สถานการณ์ปัจจุบันกับเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว สภาพของสายการบิน “นกแอร์” ที่มากับสโลแกน “ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม” ต่างกันชนิดเป็นหนังคนละม้วน
นกแอร์สายการบินที่เคยเปรี้ยง ซีอีโอเคยพีค ได้ใจคนรุ่นใหม่กลับกลายเป็นสายการบินที่เกิดวิกฤตบ่อยครั้งจนมาถึงวันที่ซีอีโอต้องลาออก “เงิน” เท่านั้นที่จะต่อลมหายใจสายการบินนี้ได้ ประกายความหวังเที่ยวล่าสุดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนเพิ่มทุนอีกครั้ง และครั้งนี้การบินไทยก็พร้อมลงเงินเพิ่ม
“พาที สารสิน” ซีอีโอ แบรนดิ้ง ถึงเวลาแลนดิ้ง
“พาที สารสิน” ซีอีโอนกแอร์ นับเป็นซีอีโอสุดฮอตมานาน โดยเฉพาะช่วงก่อตั้งสายการบินใหม่ๆ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2556 ที่ทั้งนกแอร์ และ “พาที” เป็นข่าวในแวดวงธุรกิจ บนพื้นที่สื่อต่อเนื่องชนิด “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” หรือถ้าเป็นยุดนี้ต้องเรียกได้ว่า “สนั่นโซเชียล อันนี้พีค” เลยทีเดียว
โดยเฉพาะช่วงปี 2550-2556 ที่ “พาที” ท็อปฟอร์ม รักษาจุดยืนการทำธุรกิจด้วยการยึดกลยุทธ์การทำตลาดแบบฉีกแนว สร้างสีสันในวงการอย่างมาก เดินตามสูตร “ซีอีโอ แบรนดิ้ง” เป๊ะ เพื่อส่งต่อแบรนด์สายการบินให้ดังตามซีอีโอ อย่างเช่นการนำทีมผู้บริหารแต่งตัวเลียนแบบเป็นเด็ก 3 ขวบ นำแสดงในแคมเปญ “3 ขวบ 3 บาท” คือค่าตั๋ว 3 บาท 33,000 ที่นั่ง ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการก่อตั้งสายการบินนกแอร์ นับตั้งแต่ปี 2547
ปัจจุบันขึ้นปีที่ 13 ปีของทั้ง “พาที” และ “นกแอร์” ที่เวลานี้ “พาที” แลนดิ้งยุติบทบาทการเเป็นซีอีโอนกแอร์เรียบร้อยแล้ว
ส่วนนกแอร์อาการสาหัสมาแล้วระยะหนึ่ง เพราะปัญหาภายในที่มีความขัดแย้งมานานระหว่าง “พาที” กับกลุ่มนักบินบางกลุ่ม จนเกิดการประท้วงด้วยการหยุดบิน ทำให้ผู้โดยสารเคว้ง รอเก้อที่สนามบินนับร้อยนับพัน ซึ่งแต่ละนาทีที่เที่ยวบินดีเลย์ คือทุกนาทีที่ชื่อเสียงของสายการบินเสียไปเรื่อยๆ เพราะมีทวีต แชร์ คอมเมนต์ ที่บอกต่อ “ความดีเลย์ และความปั่นป่วน” จนกลายเป็นจุดเด่นใหม่ของนกแอร์แทนที่สโลแกน “ทุกเที่ยวบินมีรอยยิ้ม”
เมื่อนกแอร์อ่อนแอจากภายใน ย่อมไม่มีแรงสู้กับศึกภายนอก ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งกันของธุรกิจสายการบินที่รุนแรง ที่ใคร ๆ ก็มาทุ่มเล่นเกมโลว์คอสต์กัน ชนิดที่ว่าถ้าไม่มีกลยุทธ์ที่ดีพอ บริหารต้นทุนให้ต่ำจริงไม่ได้ ที่สำคัญเครือข่ายการบินและทุนที่ไม่หนาพอ ต่อให้ “ซีอีโอ” ดังแค่ไหน ก็ช่วยไม่ได้
ผู้ถือหุ้นเลิกอุ้ม นักลงทุนรายย่อยติดดอยเจ็บหนัก
สายการบินนกแอร์ เป็นสายการบินลูกของการบินไทย สายการบินแห่งชาติที่ผู้บริหารการบินไทยขณะนั้นหวังว่าจะเป็นไฟท์ติ้งแบรนด์ เพื่อสู้กับไทยแอร์เอเชีย “ใคร ๆ ก็บินได้” ที่บุกตลาดโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในไทยเมื่อปี 2546
ช่วงเริ่มก่อตั้งนกแอร์ในปี 2547 การบินไทยถือหุ้นใหญ่ 49% บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด 6% ธนาคารไทยพาณิชย์ 5% ช่วงฟ้าสีทองผ่องอำไพของนกแอร์คือปี 2556 ที่ “พาที” และคณะผู้บริหารสามารถแต่งตัวให้นกแอร์มีมูลค่า จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ด้วยราคาหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนหุ้นละ 26 บาท
ปี 2556 นกแอร์โชว์ผลประกอบการ ทำรายได้ทะลุหมื่นล้านบาท ปิดตัวเลขสวยงามที่ 11,314 ล้านบาท และกำไร 1,066 ล้านบาท แต่ผู้ถือหุ้นได้สัมผัสรสชาติกำไรเพียงปีเดียว แน่นอนราคาหุ้นไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นมีรอยยิ้มอีกต่อไป โดยเฉพาะรายย่อยบางคนที่อาจติดดอยอยู่ที่เกือบ 27 บาท เพราะ ณ สิ้นปี 2556 ราคาหุ้นนกแอร์ตกไปอยู่ที่ 19 บาท นั่นหมายถึงใครที่จองซื้อไว้ 26 บาท และไม่ได้ขาย ก็ขาดทุนไปแล้ว 7 บาท
ณ สิ้นปี 2557 นกแอร์ขาดทุน 471 ล้านบาท ราคาหุ้นวูบไปอยู่ที่ 13.10 บาท ปี 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท ราคาหุ้นหลุดไปอยู่ที่ 6.80 บาท หรือต่ำกว่าตอนเสนอขายครั้งแรกกว่า 4 เท่า คนที่เคยซื้อไว้ที่ 26 บาท ก็ขาดทุนไปแล้วเกือบ 20 บาท
แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม่เลิกอุ้มลูก การเพิ่มทุนแต่ละครั้ง ผู้ร่วมก่อตั้งช่วงแรกไม่ใส่เงินเพิ่ม แม้แต่การบินไทยก็ยังเมิน แถมยังคลอดลูกคนใหม่ คือสายการบินไทยสมายล์มาชิงตลาดกลุ่มเดียวกัน ที่แม้การบินไทยจะพยายามปฏิเสธ แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเกมนี้การบินไทยอยากจะเลิกอุ้มนกแอร์แล้ว
พีคสุดในวันวาเลนไทน์ ปี 2559 ที่นักบินประท้วง หยุดบิน จนทำให้ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก เป็นการหยุดบินหลังจากที่การต่อรองเรื่องการบริหารจัดการทั้งจำนวนชั่วโมงการบินและค่าตอบแทนไม่สามารถตกลงกันได้ ขณะที่ฝ่ายบริหารชี้แจงว่าเป็นเพราะความไม่พอใจเรื่องการเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบการบิน ความขัดแย้งรุนแรงจนต้องประกาศลดเที่ยวบิน
ปี 2559 แม้นกแอร์จะมีตัวเลขรายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มเพราะขยายฝูงบิน การซ่อมบำรุงเครื่องบิน และที่สำคัญรายได้จากค่าโดยสารลดลง เพราะการลดเที่ยวบิน หลังวิกฤตวันวาเลนไทน์ จนปี 2559 ขาดทุน 2,295 ล้านบาท ราคาหุ้นขยับจากปี 2559 ปิดที่ 7.40 บาท ครึ่งปีแรกของปี 2560 นกแอร์ขาดทุนไปแล้ว 945 ล้านบาท และบางวันราคาหุ้นต่ำกว่า 4 บาท
ตัวเลขขาดทุน และราคาหุ้นคือหลักฐานชัดว่านกแอร์อ่อนแอมาก เพราะคู่แข่งอย่างไทยแอร์เอเชีย มีกำไรทุกปี โดยปี 2556 กำไร 1,042 ล้านบาท ปี 2557 กำไร 183 ปี 2558 กำไร 1,078 ล้านบาท ปี 2559 กำไร 1,869 ล้านบาท ครึ่งปีแรก 2560 กำไร 740 ล้านบาท
ส่วนราคาหุ้น ก็ขึ้นจากปี 2556 ที่ปิดที่ 3.66 บาท ปี 2557 ปิดที่ 4.30 บาท ปี 2558 ปิดที่ 5.25 บาท ปี 2559 ปิดที่ 6.05 บาท ครึ่งแรกปี 2560 ปิดที่ 6.40 บาท
ขณะที่นกแอร์ต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อแข่งขันให้ได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในการบินไทย และ “พาที” คือการบินไทยที่ขาดทุนหนักอยู่หลายปี จึงไม่พร้อมเพิ่มทุนในนกแอร์เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และยอมลดสัดส่วนหุ้นลงจาก 39% เหลือประมาณ 21% เจ้าของนกแอร์เปลี่ยนไป กลายเป็นคนในตระกูล “จุฬางกูร” ถือหุ้นรวมกว่า 36%
น่านฟ้าที่กว้างใหญ่ของธุรกิจสายการบิน จึงไม่มีที่ว่างสำหรับ “พาที สารสิน” อีกต่อไป
หลัง “พาที” ลุกจากเก้าอี้ซีอีโอ 14 ก.ย. วันรุ่งขึ้นหุ้นนกแอร์พุ่งขึ้น ราคาปิดตลาดบวก 8.79% จาก 4.78 บาท ปิดที่ 5.20 บาท และปิดบวกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันบริษัทได้แต่งตั้งให้ “ปิยะ ยอดมณี” เป็นซีอีโอแทน คนที่ “พาที” เคยบอกกับ POSITIONING ว่าที่มาของชื่อสายการบินนี้มาจากชื่อเล่นของ “ปิยะ” รองซีอีโอคู่กายของเขา ที่มีชื่อเล่นว่า “นก”
ขณะที่นกแอร์ต้องการเงินเพื่อลงทุนรอบใหม่ ล่าสุดในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันที่ 20 ก.ย. มีข่าวดีสำหรับนกแอร์คือที่ประชุมอนุมัติแผนการเพิ่มทุน และข่าวดีกว่านั้นคือ การบินไทยก็ประกาศพร้อมใส่เงินเพิ่มทุนประมาณ 300 ล้านบาทเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นประมาณ 21% ไว้
“ปิยะ” ซีอีโอคนใหม่ เปิดเผยว่า คาดว่าจะระดมทุนรอบนี้ได้ 1,700 ล้านบาท และจะนำไปใช้ลงทุนรองรับการขยายฝูงบิน เปิดเส้นทางไปจีน และจะเพิ่มฝูงบินเพื่อเส้นทางระยะไกลมากขึ้น ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการในช่วง 3 ปี คือ ปี 2560-2562 แน่นอนเน้นเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย เตรียมปลดระวางเครื่องบินเก่า คือ โบอิ้ง 737-800 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินแบบใบพัด ATR จำนวน 2 ลำ เหลือโบอิ้งให้บริการ 16 ลำ
ส่วนปี 2561 ยังไม่มีกำหนดรับมอบเครื่องบินใหม่ เริ่มรับมอบเครื่องบินใหม่ปี 2562 รวม 8 ลำเป็นโบอิ้ง 737 MAX เช่า 2 ลำ และซื้อ 6 ลำ ปี 2562 รับมอบอีก 2 ลำ ปี 2563 รับมอบ 2 ลำ และปี 2564 รับมอบ 4 ลำ รวมใน 4 ปีข้างหน้าจะมีเครื่องบินใหม่ 16 ลำ
การเพิ่มทุนเที่ยวล่าสุด อาจเป็นแสงสว่างอีกครั้งของนกแอร์ในสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรง ที่ยังต้องรอพิสูจน์ฝีมือซีอีโอคนใหม่ ที่เวลานี้มีทางเลือกเพียงแค่ต้องพานกแอร์ให้เทกออฟอีกครั้ง