หลังการปรับโครงสร้างและประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรสามิต พ.ศ. 2560 เชื่อว่ามีธุรกิจที่ได้รับ “ผลกระทบ” ในเชิงบวกและเชิงลบต่อ “ต้นทุนสินค้าและบริการ” ไม่มากก็น้อย
ที่ผ่านมาอาจได้เห็นกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภท “เบียร์” อย่างแบรนด์ “ไฮเนเก้น” ประกาศปรับลดราคาลง ในช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยขวดประมาณ 630 มิลลิลิตร ลดลง 1-3 บาทต่อขวด ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มสุราของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็มีการปรับขึ้นราคาขายแล้ว โดยเฉพาะช่องทางเอเย่นต์ ยี่ปั๊วซาปั๊ว ขณะที่ฟากบุหรี่นอกได้รับผลกระทบเยอะ แต่ก็ยังไม่มีการประกาศจากบริษัทถึงการปรับ “ราคาขายปลีก” จะว่าเป็นไปในทิศทางอย่างไร
อีกหนึ่งกลุ่มที่กระเทือน เห็นจะเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ประเภท “ชาเขียว” ซึ่งเดิมเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นการเสียภาษีสรรพสามิต เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องการช่วยเหลือภาคการเกษตรของไทย แต่เมื่อโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ออกมา รวมถึงการจัดเก็บ “ภาษีความหวาน” ด้วย และถึงแม้จะให้ผู้ประกอบการปรับตัวปรับสูตรลดน้ำตาลในช่วง 2 ปี แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มกลุ่มชาจะต้องเสียภาษีเลยก็คือ “ภาษีสรรพสามิต”
ดังนั้น จึงทำให้มีผู้ประกอบการจ่อขยับราคาขายสินค้าเครื่องดื่มขึ้น โดยล่าสุดที่ประกาศออกมาชัดคือแบรนด์ “ฟูจิชะ” และจะขึ้นราคาถึง 5 บาท จากเดิมราคาขายปลีกชาเขียวอยู่ที่ 25 บาท จะเพิ่มเป็น 30 บาทต่อขวด
“ชมพูนุท ตั้งเจริญมั่นคง” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟูจิ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มฟูจิชะ ให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นราคาขายปลีกชาเขียวพร้อมดื่มฟูจิชะเป็น 30 บาท จาก 25 บาท มีสาเหตุจากมาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลโดยตรง จากเดิมกลุ่มเครื่องดื่มชาและกาแฟ เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
สำหรับการปรับขึ้นราคาขายปลีกครั้งนี้ จะขึ้นในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นฟูจิ ช่องทางโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ภายใต้ราคาขายเดียวกัน 30 บาท ซึ่งช่องทางเหล่านั้นราคาขายใหม่มีผลตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่วนบางช่องทาง เช่น กูร์เมต์ มาร์เก็ต ยังเป็นสินค้าสต๊อกเดิม ทำให้ราคาใหม่จะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการปรับขึ้นราคาขายปลีกดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการทำตลาดอย่างแน่นอน แต่จะเป็นแค่ระยะแรกหลังการปรับเท่านั้น และผลกระทบก็คงไม่มากนัก เพราะหากมองกลุ่มเป้าหมายที่ดื่มชาเขียวฟูจิชะ จะเป็นตลาดบนที่มีกำลังซื้อ
ชมพูนุท ยังบอกด้วยว่า การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ถือเป็นความจำเป็นด้านภาระต้นทุนทางด้านภาษี จึงไม่ได้ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
“บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะด้วยต้นทุนของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นชาเขียวนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปรับราคาขึ้นมาตลอดระยะเวลา 12 ปี และทางบริษัทไม่เคยปรับราคาขึ้นเลย จนกระทั่งมีการปรับเรื่องการจัดเก็บภาษีใหม่จากรัฐบาลเราจึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น”
สิ่งที่น่าจับตาในระยะสั้น คงหนีไม่พ้นผลกระทบด้านยอดขาย ว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร และต้องยอมรับว่าปลายปีคือช่วง “ไฮซีซั่น” ของการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทุกๆ รายการ
อีกมุมคือ ขณะนี้ยังไม่เห็นมีผู้ประกอบการเครื่องดื่มชาและกาแฟรายอื่น ประกาศอย่างเป็นทางการถึงนโยบาย “ราคาสินค้า” ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะผู้เล่นในตลาดนี้ล้วนเป็น “รายใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นโออิชิ อิชิตัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในงานแถลงไทยเบฟ เอ็กซ์โป ทางผู้บริหารโออิชิ ให้ข้อมูลว่าบริษัทยังไม่มีแผนในการปรับขึ้นราคาขายสินค้าแต่อย่างใด