ถึงเมืองไทยจะมีศูนย์การค้ามากมายอยู่ในอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แถมอีคอมเมิร์ซก็กำลังมา แต่ในเมื่อมูลค่าค้าปลีกมีสัดส่วนถึง 15% ของจีดีพี แถมยังตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวและช้อปปิ้งในภูมิภาค ทำให้บิ๊กค้าปลีกของไทยยังคงเดินหน้าเปิดศูนย์การค้าต่อเนื่อง
“วัลยา จิราธิวัฒน์” นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย (TSCA) บอกว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ จำนวน 13 ราย พร้อมจะควักเงินลงทุนต่อเนื่อง (ปี 2560-2562) รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายศูนย์การค้าแห่งใหม่ และปรับปรุงศูนย์การค้าเดิมให้ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลให้มีศูนย์การค้าใหม่ภายในปี 2562 รวมเป็น 107 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 97 แห่งทั่วประเทศ
และจากการเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่คาดว่าภายในปี 2562 สมาชิกสมาคม TSCA จะมีพื้นที่ค้าปลีก (GFA) รวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9.1 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) จากปีนี้มีพื้นที่ประมาณ 8 ล้าน ตร.ม. ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกทั้งประเทศปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 20 ล้าน ตร.ม. และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 21 ล้าน ตร.ม.
“สมาชิกในสมาคม มีการลงทุนต่อเนื่อง 3-6 หมื่นล้านบาทใน 2 ปี แต่ 2 ปีข้างหน้าสมาคมใช้งบถึง 5.7 หมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนเปิดศูนย์การค้าใหม่ๆ โดยพื้นที่ค้าปลีกของสมาชิกสมาคมรวมกันมีประมาณ 42% และมีการจ้างงานรวม 4.2 แสนคนทั่วประเทศ”
การลงทุนเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่จะมี 3 โซนที่น่าสนใจ คือ 1. เกาะโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ เช่น รับการเกิดรถไฟความเร็วสูง จังหวัดนครราชสีมา 2. เปิดโครงการรับเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ฯ ควบเจาะจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย พัทยา เชียงใหม่ ฯ และ 3. เนรมิต “แลนด์มาร์ค” ของกรุงเทพฯ ให้ดึงดูดนักช้อป
สำหรับศูนย์การค้าที่จะทยอยเปิดใหม่ มีดังนี้ ซีพีเอ็นเตรียมเปิดเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา วันที่ 3 พ.ย. และเปิดเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย 23 พ.ย.นี้ กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป การปรับปรุงขยายพื้นที่ของเดอะมอลล์ โคราช ที่ให้บริการมา 17 ปี ขณะที่ปีก่อนมีการเปิดเทอร์มินอล 21 โคราช ล้วนเป็นการขานรับไฮสปีดเทรน และนครราชสีมาก็ถือเป็นประตูสู่ภาคอีสาน
ในปี 2561 จะมีการเปิดอภิมหาโปรเจกต์ของซีพีเอ็น คือ เซ็นทรัล ภูเก็ตและกลุ่มสยามพิวรรธน์ ซึ่งผนึกซีพี และแม็กโนเลีย ผุดไอคอนสยาม ส่วนแอลเอชมอลล์แอนด์โฮเทล จะเปิดเทอร์มินอล 21 พัทยา สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ มีการพัฒนามาร์เก็ตเพลสดุสิต เขตราชวิถี และปรับปรุงมาร์เก็ตเพลสทุ่งมหาเมฆ มาร์เก็ตเพลสทองหล่อเพื่อเปิดให้บริการปีหน้าด้วย เช่นเดียวกับซีพีเอ็น ปรับโฉมเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพระราม 3 ส่วนซีคอน ดีเวลลอปเมนท์จะปรับซีคอนซิตี้ กลุ่มแพลทินัม จะเปิดศูนย์การค้าเดอะมาร์เก็ตบายแพลทินัม เป็นต้น
และภายในปี 2562 กลุ่มเดอะมอลล์ เตรียมพัฒนาโครงการแบงค็อกมอลล์ บริเวณสี่แยกบางนา สยามฟิวเจอร์ฯ ขยายเมกาซิตี้บางนาเฟส 2 การเปิดเซ็นทรัล มารีนา และเซ็นทรัลพลาซา ระยอง และการปรับโฉมใหม่ของเซ็นทรัลพลาซา บางนา โครงการเหล่านี้เป็นการขานรับเขตเศรษฐกิจ EEC อย่างเต็มรูปแบบ และเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
นอกจากนี้สมาคมศูนย์การค้าไทยยังเปิดวิชั่นการรุกค้าปลีกปีนี้ด้วยการพลิกโฉมสู่ยุคของการเป็น Shopping Center 4.0 พร้อมงัด 3 กลยุทธ์เด็ด ฝ่าโลกอนาคต ได้แก่
1. ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (Customer-Centric)
โดยการออกแบบศูนย์การค้า การบริการต่างๆ จะต้องสอดรับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภค ทุกเพศ ทุกวัย เช่น ยุคดิจิทัล ผู้คนอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม คนทำงานนอกบ้านมากขึ้น ศูนย์จะต้องเป็นแหล่งแฮงเอาต์ มีการเพิ่มโซนร้านอาหาร ศิลปะ Co-working space ไว้บริการ มีจุดบริการรับสินค้าทั้งออนไลน์ ตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบ Customize มากขึ้น
2. เน้นทำการตลาดแบบผสมผสานทุกช่องทาง เชื่อมประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ (Omnichannel)
คือการทำตลาดเชื่อมโยงทุกช่องทางทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ ตอบสนองความต้องการลูกค้าส่วนบุคคล พยายามทำกิจกรรมออนไลน์เพื่อสร้างความผูกพัน (Engage) กับผู้บริโภค เชื่อมโยงกลับมายังการช้อปปิ้งออฟไลน์คือศูนย์การค้า ให้มาสัมผัสกับอีเวนต์ กิจกรรมการตลาดใหม่ๆ และเกิดการบอกต่อบนโลกออนไลน์อีกทอด หมุนเวียนเป็นวัฏจักรช้อปปิ้ง
นอกจากนี้ ยังดึงฐานข้อมูลของผู้บริโภคซึ่งเป็น Big Data เจาะลึกพฤติกรรมขาช้อปเพื่อนำมาสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (CRM) และทำตลาดให้โดนใจยิ่งขึ้น
“การรองรับผู้บริโภคยุคดิจิทัล สมาคมทำมากขึ้นเรื่อยๆ”
3. การสร้างพันธมิตร (Build Partnership)
สมาคมต้องการเปลี่ยน “คู่แข่ง” เป็น “คู่ค้า” เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจค้าปลีกซึ่งกันและกัน
“เพราะคู่แข่งที่ท้าทายสุด คือ ผู้บริโภค”
สำหรับวิวัฒนาการศูนย์การค้าไทยถือว่า “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” เพราะผู้ประกอบการมีการพัฒนาให้ศูนย์เป็นไลฟ์สไตล์เดสทิเนชั่น มากกว่าแค่เป็นแหล่งที่ให้ผู้บริโภคไป “ช้อปปิ้ง” เท่านั้น
วัลยาบอกว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยมีวิวัฒนาการไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อ International Council of Shopping Centers : ICSC เตรียมกลับมาจัดประชุม RECon Asia-Pacific ที่ประเทศไทยอีกครั้งในฐานะเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการหวนกลับมาไทยรอบ 10 ปี ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคมนี้
งานดังกล่าวเป็นการผนึกกับผู้ประกอบการศูนย์การค้าระดับโลก และรวบรวม “กูรูค้าปลีก” จากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมงาน ซึ่งงานดังกล่าวเทียบขั้นกับ “ออสการ์ค้าปลีก” เลยทีเดียว
สำหรับสมาคมศูนย์การค้าไทยเดิมมีสมาชิก 10 ราย ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บมจ.เอ็มบีเค บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทแอลเอชมอลล์แอนด์โฮเทล จำกัด บมจ.เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด และปีนี้มีเพิ่มใหม่ 3 รายได้แก่ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด บริษัท แปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา จำกัด และ บริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด