คนแก่ครองเมือง โอกาสทางการตลาดใหม่

ผลจากการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ คนเกิดน้อยลง แต่ตายยากขึ้น ทำให้คนสูงอายุวัย 40 ขึ้นไปเป็นผู้บริโภค กำลังกลายเป็นโอกาสทางการตลาดอันมหาศาลของผู้ผลิตสินค้าและบริการยุคถัดจากนี้

เมื่อข้อมูลทางด้านประชากรศาสตร์ของ U.S. Census Bureau, International Data Base กล่าวไว้ว่า ปี 2025-2050 หรืออีก 20 กว่าปีข้างหน้า ประชากรในแถบตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเกิดที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือคงที่ นั่นหมายความว่า เด็กเกิดน้อยลง ขณะเดียวกันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Longer Old Age ส่งผลโครงสร้างพีระมิดประชากรของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามประเทศตะวันตกแล้ว จากฐานกว้างยอดแคบ กลายเป็นฐานเริ่มแคบและป่องตรงกลาง

วันนี้ชัดเจนแล้วว่า คนแก่ (ผู้มั่งคั่ง) ครองเมือง

สาเหตุที่คนเกิดน้อยตายยาก มาจากคนส่วนใหญ่มีการควบคุมการวางแผนครอบครัว โดยเฉพาะในไทย และสิงคโปร์ ที่มีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรที่น้อยมาก สอดรับกับอัตราการการเกิดของคนไทยที่มีอัตราการเกิดคงที่มาแล้วถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2543-2550 ปีที่ผ่านมาติดลบ 0.6% ขณะที่จำนวนครอบครัวก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงโดยในปี 2551 เทียบกับปี 2550 เติบโต 1.8% ขณะที่ในปี 2550 เทียบกับปี 2549 เติบโต 2.6%

โดยแนวโน้มนิยมมีลูกเพียงคนเดียว และมีการควบคุมการคุมกำเนิดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย

ขณะเดียวกันวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ก็ทำให้คนแก่มีอายุยืนยาวมากขึ้นทุกที

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้เซ็กเมนต์อายุของคนเปลี่ยนแปลงไป คนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น 90-100 ปีจากเดิมมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ปี

ช่วงอายุของวัยรุ่นขยายเพิ่มขึ้นจากเดิมอายุ 10-20 ปี เปลี่ยนอยู่ในช่วง 10-25 ปี

ช่วงอายุของผู้ใหญ่ขยายเพิ่มขึ้นจากเดิมอายุ 20-30 ปี เปลี่ยนอยู่ในช่วง 25-35 ปี

การมีครอบครัวชะลอตัวลงจากเดิมอายุ 30-40 ปี แต่งงานมีครอบครัว เปลี่ยนอยู่ในช่วง 35-50 ปี ทำให้กลุ่มที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อเปลี่ยนจากกลุ่มอายุ 20-30 ปี ซึ่งเป็นเริ่มทำงานกลายเป็นกลุ่มอายุ 30-50 ปี

จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ไม่เพียงแต่ก่อให้สังคมใหม่เกิดกฎและกระบวนการใหม่ๆ การจัดเซ็กเมนต์อายุของนักการตลาดแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป โดยเซ็กเมนต์อายุใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นดังนี้

อายุ 20+ หรือ 20 Something เป็นสังคมของกลุ่มวัยรุ่น ที่สินค้าเริ่มปรับมาจับกลุ่มนี้มากขึ้น เช่น ซันซิลที่ปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูทันสมัยและสาวขึ้นกว่าเดิม

อายุ 40+ เป็นสังคมของกลุ่มคนที่ยังไม่แต่งงานแต่อาจอยู่กินกันนอกกฎหมาย

อายุ 40+ เป็นสังคมของกลุ่มที่มีฐานะมั่นคง ส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่มีลูก

อายุ 30+ เป็นสังคมของกลุ่มคนมีฐานะมั่นคง มีลูกช้าหรือยืดเวลาการมีลูกออกไปเพราะยังสนุกสนานกับชีวิตคู่

ขณะที่โครงสร้างของครอบครัวเป็นสังคมครอบครัวที่หลากหลายของเชื้อชาติมากขึ้น ในยุคที่ การเหยียดสีผิวกลายเป็นเรื่องคร่ำครึ นอกจากนี้ยังมีสังคมของวัยกลางคนที่ชื่นชอบการผจญภัย และมีทัศนคติว่า ชีวิตเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่าหยุดที่จะท้าทายมัน

เมื่ออัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยลง สินค้าเด็กย่อมได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ดังนั้นการปรับตัวมี 2 ประการ คือ ทำสินค้าที่พรีเมียมขึ้น เพราะเด็กจะเกิดน้อยลงแต่พ่อแม่เมื่อมีลูกคนเดียวย่อมทุ่มเทให้กับลูกอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน ประการต่อมาคือขยายฐานจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น แป้งเด็กหยิบเอา Consumer Insight สาวไทยที่นิยมใช้แป้งฝุ่นเด็กทาหน้าอยู่แล้ว จึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาตอบสนองความต้องการดังกล่าวโดยเฉพาะ เช่น กรณีของเบบี้ มายด์ สวีทตี้ พิงค์ ขณะที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จับกลุ่มหญิงสาวยุคใหม่ด้วยครีมอาบน้ำ เป็นต้น

ส่วนกลุ่ม Old but Rich นับเป็นกลุ่มที่เนื้อหอม เพราะมีความมั่งคั่งมากกว่าวัยใด สินค้าและบริการจำนวนไม่น้อยกรีฑาทัพมาจับกลุ่มนี้ ที่เด่นชัดที่สุดคือสินค้าเพื่อสุขภาพ โรงพยาบาล และประกันสุขภาพ ประกันชีวิต บางแห่งออกแพ็กเกจประกันชีวิตให้กับคนชราโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ เป็นต้น

ในเมื่อพวกเขาไม่มีความกังวลเรื่องปัญหาทางการเงิน มิหนำซ้ำยังมีลูกหลานคอยเลี้ยงดู สิ่งที่พวกเขามองคือ สินค้าและบริการที่ดีเป็นอันดับแรก โดยราคาเป็นสิ่งที่คำนึงถึงในลำดับต่อมา

ด้านสินค้าไอที ก็ออกแบบเพื่อวัยซีเนียร์โดยเฉพาะ เช่น โนเกียให้บริการโทรศัพท์สั่งงานด้วยเสียง สำหรับคนสูงวัยที่มีปัญหาทางด้านสายตา ขณะที่ดีไซน์ของเครื่องก็เน้นหน้าจอและปุ่มกดที่ใหญ่ มีฟังก์ชันการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน

ในเมืองไทยมี “Old people playing young” เป็น Digital Club โดย LOXLEY สอนให้คนแก่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อกับลูกหลาน ซึ่งสามารถลดช่องว่างระหว่างวัยได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น คนแก่ยุคนี้จึงเป็นยิ่งกว่าทะเลสาบให้นักการตลาดตักตวงได้ยาวนานขึ้น และสามารถนำเสนอสินค้าและบริการได้หลากหลาย กว้างขวางมากกว่าเดิม