3 ธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นประกาศผลกำไรลดลงอย่างถ้วนหน้า โดยกลุ่มมิซูโฮ ไฟแนนเชียล ตัดลดพนักงานเกือบ 20,000 คน และลดสาขา 100 แห่ง เนื่องจากนวัตกรรมการการเงิน หรือ “ฟินเทค” จะเข้ามาแทนที่การบริการแบบเดิมของธนาคาร
ธนาคารยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น หรือ “เมกะแบงก์” 3 ใน 5 แห่ง คือ ธนาคารมิซุโฮ, ธนาคารสุมิโตโม มิตซุย และธนาคารโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ประกาศผลประกอบการรอบ 6 เดือน โดยมีผลกำไรลดลง เนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่กดดอกเบี้ยจนต่ำติดลบ และแนวโน้มที่ลูกค้าหันไปใช้เทคโนโลยีทางการเงินออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “ฟินเทค” (Financial Technology)
กลุ่มมิซูโฮ ไฟแนนเชียล ประกาศแผนลดจำนวนพนักงานลง 20% ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยคิดเป็นจำนวนพนักงานที่ถูกลดราว 19,000 คน และลดสาขา 100 แห่ง ตามแผนปรับโครงสร้างที่ประกาศเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางธนาคารจะลดการจ้างพนักงานใหม่ และผลักดันโครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจของพนักงานสูงวัยที่ร่วมงานกับธนาคารมาตั้งแต่ยุครุ่งเรือง นอกจากนี้ ยังจะลดขนาดของสาขาต่างๆ ลงร้อยละ 20 ภายในเดือนมีนาคม ปี 2025
ทางด้าน โตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ก็จะลดจำนวนพนักงานลง 9,500 คน และลดจำนวนสาขาลง 10-20% เช่นกัน แต่ถึงแม้ธุรกิจในญี่ปุ่นจะยากลำบาก แต่กลุ่มโตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากกิจการนอกประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่โตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ธนาคารของญี่ปุ่นซึ่งเคยได้ชื่อว่าสั่งสมความมั่นคั่งไว้มากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก จนสามารถขยายธุรกิจข้ามไปยังอุตสาหกรรมและบริการทั้งในและต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ต้องเผชิญความยากลำบากจนไม่สามารถเป็น “เสือนอนกิน” ได้อีกต่อไป ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เมกะแบงก์เคยเป็นอาณาจักรที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากใฝ่ฝันจะเข้าไปทำงาน แต่ต่อไปในอนาคตสิ่งที่เคยใหญ่อาจไม่มั่นคง ใครจะรู้ในภายภาคหน้าธนาคารใหญ่อาจต้องกลายเป็นธุรกิจที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ให้มากอย่างที่ธนาคารท้องถิ่นทำอยู่
ส่วนบรรดาลูกค้าก็ต้องไปใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือตู้ ATM โดยบริการจากพนักงานก็จะน้อยลงเรื่อยๆ หรือจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแพงขึ้นหากต้องการบริการที่สาขาธนาคาร.
ที่มา : mgronline.com/japan/detail/9600000115608