การที่ LINE Mobile เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย กลายเป็นจุดสนใจของทั้งหน่วยงานตรวจสอบอย่างกสทช. และผู้บริโภคที่เกิดคำถามตามมาแน่นอนว่า LINE Mobile คือผู้ให้บริการบนความร่วมมือระหว่าง DTN และ LINE ประเทศไทย ครอบคลุมมากแค่ไหน รวมถึงข้อสงสัยสำคัญว่าในเมื่อ LINE Mobile เป็นทีมเฉพาะกิจของ DTN หรือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่านความถี่ 2.1 GHz ทำไมถึงไม่พูดกับสังคมและลูกค้าให้ชัดเจน
ประกอบกับการที่ก่อนหน้านี้ ทางดีแทค ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุชัดเจนว่า LINE Mobile จะให้บริการในรูปแบบบริการเสริมของดีแทค ที่มีใบอนุญาตในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว แต่กลับกันทางผู้บริหารของ LINE Mobile กลับไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าเป็นบริการเสริมของดีแทค แต่ระบุว่าเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง DTN และ LINE ประเทศไทย และยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับดีแทคแต่อย่างใด
ปวริศา ชุมวิกรานต์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาด ไลน์ โมบายล์ ประเทศไทย กล่าวว่า ทาง LINE Mobile ไม่ขอเปิดเผยในเรื่องของแผนธุรกิจว่าเป็นความร่วมมือระหว่าง DTN และ LINE ในลักษณะใด แต่ยืนยันว่าได้ลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า LINE Mobile มาจากทาง LINE ประเทศไทยมาใช้ และมีการร่วมกันพัฒนาหลากหลายฟีเจอร์ร่วมกัน
‘การให้บริการของ LINE Mobile ทุกอย่างปฏิบัติตามกฏของกสทช. ซึ่งที่ผ่านมามีทีมงานที่เข้าไปพูดคุยกับ กสทช.อย่างใกล้ชิด โดยเลขหมายที่นำมาให้บริการก็จะอยู่ภายใต้ DTN และการให้บริการทั้งวอยซ์ และดาต้าอยู่บนเครือข่ายของ DTN’
จุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ แม้ทาง LINE Mobile จะระบุว่า เป็นการให้บริการบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่าง DTN และ LINE ประเทศไทย แต่ปรากฏว่าในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กลับไม่มีตัวแทนจากทั้ง 2 บริษัทมาร่วมในงานเปิดตัว ยิ่งตอกย้ำถึงข้อสงสัยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือดังกล่าว ขัดกับรูปแบบของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทาง ดีแทค หรือ LINE ที่ปกติเมื่อมีการจับมือเป็นพันธมิตรในการให้บริการใดๆก็ตาม ในมุมของการประชาสัมพันธ์ต้องมีการส่งสารถึงผู้บริโภคที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน
แน่นอนว่าในมุมของ LINE เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ทำให้ส่วนหนึ่งไม่สามารถออกหน้าในการจับมือเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใดรายหนึ่ง เพราะปัจจุบันในการให้บริการแพลตฟอร์มของ LINE ต่างต้องพึงพาการเข้าถึงโมบายอินเทอร์เน็ตจากโอเปอเรเตอร์ทุกราย
ประกอบกับการที่ LINE Mobile ให้ข้อมูลว่า มีการทำงานเป็นเอกเทศอยู่ในสำนักงานที่ตึกจามจุรีสแควร์ ขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถเปิดเผยถึงจำนวนพนักงาน แต่กลับขอให้มั่นใจได้ว่ามีทีมซัปพอร์ตที่เต็มที่ทั้งด้านการตลาด ผลิตภัณฑ์ และบริการหลังการขาย ที่เป็นทีมของ LINE Mobile เอง
การตลาดที่ขัดภาพลักษณ์ ‘โปร่งใส ตรวจสอบได้’ ของดีแทค
สิ่งที่ LINE Mobile ทำจึงกลายเป็นรูปแบบการทำตลาดที่ขัดกับภาพลักษณ์ของดีแทค โดยไม่ยอมตอบคำถามให้ชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในบริการของดีแทค แต่กลับตอบได้แค่ว่าเป็นความร่วมมือระหว่าง DTN และ LINE ประเทศไทย ทั้งๆนี้ในการให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องใช้งานใบอนุญาตของ DTN ในการให้บริการก็ตาม
โดยในเรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม บนพื้นฐานของการบริหารที่มีธรรมาภิบาล เป็นเรื่องราวสำคัญที่ผู้บริหารดีแทคต่างย้ำมาตลอดว่านโยบายของ ดีแทคต้องชัดเจน และเป็นต้นแบบให้แก่บริษัทในทุกๆ อุตสาหกรรมได้
แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ LINE Mobile ทำการตลาดแบบนี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ลูกของดีแทค แต่ต้องการใช้แบรนด์ LINE Mobile ที่ได้ลิขสิทธิ์ชื่อมาใช้งานให้เต็มที่ และหวังผลจากฐานลูกค้าที่ใช้งานแพลตฟอร์ม LINE ในประเทศไทยกว่า 41 ล้านราย
‘ในมุมการทำตลาดถือว่า LINE Mobile ทำการนำเสนอฟีเจอร์ในการใช้งานที่ทำทุกอย่างบนระบบออนไลน์ได้น่าสนใจ แต่สอบตกในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะลูกค้าที่ใช้งานทุกคนต่างรู้ว่าใช้งานคลื่นของดีแทค ที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาเรื่องการขาดคลื่นความถี่ในการให้บริการอยู่’
รายได้เข้า ‘ดีแทค ไตรเน็ต’
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมถึงการชำระค่าบริการของ LINE Mobile ในส่วนท้ายใบเสร็จมีการระบุชื่อบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด พร้อมข้อมูลทะเบียนเลขที่/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0105549034548 ยิ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการให้บริการ LINE Mobile จะถูกนับรวมเข้าไปกับรายได้ของทาง ดีแทค อยู่แล้ว
ความเหมือนของ ‘แพกเกจ’ ที่ลดค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการ
หนึ่งในจุดที่น่าสนใจ และตอกย้ำถึงความเชื่อว่า LINE Mobile และ ดีแทค ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คือเรื่องรูปแบบของแพกเกจ ที่เมื่อนำแพกเกจของ LINE Mobile มาเทียบในสิ่งที่ลูกค้าจะได้ตั้งแต่แพกต่ำสุด XS ที่ได้เน็ต 1.5 GB โทร. 100 นาที จะเทียบได้กับแพกเกจ Super non-stop 299 ของดีแทค
ไปจนถึงแพก XXL ของ LINE Mobile ที่ได้เน็ต 40 GB โทร.ได้ 600 นาที ก็จะเทียบได้กับแพกเกจ Super non-stop 1,099 ที่ได้ทั้งเน็ต และโทร.เท่ากัน ไม่นับรวมกับแพกแบบไม่จำกัดทั้งเน็ต และโทร. ที่ตามออกมาในวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในราคา 1,699 บาท (สมัครตอนนี้ได้รับส่วนลด 50%)
โดยในเรื่องนี้ สิ่งที่ทำให้ค่าบริการของ LINE Mobile ต่ำกว่า ทางผู้บริหารให้ข้อมูลว่า เกิดจากการที่เป็นบริการออนไลน์ ที่สามารถให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้หมด ประกอบกับการที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการ ทำให้สามารถให้บริการได้ในราคาที่ต่ำกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆในตลาด
เมื่อประมวลจากข้อมูลที่ชี้ชัดว่า LINE Mobile เป็นบริการหนึ่งที่ดีแทคมีส่วนร่วมในการรับรู้รายได้ มีการนำแพกเกจที่ใกล้เคียงกันมาให้บริการในราคาที่ต่ำกว่า แต่ไม่ทำออกมาให้ชัดเจนเหมือนที่คู่แข่งอย่าง เอไอเอส เคยทำบริการอย่าง You! Mobile ออกมา
เกมการตลาดของ LINE Mobile ครั้งนี้ เหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ตัวแรกคือการแต้มสีดำบนภาพลักษณ์สีขาวของดีแทคที่พยายามย้ำความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม บนพื้นฐานของการบริหารที่มีธรรมาภิบาล เพราะการตลาดที่หมกเม็ดอึมครึมขนาดกสทช.ต้องตั้งกรรมการมาตรวจสอบมันดูสวนทางกับความโปร่งใส
ส่วนนกตัวที่ 2 ที่ร่วงจากกระสุนนัดนี้คือ LINE Mobile ที่ตำแหน่งทางการตลาดน่าจะเหมือน ‘กระท้อน’ ยิ่งโดนทุบ ยิ่งหวาน ชอบที่จะให้เกิดการตั้งคำถามสิ่งที่หมกไว้ ในภาพลบ เหมือนการโปรโมตโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณา
แต่ยิ่งพยายามตีตัวออกห่างดีแทค เพื่อเข้าใกล้ LINE ให้มาก น่าจะยิ่งทำให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อซิม น่าจะยิ่งลังเล เพราะ LINE ที่คุ้นเคยกันกวาดรายได้จากประเทศไทยเป็นหมื่นล้าน แต่เสียภาษีแค่หยิบมือเดียว ไม่ต้องนับกระบวนการ CSR หรือ CRM หรือการตอบแทนสังคมไทย ที่ห่างไกลความเป็นจริงมาก ซึ่งบริการในลักษณะ OTT ดังกล่าวกำลังกัดกร่อน กัดกิน เบียดบัง ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างมาก ซึ่งกสทช.เองก็กำลังดำเนินการหามาตรการมากำกับดูแลธุรกิจประเภทนี้
LINE Mobile วันนี้จึงดูเหมือนเป็น ‘รัฐอิสระ’ ในดีแทคไปแล้ว.
ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000097487