เปิดยุทธศาสตร์ MUJI 2020 ดัมพ์ราคาให้เท่าญี่ปุ่น ปิดช่องว่างราคาเข้าถึงยาก

ถ้าพูดถึงแบรนด์มูจิเชื่อว่าเป็นอีกแบรนด์ที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ และให้ความสนใจเป็นพิเศษอีกแบรนด์หนึ่ง เพราะด้วยคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ที่ค่อนข้างชัดเจน มีความมินิมอล มีวัฒนธรรม และคนไทยชื่นชอบแบรนด์ญี่ปุ่นเป็นพิศษอยู่แล้วด้วย ความแข็งแกร่งของแบรนด์สามารถสร้างสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้ใช้ได้ จนกลายเป็นจุดเด่นที่หลายคนชอบมูจิ

มูจิได้วางจุดยืนแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่ภายในร้านจะมีจำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่แฟชั่น เครื่องเขียน สุขภาพความงาม เฟอร์นิเจอร์ และอาหาร ปัจจุบันมีสาขารวมทั่วโลก 855 สาขา เป็นสาขาในญี่ปุ่น 420 สาขา และนอกญี่ปุ่น 435 สาขา

สำหรับในประเทศไทยมีทั้งหมด 15 สาขา มูจิได้เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 เป็นเวลานับ 10 ปีได้แล้ว ในตอนแรกเป็นการทำตลาดรูปแบบของร้านแฟรนไชส์ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ในตอนนั้นทางมูจิเองก็สนใจในการทำตลาดในไทยอยู่แล้ว แต่ช่วงนั้นที่ประเทศไทยมีกฎระเบียบเรื่อง BOI ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนยาก หลังจากนั้นได้มีการปรับกฎใหม่ทำให้ต่างชาติลงทุนง่ายขึ้น

ในปี 2556 ทางมูจิได้เดินหน้าลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจการร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท เรียวฮินเคคาขุ จำกัด เจ้าของแบรนด์มูจิ กับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดเป็นบริษัทใหม่ในนาม บริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้มีการลงทุนทำการตลาดมากขึ้น

คุณซาโตรุ มัทสึซากิ ประธานกรรมการผู้จัดการและตัวแทนผู้บริหาร บริษัท เรียวฮิน เคคาขุ จำกัด

ในปีนี้ถือโอกาสครบรอบ 10 ปีที่ทำตลาดในประเทศไทย และห้างเซ็นทรัลก็ครบรอบ 70 ปีจึงได้จัดนิทรรศการ “What is MUJI?” แก่นแท้งานดีไซน์สไตล์มูจิ งานนี้ ซาโตรุ มัทสึซากิ ประธานกรรมการผู้จัดการ และตัวแทนผู้บริหาร บริษัท เรียวฮินเคคาขุ จำกัด ได้บินตรงจากประเทศญี่ปุ่นมาเปิดงาน และได้พูดคุยถึงแผนธุรกิจในประเทศไทยด้วย

ภาพบรรยากาศงานนิทรรศการ What is MUJI

ปีนี้มูจิได้วางโรดแมปไปจนถึงปี 2020 หรือ พ.. 2563 ในหลายๆ ด้าน หลักๆ มี 4 ข้อด้วยกัน ได้แก่ 1.เพิ่มขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับสินค้าที่มีมากขึ้น ปัจจุบันร้านมูจิมีพื้นที่เฉลี่ย 725-750 ตารางเมตร มีแผนปรับร้านค้าให้มีพื้นที่มากขึ้นอยู่ที่ 1,000-1,700 ตารางเมตร ได้ทยอยปรับสาขาควบคู่ไปกับการขยายสาขาใหม่ ในประเทศไทยได้เริ่มปรับที่เซ็นทรัลเวิลด์เป็นที่แรกด้วยพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร เป็นแฟล็กชิพสโตร์ สาเหตุที่มีการปรับเพิ่มพื้นที่ เพราะต้องการเพิ่มเชลฟ์วางสินค้าให้เพียงพอต่อสินค้าใหม่ๆ ที่มีเพิ่มทุกปี รวมถึงมีพื้นที่สำหรับจัดเวิร์คช้อปด้วย

ในแต่ละปีมีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเยอะ สินค้าที่มาแรงก็เป็นทั้งสุขภาพความงาม สินค้าภายในบ้าน สินค้าแฟชั่น ทำให้พื้นที่เดิมไม่เพียงพอ อีกปัจจัยหนึ่งก็คือเพิ่มพื้นที่สำหรับเวิร์คช้อป อยากให้ร้านเป็นที่พบปะผู้คน มีการจัดเวิร์คช้อปให้คนมีความสนใจเหมือนกันมาเจอกัน อาจจะทำให้คนเข้าร้านถี่มากขึ้นกว่าเดิมด้วยก็ได้ซาโตรุกล่าว

2.พัฒนานวัตกรรมของสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค จุดยืนของมูจิเน้นผลิตสินค้าขายที่ฟังก์ชันและเป็นสินค้าเรียบง่าย ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน โจทย์ของมูจิก็คือต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ ซาโตรุบอกว่ามูจิเริ่มจากขายสินค้าที่ฟังก์ชันไม่ได้ขายที่แบรนด์ คนที่ซื้อคือคนที่ได้ใช้งานจริงๆ ทำให้แบรนด์มีการเติบโตดีมาก ตลอดจนการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ต้องมีนวัตกรรมอย่างเช่นผ้าเช็ดโต๊ะจะต้องดูดซึมน้ำได้ดีขึ้น

ซาโตรุได้ยกตัวอย่างถึงสินค้ากลุ่มถุงเท้า ตอนนี้มียอดขายรวม 5,900 ล้านเยน มีส่วนแบ่งตลาด 1.8% ในตลาดถุงเท้าในญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 3-5% มองไปถึงสินค้าอื่นๆ ก็ต้องการส่วนแบ่งตลาด 3-5% เช่นกัน จึงต้องเน้นสร้างคุณภาพให้สินค้า

3.รายได้รวมโต 10% ในทุกปี พร้อมกับมีการลงทุนเมากขึ้น ในปีนี้ได้ใช้งบลงทุน 10,000 ล้านเยน เป็นในเรื่องของขยายสาขา พัฒนาสินค้า และงบด้านไอที ให้ความสำคัญกับระบบไอทีมากขึ้น การจะสร้างการเติบโตให้ได้ 10% ในทุกปีจนถึงปี 2020 ต้องมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน

แผนการขยายสาขาในญี่ปุ่นเฉลี่ย 15-20 สาขา/ปี ส่วนในต่างประเทศเฉลี่ย 50-60 สาขา/ปี ในทีนี้อยู่ที่ประเทศจีนจำนวน 30 สาขา ส่วนในไทยได้วางแผนขยาย 1-2 สาขา/ปี จากปัจจุบันมี 15 สาขา

4.ปรับราคาให้เท่าประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2020 ถือว่าเป็นความท้าทายหลัก และเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะในตอนนี้เรื่องราคาเป็นเหมือนช่องว่างใหญ่ที่ทำให้มูจิไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าที่ใจต้องการ ด้วยความที่วางจุดยืนไว้ที่เป็นสินค้าที่ราคาจับต้องได้ แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศมีเรื่องการขนส่งภาษีต่างๆ นานาทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปจนผู้บริโภคมองว่าเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยม

การบ้านของมูจิในตอนนี้คือเรื่องของราคา ต้องทำให้ลูกค้าซื้อได้ง่ายขึ้น ทำให้ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ทุกๆ ปีมีการปรับราคาลงมาเรื่อยๆ อยู่ มีแผนทำให้เท่ากันทั่วโลกอาจจะต่างกันนิดหน่อย เพื่อให้เป็นตามวิสัยทัศน์ผลิตของให้ใช้งานได้จริง และเข้าถึงได้ง่าย

ปัจจุบันสินค้ามูจิในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าญี่ปุ่นอยู่ 10-20% ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า สาเหตุที่สูงกว่าเพราะเรื่องภาษีนำเข้า ค่าขนส่งต่างๆ ทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ที่มูจิต้องกลับไปแก้เกม อาจจะเป็นเรื่องของคุมฐานการผลิตเพื่อให้ประหยัดค่าขนส่งก็ได้

อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่มูจิต้องการผลักดันมากขึ้นก็คือการก้าวเข้าสู่เป็นแบรนด์ระดับโลก นั่นก็คือการทำตลาดต่างประเทศ ในปีนี้ได้เริ่มการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ที่เชื่อมข้อมูลของทุกประเทศไว้ด้วยกัน จากเดิมที่มูจิจะมีแผนก Oversea Department ทั้งเรื่องขาย กฎหมาย และการบริหารบุคลากร แต่ในตอนนี้ได้เริ่มวางระบบให้ข้อมูลเข้าถึงกันได้ง่าย วางระบบให้บริษัทมีความเป็นโกลบอลมากขึ้น เพื่อการบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ตั้งเป้าว่าจะทำครบสมบูรณ์ภายในปี 2020

ถ้าย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของแบรนด์มูจิแล้วนั้น มูจิได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.. 2523 ปัจจุบันมาอายุ 37 ปีแล้ว เริ่มต้นจากความคิดหลักว่าต้องเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่เรียบง่าย ต่ำทุนต่ำ และมีคุณภาพ ได้ยึดหลัก 3 อย่างในการผลิตคือ การคัดสรรวัตถุดิบ, การปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และการทำบรรจุภัณฑ์ให้เรียบง่าย ยกตัวอย่างเช่น การไม่ฟอกสีเยื่อกระดาษาทำให้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ และได้นำกระดาษนั้นมาใช้กับบรรจุภัณฑ์และฉลากของมูจิ ทำให้สินค้าดูเป็นธรรมชาติ และที่สำคัญคือสิค้าจะไม่มีตราโลโก้ นั่นคือยุทธ์ศาสตร์สร้างแบรนด์โดยไม่มีแบรนด์ สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่น แต่สินค้ามีคาแร็กเตอร์ชัดที่สามารถบ่งบอกว่าเป็นสินค้ามูจิได้

สำหรับรายได้ของมูจิในปีที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ 332,500 ล้านเยน ในปีนี้มีการตั้งเป้าการเติบโตที่ 10% โดยที่ 3 หมวดสินค้าที่ขายดีที่สุดได้แก่เครื่องเขียน สุขภาพความงาม และเฟอร์นิเจอร์.