขึ้นด้วย เช่น Native Ads เป็นตัวกระตุ้นตลาดให้ขยายตัว
ทั้งนี้ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลได้ประเมินว่าเมือ่เข้าสู่ปี 2561 เม็ดเงินสื่อดิจิทัลจะไม่โตหวือหวาอย่างเช่นปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะฐานใหญ่ขึ้น เม็ดเงินสูงขึ้น แต่แบรนด์ยังคงมีการลงทุนด้านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีก ยังคงหาช่องทางที่ทำการสื่อสารกับผู้บริโภคในหลายๆ ช่องทางอยู่
กลุ่มสื่อสารยังใช้งบมากสุด จากสงครามการแข่งขัน
เมื่อเจาะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้สื่อดิจิทัลมากที่สุด พบว่า 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มสื่อสาร มีสัดส่วน 11% มูลค่า 1,302 ล้านบาท เติบโต 21% รถยนต์ สัดส่วน 10% มูลค่า 1,280 ล้านบาท เติบโต 72% สกินแคร์ สัดส่วน 6% มูลค่า 681 ล้านบาท ติดลบ 19% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สัดส่วน 5% มูลค่า 645 ล้านบาท ติดลบ 35% และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัดส่วน 5% มูลค่า 601 ล้านบาท เติบโต 126%
สาเหตุที่กลุ่มสื่อสารมีการใช้งบดิจิทัลสูงที่สุด และยังครองแชมป์ติดกันต่อเนื่องเพราว่าการแข่งขันในตลาดอันดุเดือดของทั้ง 3 ค่ายใหญ่ เอไอเอส, ดีแทค และทรู รวมถึงรายย่อยๆ อย่างผู้เล่น MVNO มีการทำตลาดทั้งในเรื่องของการสร้างแบรนด์ และเรื่องโปรโมชั่นแพคเกจเพื่อดึงลูกค้าทั้งเก่าและลูกค้าใหม่ อีกปัจจัยสำคัญก็คือธุรกิจสื่อสารเกี่ยวของกับเทคโนโลยีโดยตรง ผู้บริโภคที่ใช้สินค้า และบริการก็อยู่บนโลกดิจิทัล การทำตลาดจึงเน้นในโลกดิจิทัลโดยตรงซึ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า
กลุ่มยานยนต์ที่มีการใช้สื่อดิจิทัลเป็นอันดับสอง และยังมีการเติบโตสูงถึง 72% เพราะกลุ่มนี้เริ่มใช้วิธีการสื่อสารด้วยครีเอทีฟ และวิดีโอออนไลน์เพื่อบอกถึงฟีเจอร์ของรถยนต์ ไม่ใช่แค่โฆษณาทางทีวีอย่างเดียวเท่านั้นแล้ว มีการใช้เฟซบุ๊ก และยูทิวบ์เพื่อบอกคุณสมบัติของรถยนต์ และมีการทำคอนเทนต์เพื่อดึงดูดให้คนไปทดลองขับรถด้วย
สำหรับกลุ่มสกินแคร์มีการใช้สื่อดิจิทัลน้อยลง มีการติดลบเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ธุรกิจสกินแคร์มีการใช้สื่อโฆษณาลดลงทั้งสื่อหลัก และสื่อดิจิทัลด้วย ประเมินว่าส่วนใหญ่เน้นการสื่อสารผ่านทาง Influencer บล็อกเกอร์ และเน็ตไอดอลต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียมากกว่า เพราะคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เม็ดเงินจากอินฟลูเอ็นเซอร์ยังไม่สามารถวัดมูลค่าได้ชัดเจน
กลุ่มการเงิน ธนาคาร ดาวรุ่งมาแรง
กลุ่มที่เป็นดาวรุ่งมีการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นได้แก่ กลุ่มการเงิน ธนาคาร และประกัน กลุ่มธนาคารมีการใช้งบเพิ่มขึ้น 43% คิดเป็นมูลค่า 561 ล้านบาท มีการใช้ช่องทางเนทีฟแอด ไลน์ และเสิร์ชมากที่สุด
กลุ่มบัตรเครดิต และบัตรเดบิตมีการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 122% มีมูลค่า 265 ล้านบาท มีการใช้ช่องทางเสิร์ช โซเชียลมีเดีย และยูทิวบ์มากที่สุด ส่วนกลุ่มประกันมีการใช้งบดิจิทัลเพิ่มขึ้น 66% มีมูลค่า 519 ล้านบาท ใช้ช่องทางเนทีฟแอด ยูทิวบ์ และเฟซบุ๊กมากที่สุด
เหตุผลที่กลุ่มการเงิน ธนาคารมีการใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ชอบเปรียบเทียบข้อมูลสินค้า และบริการก่อนทำการตัดสินใจซื้อทั้งสิ้น แล้วกลุ่มการเงิน ธนาคาร ประกันหลายแบรนด์มักออกสินค้า บริการใกล้เคียงกัน จับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียกวัน ทำให้เกิดการหาข้อมูลเปรียบเทียบ หรือรีวิวจากผู้มีประสบการณ์ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งยุคนี้ธุรกิจการเงินมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก ทั้งโมบายล์แอป อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง รับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ จึ้งใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการสื่อสาร
เฟซบุ๊ก–ยูทิวบ์ ครองแชมป์ใช้สื่อ
เมื่อจำแนกประเภทของสื่อดิจิทัลที่มีนักการตลาดใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลมากที่สุดยังคงเป็นเฟซบุ๊กครองแชมป์อันดับหนึ่งในสัดส่วน 28% มีมูลค่า 3,416 ล้านบาท รองลงมาคือยูทิวบ์สัดส่วน 14% มีมูลค่า 1,651 ล้านบาท ดิสเพลย์ 11% มูลค่า 1,331 ล้านบาท โซเชียลมีเดีย 9% มูลค่า 1,134 ล้านบาท และเสิร์ช 9% มูลค่า 1,084 ล้านบาท