By-line : Leave Me Alone
เมื่อ “ประสบการณ์นอกจุดขาย” กลายเป็นกลยุทธ์จำเป็นสำหรับแบรนด์อุปกรณ์กีฬา สองแบรนด์ใหญ่อย่าง อาดิดาส และไนกี้ จึงพยายามเปลี่ยน “นักวิ่งออฟฟิศ” ให้กลายเป็น “ประชากรของแบรนด์” ผ่านกิจกรรมชุมชนนักวิ่งในรูปแบบของ City Run
อาดิดาส เปิดตัวได้แรงกับการประกาศตัวของกลุ่มนักวิ่งซิตี้รันเนอร์สในนามของ “อาดิดาส รันเนอร์ส แบงค็อก” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า AR ที่เปรียบได้กับกลุ่มนักวิ่งต้นแบบที่ชื่นชอบและสนุกกับการวิ่งบนพื้นถนนในเมือง ซึ่งนำโดยสองเซเลบริตี้รันเนอร์ส กัปตันทีม ตุลย์-ตุลยเทพ เอื้อวิทยา และ โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร พร้อมด้วยกลุ่มไอดอลนักวิ่ง โค้ช เพื่อเรียกความสนใจจากลุ่มนักวิ่งออฟฟิศทั่วไปก่อนจัดกิจกรรมที่ผสานความสนุกของการวิ่งจริง กับการซ้อมโดยมีโค้ชมืออาชีพให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาการวิ่งต่อไป แต่ข้อแม้เดียวในการร่วมกิจกรรมกับอาดิดาส คือ นักวิ่งต้องสวมเสื้อผ้าและรองเท้าของอาดิดาสเท่านั้น
ส่วน ไนกี้ ปักหลักยึดพื้นที่สวนลุมพินี ทุกวันพุธตอนเย็น ในการจัดกิจกรรม Nike + Run Club หรือเรียกอย่างย่อว่า NRC ที่เน้นทั้งทฤษฎีพร้อมปฏิบัติจริงเน้นอบรมการวิ่งโดยโค้ชและเพเซอร์จากไนกี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากแอปพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับนักวิ่งของไนกี้เอง
โดยไนกี้ไม่ได้มีกลุ่มนักวิ่งสายเซเลบมารวมตัวกันเป็นประจำ แต่เน้นไปที่การพัฒนาทักษะการวิ่งของนักวิ่งออฟฟิศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้คำแนะนำในการวิ่งที่ถูกต้องและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการวิ่งให้ดีขึ้นไปอีก แถมยังมีโอกาสได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากไนกี้อีกด้วย
ทำไมต้องสร้างชุมนุม City Run
ในทางทฤษฎี การวิ่ง เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ง่ายและสะดวกที่สุด จนไม่น่าแปลกใจที่งานวิ่งระดับมหาชนแต่ละงานจะมีคนมาร่วมนับพัน สัปดาห์หนึ่งจัดพร้อมๆ กันเป็นหลักสิบงาน โดยเฉพาะรูปแบบ Fun Run ที่เริ่มต้นตั้งแต่ระยะทาง 3-5 กิโลเมตร ซึ่งมีนักวิ่งหน้าใหม่ที่อยากลองมาร่วมทดสอบในระยะนี้กันอย่างล้นหลาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การที่จะเริ่มต้นวิ่ง และพัฒนาไปสู่การวิ่งได้ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปถ้าหากมีการฝึกฝนที่เหมาะสม รวมถึงการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะกับสภาพเท้าและท่าวิ่งของแต่ละคน
ในขณะที่นักวิ่งที่มีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะทุ่มเทกำลังทรัพย์และกำลังกายให้กับการพัฒนาการวิ่ง ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นนักวิ่งออฟฟิศทั้งหมดจึงเป็นประตูที่เปิดออกให้กับแบรนด์ได้พัฒนากิจกรรมนอกจุดขายขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของนักวิ่งออฟฟิศ และขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสของแบรนด์ในการเปลี่ยนจากนักวิ่งออฟฟิศ สู่ Brand Loyalists และก้าวสู้ Brand Advocacy ในที่สุด
เกมนี้ระหว่าง Adidas VS Nike คงไม่ได้วัดกันที่เส้นชัยแต่เป็นการวิ่งระยะยาวที่ต้องใช้ยอดขายเป็นตัวตัดสิน