มากันครบ 3 บิ๊กศูนย์การค้า เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-เทอร์มินอล 21 เปิดศึกชิงลูกค้าเมือง “โคราช” หลังจากเซ็นทรัลดีเดย์ เปิดตัว 3 พ.ย. ลอยกระทง
สงครามค้าปลีกใน “โคราช” หัวเมืองใหญ่ของอีสาน กำลังเปิดฉากอย่างเต็มที่ หลังจากเซ็นทรัลเปิดตัวศูนย์การค้า สาขาโคราชอย่างเป็นทางการในวันลอยกระทง 3 พฤศจิกายนนี้ หลังปล่อยให้คู่แข่ง 2 ราย ชิงนำหน้าไปก่อน
ถนนสายมิตรภาพจากกรุงเทพฯ เข้าเมืองโคราช จึงยิ่งคึกคักขึ้นอีก เพราะแค่ระยะทางไม่ถึง 10 กิโลเมตร มีห้างให้เลือกเดินถึง 6 แห่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นศูนย์การค้าระดับบิ๊กอย่าง เซ็นทรัล เดอะมอลล์ และเทอร์มินอล 21 ที่กำลังลั่นกลองรบ เปิดศึกชิงลูกค้าอย่างคึกคัก ไม่เพียงลูกย่าโมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเกือบ 3 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มเป้าหมายจากจังหวัดใกล้เคียง คือ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ รวมแล้วกว่า 8 ล้านคน และยังมีกลุ่มที่เดินทางตามเส้นทางผ่านไปจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานอีกด้วย
ที่จริงแล้ว “เซ็นทรัล” ภายใต้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น วางแผนเปิดห้างที่โคราชมาตั้งแต่ปี 2544 แต่ติดเรื่อง “ที่ดิน” มาตลอด เริ่มจากเล็งที่ดินขนาด 32 ไร่ แต่พลาดเป้าหมาย จนปัจจุบันได้กลายเป็นของ “เทอร์มินอล 21” ทำให้เซ็นทรัลต้องเลื่อนโครงการออกไป ปล่อยให้คู่แข่งชิงเปิดตัวนำหน้าไปก่อน
ต่อมา ในปี 2557 ซีพีเอ็นซื้อที่ดินประมาณ 52 ไร่ ราคา 600 ล้านบาท ริมถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) ช่วง กม.ที่ 3 ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ถึงขั้นประกาศจะลงทุน 9,500 ล้านบาท เนื้อที่โครงการรวม 250,000 ตารางเมตร เพื่อเตรียมสร้างห้างเซ็นทรัล โคราช
แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจมาเลือกที่ดินที่ใหญ่ขึ้น 65 ไร่ บนเส้นทางถนนมิตรภาพ-หนองคายแห่งนี้ เพราะวางจุดขายเป็นโครงการมิกซ์ยูส โปรเจกต์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท พื้นที่โครงการมากกว่า 355,000 ตารางเมตร มีทั้งห้าง และธุรกิจค้าปลีกในเครือมากันครบ ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์, ธิงค์สเปซ บีทูเอส, ซูเปอร์สปอร์ต, พาวเวอร์บาย, ออฟฟิศเมท และร้านค้าแฟชั่นและอาหารชั้นนำกว่า 500 ร้านค้า รวมทั้งโรงแรม และสถานที่จัดงาน ที่จะทยอยเปิดตัวต่อไป
เมื่อกำหนดเปิดตัววันลอยกระทง จึงเนรมิตอีเวนต์ให้มีแสงสีเสียงแบบ Interactive อย่างเต็มที่ โดยดึงดารา หมาก ปริญ สุภารัตน์ และ แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ มาเป็นแม่เหล็ก ขณะที่คู่แข่งรุ่นพี่ย่อมไม่นิ่งเฉย ได้เตรียมรับน้องใหม่ โดยเฉพาะรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนถึง 17 ปี อย่างเดอะมอลล์
เดอะมอลล์”เลือกโคราชในการขยายออกต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2543 เมื่อมาก่อนจึงชูคอนเซ็ปต์ “บ้านของคนโคราช“ จัดกิจกรรมการต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาตลอด ครั้งล่าสุดก็เตรียมรับน้องใหม่ด้วยเทศกาล Full Moon พูนสุข ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน ด้วยการดึงซูเปอร์สตาร์ อย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ และกลุ่มนักแสดงชาย 6 คน จาก ซีรีส์วาย “เดือนเกี้ยวเดือน“ หรือ 2 Moons The series พร้อมเตรียมปาร์ตี้ในสวนน้ำรับเทศกาลสงกรานต์กับนักร้องวง พาราด็อกซ์ และแสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข
ตามต่อด้วย อีเวนต์แนวป็อปคัลเจอร์ ด้วยการนำเอาซูเปอร์ฮีโร่ และของสะสมหายากมาจัดแสดงโชว์และจำหน่าย ระหว่างวันที่ 7- 19 พฤศจิกายน โดยมีนักแสดงหนุ่ม อเล็กซ์ เรนเดลล์ ที่จะขึ้นเวทีสร้างสีสัน
เดอะมอลล์เคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อเทอร์มินอล 21 ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮาส์ บิ๊กอสังหาฯ ทุ่มงบ 5 พันล้าน ขยายสาขามาที่ โคราช ขนาดพื้นที่ 2 แสนตรางเมตร และเปิดตัว เมื่อ 19 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ครั้งนั้นเดอะมอลล์ก็จัดเทศกาล “The Mall Korat winter festival“ รับน้องเทอร์มินอล 21 ด้วยโปรโมชั่นไม่เก็บค่าที่จอดรถ 3 เดือน
ศึกครั้งนี้ทำเอาเดอะมอลล์ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท ปรับโฉมห้าง วางจุดยืนให้เป็น “พารากอน แห่งอีสาน” เพิ่มร้านค้าแบรนด์เนมชื่อดัง ทั้งร้านอาหารและแฟชั่น สร้างเมืองหิมะจำลอง และลานสเก็ตน้ำแข็ง เป็นจุดขาย ขยายพื้นที่เป็น 80 ไร่ มีพื้นที่ศูนย์การค้า 350,000 ตารางเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดในโคราชขณะนั้น แต่ปัจจุบันถือว่าน้อยกว่าเซ็นทรัลที่กำลังจะเปิดประมาณ 5,000 ตารางเมตร
พร้อมสร้างถนนทางเข้าใหม่จากด้านหลังติดถนนสุรนารี 2 ที่เป็นแหล่งหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลาง คนทำงานของเมืองโคราช และยังเป็นถนนที่สามารถเชื่อมต่อถนนบายพาสที่จะไปเดินทางต่อไปในจังหวัดภาคอีสานอีกด้วย
นับเป็นการรับมือของเดอะมอลล์ที่ดี แม้ช่วงแรกพลังแบรนด์และการสร้างจุดขายของเทอร์มินอล 21 ทั้งศูนย์อาหารราคาถูก ที่นำร้านดังในพื้นที่มาขึ้นห้าง มีฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิด 24 ชั่วโมง และแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยว เช่น หอไอเฟล หรือสะพาน ทาวเวอร์ออฟลอนดอน ที่แรงพอจนดึงลูกค้าจากห้างเดอะมอลล์ไปได้มากในช่วงแรก แต่เมื่อเดอะมอลล์เป็นห้างฯ ที่คนโคราชคุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อยอมทุ่มทุนปรับโฉม เพิ่มชีวิตชีวาให้ห้าง ก็สามารถดึงลูกค้าเดิมและเติมลูกค้าใหม่มาเพิ่มขึ้นได้
ก่อนการปรับโฉมมีปริมาณลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 80,000 คนในวันธรรมดา และ 100,000 คนต่อวันในวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังปรับโฉมมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 15-20%
บิ๊กซี VS เทอร์มินอล 21 เปิดศึก “สะพานลอยคนข้าม”
ไม่เพียงแต่ศึกระหว่าง 3 บิ๊กศูนย์การเท่านั้น แต่ยังต้องเจอรับน้องจากบิ๊กไฮเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่มาก่อน อย่างกรณีเทอร์มินอล 21 ซึ่งตั้งใจจะสร้าง “สะพานลอยคนข้าม” ไปยังฝั่งบิ๊กซี เพื่อดึงคนมาเข้าห้างฯ แต่ก็ต้องล้มโครงการไป แม้จะได้อนุมัติจากหน่วยงานรัฐแล้ว จนต้องใช้วิธีซื้ออาคารที่เป็นร้านขายของเล็กๆ ฝั่งตรงข้าม เลยพื้นที่ของบิ๊กซีไปเล็กน้อย และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเชื่อมเข้าสู่ตัวห้างเทอร์มินอล 21 ได้โดยตรง
รวมกันเราอยู่
แม้จะเป็นห้างใหญ่ แต่เมื่อมาเปิดถึงถิ่น ก็ต้องดึงความร่วมมือจากธุรกิจท้องถิ่น อย่าง “ร้านคลาส คาเฟ่” เจ้าของฉายา “สตาร์บัคส์อีสาน” มารุต ชุ่มขุนทด เจ้าของร้าน และซีอีโอ บริษัท คลาส คอฟพี่ ในฐานะเป็นคนโคราช กล่าวว่า คลาส คอฟฟี่ ได้ร่วมมือกับบีทูเอส ร้านหนังสือและเครื่องเขียนของกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกันทำ co working space ในพื้นที่ของบีทูเอส Think Space ในห้างเซ็นทรัล โคราช ด้วยพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตารางเมตร
“ถือว่าเป็นสาขาแรกที่มีความร่วมมือกัน เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ห้างเซ็นทรัลต้องการ ขณะเดียวกันยังได้กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานนอกสถานที่ หาที่แฮงเอาต์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจ และนักเรียนนักศึกษาที่หาสถานที่อ่าน และติวหนังสือ”
นอกเหนือจากบีทูเอสแล้ว ห้างเซ็นทรัลยังมีพื้นที่สำหรับ co working space ในห้างในพื้นที่ของร้านกาแฟอีกถึง 3 แบรนด์ อยู่คนละชั้น ตั้งแต่ร้านกาแฟอเมซอนในขนาดพื้นที่ 300 ตารางเมตร ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในพื้นที่ 400 ตารางเมตร และร้านทรูสเฟียร์ ของกลุ่มทรู
มารุต กล่าวด้วยว่า การเข้ามาของห้างใหญ่ในโคราชครั้งนี้ พยายามหาจุดเด่นและบริการที่คนรุ่นใหม่ที่นี่ต้องการ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ หลังลงทุนกันอย่างเต็มที่
ความคึกคักในการลงทุนของห้างต่างๆ นี้ นับเป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองที่จะมีทั้งรถไฟความเร็วสูง และทางด่วนมอเตอร์เวย์ ที่กำลังจะมาถึงโคราชในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่จะมีผู้คนเดินทางทั้งทำธุรกิจ และการท่องเที่ยวอีกมาก
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่สุดของบรรดาห้างในเมืองโคราช ก็คือ จำนวนคนเข้าห้าง ช่วงเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการ และช่วงเย็นของทุกๆ วัน มีจำนวนมาก แต่ช่วงกลางวันวันธรรมดาจะเงียบเหงามาก
“เพราะคนโคราชส่วนใหญ่คือคนทำงานทั้งในระบบราชการ โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และนักศึกษา ทำให้ช่วงกลางวันคือช่วงทำงาน ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด สิ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าการแข่งขันธุรกิจห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ก็คือ จะสร้างกิจกรรมการตลาดอย่างไรให้น่าสนใจ และดึงกลุ่มคนในทุกช่วงวัยเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ของแต่ละห้างได้ในระยะยาว“
ขณะเดียวกัน นอกจากห้างต้องดึงธุรกิจท้องถิ่นเข้ามาเป็นแม่เหล็ก ธุรกิจท้องถิ่นเองก็ต้องร่วมทำธุรกิจกับห้างด้วยเช่นกัน
รวินวัฒน์ จารุกำเนิดกนก กรรมการผู้จัดการ ห้างทอง ยูเฮชแอล อึ้งเฮงหลี หนึ่งในทายาทหนุ่มของร้านค้าทองเก่าแก่ 120 ปี ของเมืองโคราช กล่าวว่า ทุกวันนี้บรรดาธุรกิจห้างร้านดั้งเดิมของเมืองโคราชที่อยู่ในตลาดเก่า ล้วนแต่ต้องปรับตัวกันทั้งนั้น รวมถึงธุรกิจร้านทองของตระกูล
“ทุกวันนี้ ร้านทองเราก็ไม่สามารถแสตนด์อโลนแบบร้านโดดๆ ในตลาดเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราต้องขยายสาขาไปตามห้างที่เปิดใหม่ๆ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีคนจับจ่ายใช้สอยมาก เพราะเราต้องเข้าหาลูกค้า ก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ ทุกคนต้องปรับตัวกันทั้งนั้น ใครปรับตัวไม่ได้ ก็อยู่ไม่รอด”
การปรับตัวนี้ ทุกคนมั่นใจว่าคุ้มค่า เพราะกำลังซื้อที่นี่มีจำนวนมาก นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยมากถึง 15 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 2,000 โรงงาน และมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 6 โรง และยังเป็นสถานที่ทำการของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก
“คลังพลาซ่า” ใช้พลังท้องถิ่น ปลาเล็กสู้ปลาใหญ่
แม้จะมีทุนใหญ่มหาเศรษฐีมาเปิดห้างถึงถิ่นโคราช แต่เจ้าถิ่นอย่าง “คลังพลาซ่า” ก็ยังไม่ถอย
คลังพลาซ่า ถือเป็นห้างดั้งเดิมของเมืองโคราช มีตำนานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2501 จากร้านขายอุปกรณ์การเรียนในชื่อ ”คลังวิทยา” ขยายเป็น ”คลังวิทยาดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ในปี 2519 ในฐานะห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภาคอีสาน จนกลายมาเป็นห้างสรรพสินค้า ”คลังพลาซ่า” เมี่อปี 2529
ที่จริงแล้ว ห้างแห่งแรกของเมืองโคราชคือ ห้างธารา และก็เกิดคลังวิทยาตามมา มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ห้างธาราซึ่งมีขนาดเล็กกว่าต้องล้มเลิกกิจการ คลังวิทยา จึงกลายเป็นห้างใหญ่ ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น คลังพลาซ่า และเป็นห้างคู่เมืองโคราช ปัจจุบันมี 3 สาขา 2 สาขาแรกอยู่ในเขตเมือง ย่านการค้าตลาดเก่าของเมืองโคราช ที่ยังคงมีฐานลูกค้ากลุ่มแม่บ้าน กลุ่มคนในตลาด เมืองเก่าอย่างเหนียวแน่น มีการปรับปรุงขยายพื้นที่จนมีสาขา 3 ในรูปแบบที่ทันสมัยชื่อว่า “คลังวิลล่า” ที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ และกำลังก่อสร้างสาขาที่ 4 ในชื่อว่า “คลังสเตชั่น” บนที่ดิน 17 ไร่ ริมทางรถไฟ ในแนวห้างแบบคลาสสิก มีบ้านเรือนเก่าของพนักงานรถไฟตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
กลางปี 2556 คลังพลาซ่า สาขาที่ 2 ที่อยู่ในเมืองเก่า ใกล้อนุสาวรีย์ย่าโม ได้ปรับโฉมครั้งใหญ่ เปลี่ยนทั้งโลโก้ ภาพลักษณ์ เพื่อให้ดูทันสมัย รองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อแทนที่ฐานลูกค้าเดิมที่เป็นกลุ่มสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ และรองรับการขยายตัวกำลังซื้อที่เป็นคนในพื้นที่และคนต่างพื้นที่ โดยขยายพื้นที่จากเดิม 20,000 ตารางเมตร เป็น 30,000 ตารางเมตร อีกทั้งเพิ่มพื้นที่จอดรถ และเพิ่มร้านค้า ร้านอาหารซึ่งเป็นที่นิยมอีกหลายร้าน โดยเปิดบริการโฉมใหม่ในเดือนกันยายน 2557
คลังพลาซ่าให้ฉายตัวเองว่าเป็น “ห้างของคนท้องถิ่น” แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันดุเดือดของห้างใหญ่ แต่ด้วยฐานของความเป็นคนพื้นเมือง และเป็นแลนด์ลอร์ดในพื้นที่ เป็นเจ้าของธุรกิจบ้านจัดสรรขนาดใหญ่แทบทั้งหมดในเมืองโคราช ทำให้คลังพลาซ่ายังคงยังยืนหยัดต่อสู้กับห้างยักษ์ใหญ่ทั้งหมดได้อย่างแข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้
ห้างล้น กทม. ที่ดินแพง ทุนใหญ่พาเหรดลุย ตจว.
“โคราช” นับเป็นภูมิภาคทำเลทองล่าสุดที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกไปลงทุนกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจทุนหนาระดับมหาเศรษฐีของไทย และของโลก ไปรวมตัวกันครบแล้ว
อย่างล่าสุด “เซ็นทรัล” ที่กำลังจะเปิดตัวที่โคราช หลังรอมานาน 16 ปี ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” ก็ร่วมลงสนามแล้ว จากก่อนหน้านี้ แม้จะมีศูนย์การค้ารูปแบบที่ต่างกันไปรออยู่แล้ว อย่างทุนจากเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ปักธง “บิ๊กซี” ไปแล้ว ทุนจากเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดแนวรบเป็นเพื่อนโชห่วยด้วย “แม็คโคร” แล้ว และยังมีทุนจากกลุ่มเดอะมอลล์ และทุนต่างชาติ อย่าง “เทสโก้ โลตัส” รวมถึงเจ้าพ่อแลนด์แอนด์เฮาส์ “อนันต์ อัศวโภคิน” ที่จุดพลุห้างแนวใหม่ อย่างเทอร์มินอล 21 เมื่อปีที่แล้ว
ในมุมมองของ สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า ที่ดินใน กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มหายากและแพง แต่ธุรกิจค้าปลีกก็ต้องลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ของตนเองให้ต่อเนื่อง ทุกบริษัทที่มีทุนก็รุกเต็มที่ในต่างจังหวัด
ลักษณะการบุกต่างจังหวัดหลายปีที่ผ่านมาไปลงทุนในเมืองท่องเที่ยวกันจำนวนมาก เช่น ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต จากนั้นก็ไปบุกลงทุนในหัวเมืองใหญ่ ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างโคราช ล่าสุด ที่มีห้างไปเปิดบริการกันมาก บนถนนมิตรภาพ ที่เปรียบเทียบได้ว่าเป็นย่านธุรกิจของเมือง เหมือนซีบีด
แม้ว่า ณ ปัจจุบันจำนวนลูกค้าจะยังไม่สามารถทำให้เกิดการคุ้มทุนได้เร็ว และยังต้องรอโครงสร้างระบบการคมนาคมอย่างรถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางเบา (โมโนเรล) แต่ธุรกิจค้าปลีกต้องมองระยะยาว คือ การซื้ออนาคต รอเวลาการคุ้มทุน และที่ได้แน่ๆ ในปัจจุบัน คือการครอบครองที่ดิน
นอกจากการลงทุนในเมืองใหญ่ๆ กระแสที่กำลังมาคือการไปลงทุนในหัวเมืองรองมากขึ้น เช่น บางรายไปลำพูน ตาก เชียงราย พิษณุโลก แล้ว
ขณะที่การลงทุนในกรุงเทพฯ กลุ่มห้างสรรพสินค้าเริ่มชะลอตัว เพราะที่ดินแพง หายากดังกล่าว และยังรองรับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย ขณะที่กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็จะขยายสาขาในขนาดพื้นที่เล็กลง
ดังนั้น พื้นที่ค้าปลีกทั่วประเทศไทยปี 2560 ที่มีประมาณ 18.7 ล้านตารางเมตร อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 7 ล้านตารางเมตร อยู่ในต่างจังหวัด 1.1 ล้านตารางเมตร ในปีหน้าพื้นที่ค้าปลีกทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 300,000-400,000 ตารางเมตร ที่เหลือจึงมุ่งหน้าสู่ต่างจังหวัดกันอย่างคึกคัก
เทรนด์นี้ จากการสำรวจของ Positioning พบว่า แผนการขยายสาขาของแต่ละแบรนด์ จะมีสัดส่วนในต่างจังหวัดมากกว่า หรือพอ ๆ กัน อย่างเช่นเซ็นทรัล ปี 2560 มีท้ังหมด 30 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 13 แห่ง ในต่างจังหวัด 17 แห่ง ส่วนใน 5 ปี ช่วงปี 2560-2564 เซ็นทรัล มีแผนขยายสาขาในต่างจังหวัด 7 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล 7 แห่ง และที่มาเลเซีย 1 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีโรบินสันที่รุกต่างจังหวัด นอกจากไปกับห้างเซ็นทรัลแล้ว หากแยกตั้งเอง ก็จะเน้นความเป็นห้างไลฟ์สไตล์ ที่มีแผนเปิดใน 3 จังหวัดในปีนี้
ขณะที่แม็คโคร ที่เป็นห้างที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง หยุดขยายสาขาในกรุงเทพฯ มาแล้วหลายปี โดยตั้งแต่ปี 2557 มีสาขาในกรุงเทพฯ 9 แห่ง แต่ขยายสาขาในต่างจังหวัดในช่วงปี 2557-2562 แล้ว 48 แห่ง
ส่วนบิ๊กซี ก็มีแผนการขยายห้างขนาดใหญ่ 9 แห่งในปีนี้ ที่เกือบทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัด.