AOT เอาด้วย เตรียมปั้น 6 สนามบิน ผุดมิกซ์ยูส-ศูนย์การค้า คาดปั๊มรายได้ Non-Aero 50%

เมื่อสนามบิน” กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งในทำเลทองของธุรกิจค้าปลีก  เมื่อบริษัท ท่าอากาศยายไทย หรือ ทอท . ประกาศพัฒนาที่ดินสนามบิน 6 แห่ง นำไปทำค้าปลีก ศูนย์การค้า โรงแรม โลจิสติกส์ อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก Non-Aero

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยาน วงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ให้รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 185 ล้านคนในปี 2568

แผนการดังกล่าว ยังเชื่อมโยงกับ แผนพัฒนารายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) และรายได้ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenue) ให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 50 : 50 เพื่อสร้างความสมดุลของรายได้ และลดผลกระทบจากรายได้ Aero ที่มีความผันผวนมากกว่ารายได้ Non-Aero ภายในปี 2563

โดยแบ่งเป็นการพัฒนารายได้จาก 1 ธุรกิจในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยาน และ 2.การพัฒนารายได้ภายนอกอาคารผู้โดยสาร ทอท.วางแผนที่จะใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในส่วนที่เป็นที่ราชพัสดุ และที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่ ทอท.ซื้อมาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงในพื้นที่ NEF มากกว่า 40

ที่ผ่านมา ทอท.ได้ศึกษาวิเคราะห์ กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการ รวมทั้งประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนงานโครงการในการนำพื้นที่ที่ว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และขณะนี้แผนการดำเนินงานต่างๆ ได้มีความชัดเจนได้ข้อสรุปดังนี้  ได้แก่ การแก้ไขข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูมิภาค

การที่ต้องกำหนดกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับ กิจการท่าอากาศยาน ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพื่อที่ว่า ทอท.จะนำไปดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและ โลจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้า การท่องเที่ยวและนันทนาการ การประชุมสัมมนา และนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาลซึ่งเวลานี้ค่าตอบแทนในการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็มีความชัดเจนแล้ว

เป้าหมายของ ทอท. คือ การหารายได้ จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและ โลจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้า การท่องเที่ยวและนันทนาการ การประชุมสัมมนา และนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาล โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2561

สำหรับ ที่ราชพัสดุในสนามบิน 4 แห่ง ที่มีศึกยภาพจะนำมาพัฒนา  ประกอบด้วย สุวรรณภูมิ ที่ดินแปลง Airport Business Area เนื้อที่รวม 682 ไร่ ,เชียงใหม่ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 1.6 ไร่ ,หาดใหญ่ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 613 ไร่ และแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จำนวน 5 แปลง และที่ดินแปลงย่อย รวม 7 จุด เนื้อที่รวม 742 ไร่ และในส่วนที่ดินของ ทอท.ที่ซื้อมาจากราษฎรที่ได้รับผลกระทบทางเสียง จากการดำเนินงาน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ มีจำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็นที่ดินในเขตลาดกระบัง 3 แห่ง และ ที่ดินติดถนนทางเข้าสุวรรณภูมิด้านถนนบางนา – ตราด อีก 1 แห่ง รวมเป็นที่ดินประมาณ 105 ไร่

โดยวันที่ 25 ก.ย. ทอท.ได้เชิญผู้ประกอบการในด้านต่างๆ เข้ามารับฟัง ข้อมูล ตำแหน่ง ที่ตั้งของที่ดิน รวมถึงระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ซึ่งหากมีผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนธุรกิจร่วมกับ ทอท.สามารถนำเสนอรูปแบบธุรกิจให้กับ ทอท.ได้ในภายหลัง

ความเคลื่อนไหวของ การท่าอากาศยานในครั้งนี้ ถือเป็น  big change ครั้งสำคัญ ในการนำที่ดินทั้ง ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบิน และที่ดินรอบนอกมาใช้ให้เกิดประโยชน์  ในโครงการที่เรียกว่า ระดับมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่มีกลุ่มเป้าหมาย นักท่องเที่ยว และนักเดินทางที่มีกำลังซื้อ ซึ่งต้องจับตาดูว่า จะมีผู้ประกอบการรายใด ทั้งเก่า และใหม่ ที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้

ที่มา : Manager Online