คาดอีคอมเมิร์ซปี 60 ทะลุ 2.8 ล้านล้าน ตลาดไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน

เอ็ตด้าได้เปิดเผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทยปี 2559 มีมูลค่า 2.56 ล้านล้านบาท มีการการคาดการณ์ว่าปี 2560 จะมีมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท กลุ่มใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจ B2B มูลค่าประมาณ 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24% รองลงมาเป็นประเภท B2C มูลค่า 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% และ B2G ราว 314,603.95 ล้านบาท หรือ 12.29%

ในครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเป็นผู้ประกอบการ 592,996 ราย และมีการแบ่งมูลค่าตามลักษณะทางธุรกิจ ได้แก่ B2B, B2C และ B2G แบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมได้ 8 กลุ่ม ดังนี้ อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก, อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ, อุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการประกันภัย

เมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซของปี 2559 กับปี 2558 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้น 15.53% เช่นเดียวกับประเภท B2C ที่โตขึ้น 37.91% แต่ประเภท B2G กลับมีอัตราการเติบโตลดลง 21.42% สืบเนื่องจากการยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยวิธี e-Auction ทำให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ใช้ข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G ของปี 2559 ที่มาจากวิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ e-Market และ e-Bidding เท่านั้น

เมื่อแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซตามประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม พบว่าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ได้แก่ อันดับที่ 1 อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง มูลค่า 713,690.11 ล้านบาท 31.78% อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มูลค่า 607,904.89 ล้านบาท 27.07% อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 428,084.73 ล้านบาท 19.06% อันดับที่ 4 อุตสาหกรรม ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มูลค่า 384,407.71 ล้านบาท 17.12% อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มูลค่า 83,929.05 ล้านบาท 3.74% อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิง และนันทนาการ มูลค่า 15,463.46 ล้านบาท 0.69% อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มูลค่า 9,622.77 ล้านบาท 0.43% และอันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มูลค่า 2,396.69 ล้านบาท 0.11%

คาดอีคอมเมิร์ซปี 60 พุ่ง 2.8 ล้านล้านบาท

สำหรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 มีมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86%  ซึ่งมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท 59.56% เพิ่มขึ้น 8.63% ส่วนมูลค่าประเภท B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท 28.89% เพิ่มขึ้น 15.54% และประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้าน บาท 11.55% เพิ่มขึ้น 3.24%

ถ้าแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม จาก 8 กลุ่ม พบว่าไม่แตกต่างจากปี 2559 โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง ที่มีมูลค่า 869,618.40 ล้านบาท 34.96% อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มูลค่า 658,131.15 ล้านบาท 26.45% อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 417,207.07 ล้านบาท 16.77% อันดับที่ 4 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร มูลค่า 404,208.00 ล้านบาท 16.25% อันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการขนส่ง มูลค่า104,904.28 ล้านบาท 4.22% อันดับที่ 6 อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ มูลค่า19,716.04 ล้านบาท 0.79% อันดับที่ 7 อุตสาหกรรมบริการอื่น ๆ มูลค่า 11,280.33 ล้าน บาท 0.45% และอันดับที่ 8 อุตสาหกรรมการประกันภัย มูลค่า 2,729.65 ล้านบาท 0.11%

อีคอมเมิร์ซไทย ที่หนึ่งในอาเซียน

เมื่อดูมูลค่าอีคอมมร์ซในกลุ่มของ B2C เปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 19,640 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตจากปี 2558 ถึง 38% รองลงมาเป็นมาเลเซีย มีมูลค่า 17,480 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามมีมูลค่า 5,570 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในด้านโลจิสติกส์ ในมุมของผู้ประกอบการใหญ่จะมีการใช้การขนส่งโดยบริษัทใหญ่ที่เป็น Third Party สัดส่วน 39.13% รองลงมาเป็นไปรษณีย์ไทย 34.78% และมีบริษัทโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง 26.09%

ส่วนผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ใช้บริการขนส่งโดยไปรษณีย์ไทย 84.38% รองลงมาเป็นบริษัทขนส่ง 47.76% และบริษัทตัวกลางในการจัดส่งสินค้า 8.4%