กลุ่มสามารถ แจงปิดฉากถาวร สปอนเซอร์สนามฟุตบอล “ไอโมบาย” เหลือเพียงสปอนเซอร์เสื้อทีมบอล

เป็นเวลาประมาณหกปีที่ชื่อของ ไอโมบาย เป็นคำเรียกติดปากของทั้งคนบุรีรัมย์ และแฟนฟุตบอลที่มาเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล ว่า ไอโมบาย สเตเดียม สนามฟุตบอลประจำทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ธันเดอร์ คาสเซิล สเตเดียม (Thunder Castle Stadium) แต่ในวันนี้ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนชื่อสนามเป็นครั้งแรก เพราะการปิดตัวของธุรกิจมือถือสัญชาติไทยที่เคยมียอดขายรวมแล้วเกือบ 40 ล้านเครื่องอย่างไอโมบาย ของกลุ่มบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ได้ยุติการเป็นสปอนเซอร์สนามฟุตบอลบุรีรัมย์อย่างเป็นทางการแล้ว เนื่องจากบริษัทได้ยกเลิกกิจการมือถือแบรนด์ไอโมบายไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ยังเป็นสปอนเซอร์หลักให้ทีมฟุตบอลปราสาทสายฟ้า โดยเปลี่ยนจากโลโก้ไอโมบาย มาใช้ชื่อ “สามารถ แทน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มสามารถได้แถลงข่าวยุติการผลิตและจำหน่ายโทรศัพท์ไอโมบาย ที่วางขายมาตั้งแต่ปี 2546 ในนามบริษัท สามารถ ไอโมบาย หลังจากรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการแข่งขันในตลาดมือถือที่รุนแรงมากขึ้นไม่ไหว ทำให้บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุน จนต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัทสามารถ ดิจิทัล

“เราเข้าไปเป็นสปอนเซอร์สนามแห่งนี้ เพราะเราต้องการสร้างแบรนด์ไอโมบายของเราให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ในฐานะแบรนด์ใหม่ของไทย ซึ่งถือว่าเราประสบความสำเร็จมาก แต่เมื่อเราปิดตัวธุรกิจและแบรนด์นี้ลงไป เราจึงต้องถอนตัวออกมา เพื่อเปิดทางให้รายใหม่เข้ามา” วัฒน์ชัยกล่าว

ตัวเลขของค่าใช้จ่ายในการเป็นสปอนเซอร์สนามแห่งนี้ แม้ไม่ได้มีการเปิดผยให้เป็นที่รับรู้ แต่ก็รู้กันในวงการว่า ในราคามาตรฐาน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อปีจะตกที่ประมาณ 40 ล้านบาท แต่อาจจะมีส่วนลด หรือแพ็กเกจที่ตกลงกับเจ้าของสนามฟุตบอล คือสโมสรฟุตบอล บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือชื่อเล่นว่า ทีมปราสาทสายฟ้า ในขณะที่ราคาการเป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอล จะอยู่ในเรทที่ประมาณรายละ 10-20 ล้านบาทต่อปี โดยจะได้มีโลโก้ติดที่เสื้อนักกีฬา

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า สปอนเซอร์รายใหม่ของสนามฟุตบอลแห่งนี้ คาดว่าจะเป็น เบียร์ช้าง ของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภัคดี ที่ปัจจุบันเป็นสปอนเซอร์สนามแข่งรถมูลค่ากว่าสองพันล้าน ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต หรือ บุรีรัมย์ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต (Buriram International Circuit ) สนามกีฬาอีกแห่งที่อยู่ติดกันของเนวินเช่นกัน

เนวินสร้างสนามกีฬาฟุตบอลแห่งนี้เมื่อปี 2555 ด้วยงบลงทุนกว่า 500 ล้าน เบื้องต้นมีความจุ 24,000 ที่นั่ง แต่ได้เพิ่มความจุ ปัจจุบันจุได้ 32,600 ที่นั่ง นับเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานในระดับสากล ถูกบันทึกลงกินเนสบุ๊คว่าเป็นสนามฟุตบอลในระดับฟีฟ่า ที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน ปัจจุบันสนามแห่งนี้นอกจากใช้เป็นที่แข่งขันฟุตบอลแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีผู้ชมเข้ามาซื้อตั๋วเข้าชมสนาม เหมือนสนามฟุตบอลใหญ่ๆ ในต่างประเทศอีกด้วย อีกทั้งเสื้อทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยังเป็นเสื้อทีมฟุตบอลที่ขายที่ดีสุดทีมหนึ่งในประเทศไทย

สำหรับธุรกิจไอโมบายนั้น ได้เข้าไปเป็นสปอนเซอร์สนามฟุตบอลในช่วงที่บริษัทขยายแบรนด์ ในปี 2555 เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดมือถือ เป็นแบรนด์ของคนไทยที่ต่อกรกับแบรนด์ต่างประเทศ เช่น โนเกีย ซีเมนส์ ได้ในขณะนั้น มียอดขายมากกว่าล้านเครื่องต่อปี เช่นปีในปี 2550 ที่ไอโมบายเคยเคลมว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับสองรองจากโนเกีย การเข้าไปเป็นสปอนเซอร์สนามฟุตบอลจึงเป็นการต่อยอดขยายตลาดให้กับแบรนด์ได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง

ปี 2556 เรียกได้ว่าเป็นช่วงพีคของไอโมบาย ที่ทำยอดขายมือถือสูงถึง  3.8 ล้านเครื่อง โดย 1.7 ล้านเครื่องเป็นเครื่องสมาร์ทโฟน มีกำไรสูงสุดอยู่ที่ 807 ล้านบาท จากรายได้รวมที่ 10,300 ล้านบาท โดยในปี  2557 ก็ยังคงเติบโตมีรายได้12,494 ล้านบาท แต่กำไรตกลงอยู่ที่ 710 ล้านบาท

แต่ในช่วงหลัง เมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เอไอเอส ดีแทค ทรู หันมาทำตลาดมือถือเฮาส์แบรนด์” ของตัวเอง ในราคาต่ำ ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับไอโมบาย ที่ต้องเข้าสู่ขาลง ในปี 2559 รายได้หล่นลงเหลือ 3,461 ล้านบาท ขาดทุน 720 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ขาดทุนอีก 679 ล้านบาท

จนในที่สุดต้องยุติธุรกิขายมือถือ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อ จากบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด หันไปทำดิจิทัล เน็ตเวิร์ค ในการทำ ดิจิทัล ทรังค์ เรดิโอให้กับ กสท โทรคมนาคม, ดิจิทัล คอนเทนต์,  IoT และธุรกิจกีฬา ในนาม iSport  เลิกการทำแบรนด์มือถือไอโมบาย และกิจการให้บริการมือถือเอ็มวีเอ็นโอ ทั้งชื่อไอโมบายและโอเพ่นทั้งหมด.