จากดีลล่าสุดที่ ตระกูล สิริวัฒนภักดี ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 50% ในช่องจีเอ็มเอ็ม25 ของแกรมมี่ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์ของธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” เวลานี้ ที่ได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือ “เจ้าสัว” มหาเศรษฐีของไทย ที่กำลัง “ช้อป” ช่องทีวีกันอย่างสนุกสนาน
ดีลแรกในการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัลของ กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน คือ การนำบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ซึ่งมีลูกชายทั้ง 2 คือ ฐาปน และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในบริษัทอมรินทร์เมื่อปลายปี 2559 ในสัดส่วน 47.62% โดยใช้เงินทั้งหมดเพียง 850 ล้านบาท
ส่งผลให้กลุ่มสิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่องอมรินทร์ ในขณะที่ครอบครัวอุทกะพันธ์ จะถือหุ้นเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 30.83%
การเปิดทางให้กับ บริษัทวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น เพราะความพร้อมในเรื่องของ “เงินทุน” เนื่องจากค่ายอมรินทร์ต้องประสบภาวะ “ขาดทุน” มาตลอดในช่วง 2-3 ปี นับตั้งแต่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากและต่อเนื่อง ทั้งค่าใบอนุญาต และการผลิตคอนเทนต์ ในขณะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เองก็อยู่ในช่วง “ขาลง”
ดีลครั้งนั้นประเมินว่า คุ้มค่ามากสำหรับสิริวัฒนภักดี เพราะอมรินทร์มีทั้งทีวีดิจิทัลในมือ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หัวนิตยสารอีกหลายฉบับ โรงพิมพ์ ธุรกิจจัดจำหน่าย ร้านหนังสือ
แม้ว่าการเข้ามาซื้อหุ้น “อมรินทร์” จะไม่ใช่เป็นความตั้งใจแรกที่จะเข้าสู่ธุรกิจทีวีอย่างจริงจัง เพราะกลุ่มเจ้าสัวเจริญต้องการซื้อกิจการโรงพิมพ์ และร้านหนังสืออมรินทร์เพื่อมาต่อยอดร้านหนังสือ “เอเชียบุ๊คส์” ที่ได้เทกโอเวอร์ 100% ไปก่อนหน้านี้เมื่อกลางปี 2554 ด้วยมูลค่า 1,195 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่าย ”ร้านค้าปลีก” ที่จะถูกพัฒนาต่อยอดไปในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ติดไม้ติดมือก็ถือเป็น “เป้าหมาย” หลักของการ “ซื้อหุ้น” และซื้อธุรกิจของ “เสี่ยเจริญ” มาตลอด ซึ่งกลุ่มอมรินทร์เองก็มี “ที่ดิน” ที่เป็นที่ตั้งโรงพิมพ์และสำนักงาน ในย่านปิ่นเกล้า–นครชัยศรี ที่ถือเป็นทำเลสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
แต่ช่วงแรกของการได้อมรินทร์ทีวีมาอยู่ในมือ ถือเป็นธุรกิจใหม่ที่กลุ่มเสี่ยเจริญเองยังไม่มีความชำนาญ จึงปล่อยให้ทีมบริหารเดิม ยังคงมุ่งเน้นคอนเทนต์ข่าวบ้านไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยวมุ่งรองรับกับกลุ่มคนดูที่เป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เพราะถือเป็นจุดเด่นและเป็นฐานหลักของอมรินทร์อยู่แล้ว
แม้ว่าช่วงหลังไทยเบฟฯ เองต้องการใช้สื่อทีวีในการโปรโมตเพิ่มขึ้น แต่เมื่อฐานคนดูของช่องอมรินทร์ไม่ใช่ฐานลูกค้าของไทยเบฟฯ โดยตรง การจะปรับเปลี่ยนแนวทางของช่องไปลงตลาดแมสก็อาจจะมีแรงเหวี่ยงมากเกินไป อาจทำให้สูญเสียฐานคนดูกลุ่มเดิมไป
ฐาปน จึงมองหา “ช่องทีวี” อีกช่อง เพื่อไว้เป็นช่องทางในการ “สื่อสาร” โปรโมตให้กับสินค้าในเครือไทยเบฟฯ เพราะธุรกิจทีวียังคงเป็น “มีเดีย” หลักที่สามารถเข้าถึงคนทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลเองตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ การแย่งชิงรายได้จากโฆษณาที่ก้อนเล็กลง เศรษฐกิจที่ซบเซายังต้องแบกรับปัญหาขาดทุนต่อเนื่องหลายช่อง จึงเปิดรับหาผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์
รวมทั้งจีเอ็มเอ็ม25 เอง ที่ “อากู๋–ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็ต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหม่มาช่วยแบ่งเบาเรื่องเงินลงทุน เพราะแกรมมี่ซึ่งเป็นบริษัทแม่ต้องการปรับยุทธศาสตร์ ผันตัวไปทำธุรกิจรับจ้าง “ผลิตคอนเทนต์” แทนที่จะเป็นเจ้าของ “มีเดีย” ที่ต้องใส่เงินจำนวนมาก
ช่องจีเอ็มเอ็ม25 ถือว่าเป็นช่องที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก และมีคอนเทนต์ ชัดเจนมากที่สุดช่องหนึ่ง ทั้งละคร ซีรีส์ ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่าง คลับฟลายเดย์ ที่ถือเป็นไฮไลต์ในการเข้าถึงฐานคนดูในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของการเข้ามาถือหุ้น 50% ของตระกูลสิริวัฒนภักดี คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้าน เพื่อต้องการให้จีเอ็มเอ็ม25 ช่อง fighting brand ในการโปรโมตสินค้าในเครือไทยเบฟฯ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ห้างสรรพสินค้า ไปยังฐานลูกค้าทั่ว
ดังนั้นทิศทางของช่องจีเอ็มเอ็ม25 จะไม่ได้เป็นแค่ช่องของคนเมือง โดยเฉพาะคนกรุงอย่างปัจจุบัน แต่จะขยายไปหัวเมืองตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีคอนเทนต์ ละคร วาไรตี้ เกมโชว์ เป็นหัวหอก รวมทั้งวิทยุ เอไทม์ มีเดีย อีก 2 คลื่นจะต้องปรับตามทิศทางใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
ทางด้านแกรมมี่เอง หลังจากบาดเจ็บอย่างหนักจากธุรกิจเพย์ทีวี GMM Z ทยอยขายกิจการ รวมทั้งขายหุ้นเพิ่มทุนใน “ช่องวัน” ไปให้กับกลุ่มนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของช่องพีพีทีวี ที่ตัดสินใจ ควักเงิน 1,910 ล้านบาท ซื้อหุ้น 50% ในช่องวันซึ่งมีจุดเด่นในการผลิตละครซีรีส์ที่แข็งแกร่งมีแบรนด์ที่ชัดเจน
ในขณะช่องพีพีทีวีนั้น หมอเสริฐเองก็หมดเงินไปหลายพันล้านเพื่อหา “จุดยืน” ให้กับช่องมาตลอด ทั้งซีรีส์เกาหลี ข่าว รวมทั้งละคร ที่แม้จะผลิตละครชุดอมตะของไทยอย่าง ปริศนา, เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี แต่ก็ไม่เปรี้ยง เพราะยังขาดประสบการณ์ ช่วงหลังจึงหันมาเน้นคอนเทนต์ “กีฬา”
ที่ต้องจับตาต่อ คือ “ดีล” ของเศรษฐีตระกูล “พานิชชีวะ” กลุ่มทุนไทยรุ่นเก๋า มีกิจการหลากหลาย ทั้งกระจกไทยอาซาฮี ธุรกิจประกัน อสังหาริมทรัพย์ และดอนเมืองโทลล์เวย์ อยู่ระหว่างดีลขั้นสุดท้ายในการซื้อช่อง Now 26 จากกลุ่มเนชั่น เวลานี้ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เพื่อรอผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาเต็มตัว พร้อมกับวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นช่องวาไรตี้ “Millennium” จับกลุ่มคนรุ่นใหม พร้อมๆ กับกลุ่มกาญนพาสน์ที่จะมาซื้อหุ้นช่องเนชั่นทีวี
แน่นอนว่าหลังยุคผลัดใบ ได้เศรษฐีเงินหนามาถือหุ้น ดีกรีการแข่งขันธุรกิจทีวีต้องดุเดือดขึ้นตามมาด้วย เพราะช่องวัน และจีเอ็มเอ็ม25 ต้องใส่คอนเทนต์เร่งขยายฐานคนดูและเรตติ้งชิงเค้กโฆษณากับเจ้าตลาดเดิมอย่าง ช่อง 7 และ ช่อง 3 เจ้าตลาด ที่ต้องเจอศึกหนักยิ่งขึ้น หลังจากที่ต้องโดน Work Point TV ไล่บี้มาติดๆ