“ไลฟ์สตรีมมิ่ง” แข่งดุ ฟินิกซ์ ทีวี ดึง “อีเจี๊ยบ-จ่าพิชิต-แหม่มโพธิ์ดำ” ขึ้นผัง

ไม่ใช่แค่ทีวี และโอทีที  แต่เวลานี้ “ไลฟ์สตรีมมิ่ง” กำลังอีกหนึ่งใน “มีเดีย” ที่เข้ามาสร้างทางเลือกใหม่ๆ ใหักับคนดู แถมเวลานี้ ผู้เล่นต่างชาติและไทย พร้อมใจเปิดศึกแย่งชิงคนดู ล่าสุด ฟีนิกซ์ ทีวี ต้องดึงเพจดัง ขึ้นผังรายการ

ปัจจุบัน ตลาดในไทย จะมีผู้ให้บริการไลฟ์สตรีมมิ่งมีประมาณ  4-5 ราย โดยผู้เล่นที่ยึดกุมส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากประเทศ ตลาดอันดับหนึ่ง คือ bigo live ตามด้วย kitty live และ Beetalk

เมื่อผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามายึดครอง การจะปั้นแพลตฟอร์มไทยขึ้นมาสู้ จึงต้องสร้างจุดต่าง “ฟินิกซ์ ทีวี” (Finix TV) ถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกๆ ของไทย โดยอดีตมืออาชีพด้านการตลาดในธุรกิจเครื่องดื่ม  “สรกฤต ลัทธิธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีมีเตอร์ อินโนเวชั่น จำกัด  ได้มองหาความ”แตกต่าง” โดยการคัดกรองคอนเท้นท์ก่อนออกอากาศ ซึ่งเป็นช่องว่างที่แพลทฟอร์มต่างชาติไม่ได้ทำ จึงมีคอนเท้นท์ที่ไม่เหมาะสมทำให้ภาพบริการไลฟ์สตรีมจึงติดลบ

ขณะเดียวกัน ต้องสร้าง”จุดขาย”ด้วยคอนเท้นท์แบบไทยๆ เน้นรูปแบบการไลฟ์สด   เช่น ห้องข่าว ห้องดนตรี ห้องแฟชั่น ห้องหมอดู ห้องตลก ห้องท่องเที่ยว เป็นต้น  โดยจะเน้นไปที่กลุ่มคนดูที่มีอายุ 18-30 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ล่าสุดได้รับการตอบรับร่วมเป็นพันธมิตรในการขายสินค้าจาก Spa Hukkuhodo นำเสนอ 3 คอนเทนต์  คือ

1. Social Talents รวมเหล่าดีเจ เน็ตไอดอล ที่มีความโดดเด่นและความสามารถกว่า 700 คนมาจัดรายการออนไลน์รูปแบบต่างๆ เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี ตลก ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น

2. กลุ่ม KOL (Key Opinion Leader) เจ้าของเพจดังๆ  ราว 4-5 เพจ สำหรับขาเมาท์ที่ชอบเกาะติดข่าวเด่น ข่าวร้อนทุกวงการ โดยเจ้าของเพจดังที่มีผู้ติดตามกว่าล้านคนมาจัดรายการร่วมกับเหล่าดีเจชื่อดังของ ฟินิกซ์ทีวี เช่น อีเจี๊ยบเลียบด่วน, จ่าพิชิตจากเพจ ดราม่าแอดดิก, แหม่มโพธิ์ดำ และหมอแล็บแพนด้า เพจขอบสนาม เป็นต้น

3. กลุ่มโปรเฟสชันนัลคอนเทนต์ ที่มาจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ หรือ ช่องทีวีดิจิทัล มาจัดรายการออนไลน์ เพื่อดึงผุ้ใช้งานต่อเนื่อง ได้แก่ Maxim, Her world, ลูกทุ่งช้างไท ศิลปินจากก่อนบ่ายคลายเครียด สาวงามจากเวทีMiss Supranational, MCOT Radio Networks รวมถึงศิลปินดังอย่าง เสก โลโซ เป็นต้น

เหล่าดีเจและกลุ่มคนที่จะมาร่วมเป็นพันธมิตรไลฟ์สดใน 1 ปีแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกับทางช่องทีวีดิจิตอลในการที่จะต่อยอดรายการมาสู่รูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งด้วย ขณะที่ปัจจุบันจะมีการจัดเป็นผังไลฟ์สดให้กับแต่ละช่อง แต่ส่วนใหญ่จะมีการไลฟ์สดมากสุดในช่วง 18.00 น. ซึ่งสูงสุดของฐานผู้ชมต่อรายการอยู่ในหลักหมื่นคนขึ้นไป ขณะที่ปัจจุบันฟินิกซ์ทีวีสามารถรอบรับผู้ชมในช่วงเวลาเดียวกันได้ราว 1-2 หมื่นยูสเซอร์

จากช่วงที่ผ่านมา เปิดทดลองให้บริการมา 3 เดือน ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้เข้ามาในระบบแต่ละวันประมาณ 20,000 ราย โดยตัวฟินิกซ์ ทีวี สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันได้ประมาณ 10,000 ราย และเมื่อเห็นแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ก็พร้อมที่จะขยายระบบให้รองรับมากยิ่งขึ้น

ฟินิกซ์ทีวีตั้งเป้ารายได้ปีแรกไว้ที่ 200 ล้านบาท โมเดลการหารายได้ จะมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1. การขายสติกเกอร์กิฟต์  และไอเท็มให้กับผู้ที่ไลฟ์ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 10 สต.-3,000 บาท 2. รายได้จากสปอนเซอร์ของแบรนด์ต่างๆ รวมถึงการแบ่งรายได้กับผู้ดำเนินรายการไลฟ์สดด้วย

ขณะที่ผู้ทำการไลฟ์สดนั้นจะมีรายได้จาก 2 ส่วนหลัก คือ 1. รายได้จากสติกเกอร์หรือไอเท็มที่ผู้ชมส่งให้ 2. สปอนเซอร์ที่มากับรายการ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้ไลฟ์สดบางรายทำการไลฟ์สดไปเพียง 2 อาทิตย์ มีรายได้เข้ามาแล้วกว่า 2 แสนบาทจากการได้รับกิฟต์และไอเท็ม

จากนั้นในอนาคต จะต่อยอดธุรกิจจากแพลตฟอร์มไลฟ์ออนไลน์ให้กลายเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าในระบบอีคอมเมิร์ซ ที่มีฐานลูกค้าเข้าใช้งานจำนวนมากในอนาคตต่อไป


ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000089624