นับเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกไทย “เซ็นทรัล” ได้ประกาศความร่วมทุนกับ “เจดี ดอทคอม” พี่เบิ้มวงการอีคอมเมิร์ซในจีนและเบอร์ 3 ของโลก พร้อมทุ่มงบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,500 ล้านบาท ลุยค้าปลีกรับโลกดิจิทัล
“ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ระบุว่า บริษัทได้ร่วมมือกับเจดี ดอทคอม เพื่อรับกับโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ซึ่งทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก และยังเป็นการสอดรับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วย หรือดิจิทัล อีโคโนมี รวมถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกที่พลิกโฉมจาก “โมเดิร์นเทรด” สู่ “ไซเบอร์เทรด” เรียบร้อยแล้ว
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัลจัดระบวนทัพธุรกิจหลายอย่างเพื่อให้พร้อมและรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยต้นปีมีการกำหนดยุทธศาสตร์ “Digital Centrality” ขับเคลื่อนธุรกิจ ทว่าวันที่ 2 พ.ย.60 สำคัญมากเมื่อบริษัทประกาศก้าวใหญ่สุดในการร่วมมือกับเจดี ดอทคอม เพื่อเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเต็มสูบ
เหตุผลที่เลือกเจดีฯ เพราะเป็นบริษัท “ยักษ์ใหญ่เบอร์ 3” อีคอมเมิร์ซโลกและ “ผู้นำ” ในตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เทคโนโลยีพัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว และอนาคตอันใกล้คาดว่าจะ “ดีกว่าสหรัฐฯ” ด้วย
นอกจากนี้ ปรัชญาการทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายตรงกัน คือเจดีฯ ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง “ลูกค้า” เป็น “หัวใจ” อันดับหนึ่ง เพื่อสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นสูงสุด
สำหรับความร่วมมือกับเจดีฯ จะนำมาเสริมให้เซ็นทรัล 3 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมาย (Aim) จะเป็น “เบอร์ 1” ของเมืองไทยและก้าวสู่สังเวียนระดับภูมิภาค 2.ด้านการเงิน (E-Finance) และ 3.อี-โลจิสติกส์ (E-Logistic) ซึ่งเจดีฯ มีจุดเด่นและ “แกร่ง” ด้านการเป็นผู้นำโลจิสติกส์ระดับโลก จะนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ (Know how) มาบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักและต้นทุนสูง
“ปัจจุบันเจดีฯ มีการพัฒนาโลจิสติกส์นำโดรนไปขนสินค้าเกษตรจากชาวนาเข้าสู่เมือง ลดต้นทุนได้ 75% และสารมารถส่งสินค้าทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด แต่เจดีทำได้ เราจะทรานส์ฟอร์มโลจิสติกส์ของไทยตรงนี้”
นอกจากนี้ จะมีการ “ค้าขาย” ระหว่างกัน โดยส่งออกสินค้าไทยไปประเทศจีน จากปัจจุบันเจดีฯ สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากไทยไปจำหน่ายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่รวมกับสินค้าที่ไปใช้แพลตฟอร์มเจดีฯ จำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นนโยบายที่ผลักดันมานานแต่ยังไม่เกิด เพราะทำยาก แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะเอื้อให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น
“ยุคของอนาคต คือยุคของการทำงานร่วมกันหรือ Alliance ไม่ทำงานคนเดียว แต่เราต้องจับมือกับ ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ในภาพรวม”
ทศ บอกอีกว่า สิ่งที่เซ็นทรัลจะได้รับจากการร่วมทุนครั้งนี้ ยังได้ “พันธมิตร” ของ “พันธมิตร” “เทนเซ็นต์” ยักษ์ใหญ่ไอทีแดนมังกร และ “วอลมาร์ท” พี่เบิ้มค้าปลีกสหรัฐฯ
“นอกจากเราจับมือกับเจดีแล้ว เรายังได้เพื่อนมาอีก 2 คน คือเทนเซ็นต์และวอลมาร์ท ช่วยสร้างเครือข่ายการค้า เป็นพันธมิตรพัฒนาธุรกิจร่วมกันต่อไป”
อย่างไรก็ตาม การที่เซ็นทรัลออกตัวช้ากว่า “คู่แข่ง” และตลาดมียักษ์ใหญ่แข่งเดือดอยู่แล้ว ทศบอกว่า การดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัล 70 ปี เผชิญการแข่งขันตลอดทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่มีประเด็นให้กังวล และธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปิดกว้างสำหรับผู้เล่นทุกราย และผู้บรโภคทุกคน
“การบุกอีคอมเมิร์ซครั้งนี้จะทำให้เซ็นทรัลเติบโตก้าวกระโดด”
“ญนน์ โภคทรัพย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล เสริมว่า เซ็นทรัลมียอดขายประมาณ 320,000 ล้านบาท ทุก 5 ปีจะต้องสร้างการเติบโต “เท่าตัว” หรือเฉลี่ย 15% ต่อปี และ “อีคอมเมิร์ซ” จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่เข้ามามีบทบาทสร้างสัดส่วนรายได้ 15% ใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันออนไลน์ของกลุ่มมียอดขาย 1% เศษเท่านั้น การร่วมทุนกับเจดีทุ่มงบลงทุน 17,500 ล้านบาท จะเป็นการเสริมเซ็นทรัลสู่ออนไลน์เต็มตัว
ปัจจุบันผู้บริโภคราว 51% ของโลกราว 80,000 ล้านคน อยู่กับเทคโนโลยี และ 1 ใน 3 อยู่บนโซเชียลมีดีย ส่วนไทย 2 ใน 3 ของประชากรท่องอินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลมีเดีย
“ถ้าเราทำธุรกิจแบบเดิมคือห้างที่เป็นฟิสิคัลหรือออฟไลน์ จะพลาดโอกาสลูกค้าไปมหาศาล ผู้ทำธุรกิจอาจต้องหัวเราะหรือร้องไห้ก็ได้ท่ามกลางโอกาสที่เปิดให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ๆในโลกออนไลน์”
จากนี้ไปเซ็นทรัลจะลุย 2 Speed เคลื่อนธุรกิจได้แก่ 1.สร้างแพลตฟอร์ม JD.CO.TH และเสริมแกร่งให้กับทุกธุรกิจ (BU) ของเครือทั้งหมด เช่น www.robinson.co.th, topsmarket.tops.co.th, www.supersports.co.th ฯ มาอยู่ในมาร์เก็ตเพลสแห่งนี้ 2.ลงทุน 500 ล้านบาท สร้าง Data lake เพื่อเก็บข้อมูลผู้บริโภคและวิเคราะห์ให้เข้าใจความต้องการของลูกค้าดีที่สุด เมื่อลูกค้าต้องการช่องทางซื้อที่น้อยลง (Channel-less) ต้องทำให้ “ออมนิแชนแนล” เชื่อมช้อปปิ้งออฟไลน์และออนไลน์ให้ได้
โดยงบลงทุน 17,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 50% เพื่อลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ อีก 50% ลงทุนด้านอีไฟแนนซ์มีการทำตลาดออนไลน์ (E-marketing) จัด “ดีล” เด็ดๆ แก่ผู้บริโภคที่แลนดิ้งมายังหน้าเว็บไซต์ JD.CO.TH ซึ่งแต่ละคนจะได้ดีลที่แตกต่างกันไป รวมถึงสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ (E-experience) ให้แก่ลูกค้าด้วย
ทว่าความน่าสนใจคือการทุ่มทุนสู่ด้านการเงิน ซึ่งเซ็นทรัลจะเดินหน้าพัฒนา Payment Gateway E-wallet รับสังคมไร้เงินสด ที่สำคัญมีบริการด้านการเงินทั้งสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย จนถึงซัพพลายเออร์ที่เรียกว่า Consumer Finance และ Supplier Financeทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์ก่อนเปิดตัวในเดือนเมษายน 2561
ความสำคัญเร่งด่วนในการร่วมทุนครั้งนี้ ต้องหาเทคโนโลยีใหม่และดีสุดมาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเมืองไทย
แม้การออกตัวลุยอีคอมเมิร์ซของเซ็นทรัลจะช้ากว่าคู่แข่ง 5 ปี แต่ ญนน์บอกว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังเล็กมาก ทำให้มีโอกาสมาก ขณะที่การผนึกกำลังกับเจดี ไม่ใช่การเริ่มต้นจาก “ศูนย์” เพราะเซ็นทรัลมีฐานลูกค้า 14 ล้านราย มีซัพพลายเออร์หลักหมื่นราย และมีสินค้า 40-50 ล้านรายการ (SKU) ขณะที่เจดีมีฐานลูกค้า 250 ล้านคน และสินค้าอีกมหาศาล ซึ่งจะสร้างแต้มต่อให้บริษัทได้
สำหรับโจทย์ยากของการทำตลาดอีคอมเมิร์ซของเซ็นทรัล ญนน์ บอกว่า ต้องดึงลูกค้า (Customer acquisition) ให้ได้ แต่นั่นต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงเห็นบรรดาผู้เล่นอีคอมเมิร์ซทั้งเล็กใหญ่ล้วนมี “ผลการดำเนินงานแดง” ถ้วนหน้าแม้กระทั่ง Amazon ส่วนเซ็นทรัลลงทุนใหญ่จะมีกำไรเมื่อไหร่? มอง 2 ส่วน คือต้องสร้างการเติบโตของลูกค้า สร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ให้ได้ และที่สำคัญต้องสร้างกระแสเงินสดเพื่อนำมาลงทุนผลิตกำไร (Generate)
“การรุกออนไลน์ของเซ็นทรัล ในยุคดิจทัลเป็นการเปลี่ยนแปลงหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า เปลี่ยนร่างกาย วิธีคิด หัวใจ ทดลองเรียนรู้และสร้างต่อ ส่วนการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ เซ็นทรัลก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะเรามีลูกค้าแค่ต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการเติบโตด้านลูกค้า การค้าอีคอมเมิร์ซ ต้องการขนาดหรือสเกล เมื่อได้สเกลค่อยคิดทำกำไร ซึ่งการคืนทุนของเซ็นทรัลเรามองภายใน 3-5 ปี”.