นพปฎล พหลโยธิน ดีไซน์ด้วยสุข

ด้วยหน้าที่การงานและมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่เมืองนอก ทำให้การพบเจอนักออกแบบสัญชาติไทยแต่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เคยมีผลงานออกแบบในหลายประเทศ ให้กับหลายแบรนด์สินค้า อย่างนพปฎล พหลโยธิน หรือ “อู้” ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ยกเว้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา “อู้” เดินทางมาเมืองไทยเพื่อทำหน้าที่เป็น Speaker ในงาน “Creativities Unfold, Bangkok 2008” ทำให้ทีมงาน POSITIONING ต้องไปติดตามเรื่องราวและเคล็ดลับความสำเร็จของหนุ่มคนไทยคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในเมืองนอกได้อย่างไร

“อู้” ซึ่งปัจจุบันนอกจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศแล้ว เขายังเป็นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Jim Thompson ยืนโชว์เดี่ยวกลางเวที อยู่ในเสื้อยืดสีขาวทับด้วยสูทสีดำ กางเกงยีนส์รองเท้าผ้าแสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่มีสไตล์

เขาออกตัวก่อนว่า “จริงๆ แล้ว การออกแบบเหมือนกับการใช้ชีวิตตามปกติ เหมือนๆ กับการทำกับข้าว ทำสวน คุยกับเพื่อน ซึ่งหลักการคิดหรือการทำงานของเขา ไม่ได้คิดหรือขึ้นอยู่กับความมีสาระอย่างเดียว ความไร้สาระก็มีความสำคัญเท่ากัน หรืออาจจะมากกว่าความมีสาระ”

จุดแรกที่มีความสำคัญในการออกแบบในสไตล์ของ “อู้” คือ Vision ความสามารถเดินออกมาก้าวหนึ่งแล้วมองเข้าไปข้างใน ว่าจริงๆ แล้วการออกแบบสิ่งๆ หนึ่งหรือคอลเลกชั่นหนึ่งนั้นมันไม่มีตัวตน เป็นเพียงภาพลวงตามากกว่า ให้รู้สึกว่าการออกแบบแต่ละครั้งมัน Gel เข้ารูปเข้าร่างกันพอดี

สิ่งที่สำคัญของการมีวิชั่นจะทำให้มีอิมเมจที่แข็งแกร่ง สามารถช่วยได้ในการออกแบบ สื่อสารกับลูกค้าประสบความสำเร็จง่ายและไปในทิศทางเดียวกันกับลูกค้า

การมีวิชั่นของตัวเองทำให้ลูกค้ามองเห็นและเข้าใจในตัวนักออกแบบได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นการทำหน้าร้านให้ลูกค้าเห็นชัดเจนว่าเราขายอะไร “เหมือนกับสตาร์บัคส์ก็ไม่มีกาแฟโบราณให้เห็น เราต้องวาง Positioning ให้ชัดเจน ถึงจะได้ลูกค้าที่เดินมาหาเราตามเป้า” นพปฎล บอก

การออกแบบโดยการใช้ Instinct ต้องเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง ว่าความคิดที่ออกมานั้นมีพลังมหาศาล ในการออกแบบแต่ละครั้งถ้า “Get Idea” ขึ้นมาให้เชื่อและพยายาม ต่อสู้อย่างเต็มที่ เพราะถ้าเชื่อใน Instinct ในการออกแบบอย่างจริงใจจึงจะสามารถเข้าถึง Career ของตัวเราได้

Trust คือความเชื่อมั่นในจิตใจของตัวเองและคนอื่น เมื่อมีความเชื่อมั่นในวิถีทางหรือฝีมือของตัวเอง ของทีม และต้องเชื่อในตัวของผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่เราไม่รู้ จะทำให้สามารถปลดปล่อยความคิดหรือการทำงานออกมาอย่างเต็มที่ จะทำให้งานออกมามีอิสระในการคิดมากขึ้น

“การออกแบบทำคนเดียวไม่ได้ บางครั้งต้องมีทีม ให้มองว่าเราเป็นมดตัวหนึ่งในทีมใหญ่”

และสุดท้าย Clarity เป็นการออกแบบขั้นแรกที่ต้องเริ่มรู้จักและเข้าใจกับวัสดุทุกชิ้น ต้องมีความรู้สึกว่างานจะออกมาอย่างไร ทั้งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรืออินทีเรียร์ รู้สึกให้เป็นส่วนหนึ่งกับงานจะทำให้งานออกมาเป็นธรรมชาติ และมีความสดใส

“ต้องใส่ Spirit และ Passion ลงไปในตัวงาน เวลาทำอะไรต้องรู้จักให้ดี สามารถหายใจและอยู่กับมันได้”

และสุดท้ายคือความจริงใจ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ที่สามารถมองเข้าไปข้างในจิตใจของตัวเอง โดยมีความจริงว่าสิ่งที่เราอยากทำคืออะไร โจทย์ของการออกแบบของ “อู้” คือการถามใจตัวเอง เช่นการออกแบบร้านอาหารต้องถามตัวเองว่าหลังเลิกงานอยากไปทานร้านอาหารลักษณะแบบใด ต้องใช้สถานการณ์จริงปั้นให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ต้องคำนึงถึงลูกค้าเข้าร้านแล้วต้องรู้สึก Happy ไม่ได้เน้นหรู สวยงาม แต่เน้นที่ความสุขของการเข้าไปนั่งในร้านมากกว่า

เมื่อพูดที่ทำงานของ “อู้” หลายๆ คนอาจมีความคิดว่าที่ทำงานต้องเก๋ หรู เอาไว้อวดอีโก้ แต่ใน My Studio ของ ”อู้” นั้น 60% ของพื้นที่ใช้สอยไม่ได้เลย เพราะชีวิตการทำงานของดีไซเนอร์นั้นทำงานไม่เป็นเวลา การออกแบบให้พนักงานรู้สึกว่าอยากอยู่อยากกลับมา นั่นคือหัวใจของการออกแบบ Studioของ “อู้”

การทำงานที่ไม่ได้อยู่เพียงบนหอคอย คือสไตล์ของเขา เพราะเขาทำงานร่วมกับทีมงานตลอดเพราะเขามองว่าเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” และหลักในการเลือกคนเข้ามาทำงานนั้นมีอย่างเดียวคือ “ต้องถูกคอถูกใจ ให้ความรู้สึกว่าตอนเช้าอยากเจอ และตอนกลับต้องหาอะไรกินกันก่อนกลับบ้าน ทำให้ทุกคนที่เลือกมานั้นเปรียบเหมือนกับเพื่อน ครอบครัว”

นอกเหนือจากการทำงานร่วมกันแล้ว สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในทีมงานของเขาแนบแน่นมากเพราะการมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทุกเย็นวันศุกร์ก่อนเลิกงาน จะมีครูมาสอนโยคะ เพื่อให้วันหยุดได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และทุกปีในช่วงที่งานไม่เยอะก็พากันไปเที่ยวเสมอ

สิ่งที่ ”อู้” ทำลงไปนั้นไม่ได้กังวลในเรื่องค่าใช้ แต่เป็นสิ่งที่ทำลงไปด้วยความรัก เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีความสุข ทำให้เขาพลอยมีความสุขไปด้วย

“ชีวิตไม่ต้องซีเรียสเกิน ควรจะเบา สนุก เฮฮา มันอาจจะมีเศร้า สูญเสีย แต่นั้นก็คือชีวิตคือการออกแบบจริงๆ เพราะฉะนั้นอยากให้คนที่ออกแบบพยายาม ใช้ชีวิตให้เต็มที่ไม่ต้องไปกลัวเรื่องอะไรที่มันซีเรียส เพราะว่าถ้าเราซีเรียส ความรู้สึกที่เราจะออกแบบ ตั้งใจไว้ มันจะจางหายไป พยายามใช้ไฟในตัวเรา ที่มีความสนุกสนาน ให้ความสุขให้กับตัวเราใส่ไว้ในไซต์ เพื่อจะได้ให้ความสุขกับคนอื่น และรู้ทันในวันต่อไป” เขาทิ้งท้ายก่อนลงจากเวทีวันนั้น

Profile

Name : นพปฎดล พหลโยธิน หรือ “อู้”
Education :
ศึกษาวิชาการออกแบบที่ Bartlett School of Architecture ในลอนดอน
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งทอในสตูดิโอที่สอนงานสิ่งทอแบบญี่ปุ่น ในเมืองฟลอเรนซ์
ฝึกทักษะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ Kingston University
ฝึกการผลิตที่ Les Ateliers ในปารีส
Career Highlights :
– ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Jim Thompson
ผลงานเด่น
– 1995-1998 ได้รับรางวัลการออกแบบหลายรางวัลทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น
– ออกแบบเก้าอี้ HK1 เพื่อร่วมฉลองการคืนเกาะฮ่องกง และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเก้าอี้ต้นแบบและเก้าอี้หายากของศตวรรษ
– เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลอังกฤษ ในการตกแต่งพื้นที่ 1 ชั้นของตึก Canary Wharf สำหรับการประชุมซัมมิท
-2002 ออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์ให้กับบริษัท Nahm
-2003 ออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ของ “Ocean Glass” ชื่อชุด “Time”
Lifestyle : ชอบการผจญภัย ทำอาหาร นิตยสารที่ขาดไม่ได้ Octane เป็นหนังสือรถแข่ง