เปิดพฤติกรรมใช้เน็ตของคนไทย เฉลี่ย 6.3 ชั่วโมงต่อวัน Gen Y ครองแชมป์ ใช้ทะลุ 7 ชั่วโมงต่อวัน

เป็นธรรมเนียมทุกปีที่ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำการเผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ล่าสุดเป็นพฤติกรรมของชาวเน็ตในปี 2560 ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนกรกฎาคม 2560 จากกลุ่มตัวอย่าง 25,101 คน เป็นการสำรวจช่องทางออนไลน์

จากที่มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2556 พบว่าคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้เป็นไปตามเทรนด์ และการเติบโตของสมาร์ทโฟน ในปี 2559 มีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ 6.24 ชั่วโมง/วัน ส่วนในปี 2560 ได้แยช่วงเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่วงวันทำงาน/เรียนหนังสือ และช่วงวันหยุด พบว่าในวันทำงานคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 6.30 ชั่วโมง/วัน และวันหยุดใช้อินเทอร์เน็ต 6.48 ชั่วโมง/วัน ยังพบว่า 61.1% ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ย 3.06 ชั่วโมง/วัน 30.8% มีปริมาณการใช้เท่าเดิม และมีเพียง 8.1% ที่ใช้ลดลง เฉลี่ยที่ 2.24 ชั่วโมง/วัน

กลุ่ม Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันสูงสุด โดยในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือใช้เฉลี่ยที่ 7.12 ชั่วโมง/วัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมง/วันในช่วงวันหยุด ขณะที่ Gen X และ Gen Z ใช้อินเทอร์เน็ตในวันทำงานและวันเรียนหนังสือ โดยเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมง/วัน แต่ในวันหยุด Gen Z กลับใช้เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมง/วัน สวนทางกับ Gen X ที่ใช้ลดลงที่ 5.18 ชั่วโมง/วัน โดยกลุ่ม Baby Boomer ใช้ 4.54 ชั่วโมง/วันในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมง/วันในวันหยุด

ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นที่บ้าน 85.6% รองลงมาคือที่ทำงาน 52.4% ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง 24% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีก่อน ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตที่สถานศึกษาลดลงจาก 19.7% เป็น 17.5% ในปีนี้

ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย 86.9% การค้นหาข้อมูล 86.5% การรับส่งอีเมล 70.5% การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ 60.7% และการซื้อสินค้าออนไลน์ 50.8% ที่เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 8

โซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทิวบ์ 97.1%, เฟซบุ๊ก 96.6%, ไลน์ 95.8%, อินสตาแกรม 56%, Pantip 54.7%, Twitter 27.6% และ WhatsApp 12.1%

เมื่อแยกตามกลุ่มตามวัยแล้ว มีการชื่นชอบโซเชียลมีเดียแตกต่างกัน กลุ่ม Gen Z และ Gen Y ใช้ยูทิวบ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะชอบดูวิดีโอ คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ รองลงมาเป็นเฟซบุ๊ก และไลน์ ส่วนคนกลุ่ม Gen X และเบบี้บูมชอบใช้ไลน์เป็นหลัก รองลงมาเป็นเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ นักการตลาดต้องเลือกเครื่องมือการตลาดเพื่อให้คตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

เปิดพฤติกรรมการช้อปออนไลน์ของคนไทยปี 2560

สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้า และใช้บริการทางออนไลน์ของคนไทยในปี 2560 พบว่า ผู้บริโภคตัดสินใจเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ขายของออนไลน์จากโฆษณาและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มากที่สุด คิดเป็น 55.9% โดยมีข้อมูลจากการรีวิวและคอมเมนต์ของผู้เคยใช้สินค้า, ส่วนลดและของแถม และอันดับของเว็บไซต์จากการค้นหาทาง Search Engine เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลรองลงมา คิดเป็น 54.9%, 47.5% และ 41.9% จากการสำรวจยังพบว่า 40.7% ยังไม่ได้ซื้อสินค้าและใช้บริการออนไลน์, 38.4% ซื้อเดือนละครั้ง, 17.7% ซื้อ 2-5 ครั้งต่อ เดือน และ 3.2% ซื้อมากกว่า 5 ครั้งต่อเดือน

ส่วนสินค้าและบริการที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุด อันดับหนึ่งยังคงเป็นสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย 44%, สินค้าด้านสุภาพและความงาม 33.7%, อุปกรณ์ไอที 26.5%, เครื่องใช้ภายในบ้าน 19.5%, บริการสั่งอาหารออนไลน์ 18.7%, บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว 17.9% เป็นต้น

ในเรื่องความถี่ในการซื้อสินค้าและใช้บริการ พบว่าในระยะเวลา 3 เดือน บริการด้านการเงินและการลงทุนเป็นประเภทบริการที่คนไทยเลือกใช้ซ้ำมากที่สุดที่ 4.8 ครั้ง รองลงมาคือบริการดาวน์โหลด 4 ครั้ง สินค้าบริการด้านความบันเทิงและด้านการเดินทางและท่องเที่ยวเท่ากันที่ 2.5 ครั้ง ตามด้วยสินค้ากลุ่มแฟชั่นและบริการสั่งอาหาร เท่ากันที่ 2.4 ครั้ง

ในเรื่องของการใช้จ่ายในการช้อปออนไลน์แต่ละครั้ง ผลสำรวจบอกว่าคนไทยนิยมซื้อสินค้า อยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 1,000 บาท มากที่สุด ยกเว้นบริการด้านการเงินและการลงทุนที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อที่มูลค่ามากกว่า 10,000 บาท

โดยช่องทางการชำระเงินที่มีการใช้มากที่สุดคือบัตรเครดิต 35.1% รองลงมาคือ การโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคาร 31.9%, การโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม 27.1%, การโอนเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคาร 22.6%