ใครจะซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม ไว้อยู่ หรือไว้เก็งกำไรในอนาคต ต้องทำการบ้านให้ดี เพราะทำเลที่คิดว่าจะซื้อง่ายขายคล่องได้กำไร อาจไม่ใช่อย่างที่คิด ที่สำคัญกลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อที่อยู่อาศัยก็เริ่มเปลี่ยนไป ทั้งปัจจัยการตัดสินใจ และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยทิศทางความต้องการของลูกค้าในการซื้อที่อยู่อาศัยว่า จากราคาที่อยู่อาศัยต่อตารางเมตรใน กทม.ที่บางเขตมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% และบางเขตไม่เพิ่มขึ้นเลย โดยเฉพาะชานเมืองที่รถไฟฟ้าไปไม่ถึง สะท้อนว่าความต้องการที่อยู่อาศัยยังเน้นปัจจัยเลือกจากทำเล โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้า
เขตที่มีราคาที่อยู่อาศัยสูงสุด โดยดูจากราคาต้องการเสนอซื้อขายเฉลี่ยต่ำที่สุด ซึ่งราคาขายจริงอาจสูงกว่า ซึ่งราคาในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาสูงขึ้นจากไตรมาส 2 หรือผ่านไปเพียง 3 เดือน สูงถึง 10% คือเขตจตุจักร ที่มีการขยายเขตแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว รองลงมาคือพระโขนง 7% คลองเตย 4% ราชเทวี 2% เช่นเดียวกับ พญาไท ส่วนที่เพิ่ม 1% คือสาทร ปทุมวัน ที่มีการปรับราคาสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้เขตปทุมวัน ราคา ณ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 178,947 บาทต่อตร.ม. รองลงมาคือ ราชเทวี 170,000 บาทต่อ ตร.ม. ส่วนที่ถูกที่สุดอยู่ที่พระโขนง 94,118 บาท แต่ไตรมาส 3 ราคาเพิ่มเป็น 101,000 บาทต่อ ตร.ม.แล้ว
คนรุ่นใหม่มาแรง แบรนด์เรื่องรอง
สำหรับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยนั้น หากดูจากกลุ่มคนที่เข้ามาดูเว็บไซต์ของ DDproperty จำนวน 3.5 ล้านคนต่อเดือน และใช้เวลาเฉลี่ยประมาณคนละ 8 นาทีต่อครั้ง พบว่าจำนวนที่เข้ามาดูเว็บมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีจำนวนถึง 44% รองลงมาอายุ 35-44 ปี 27% ตามด้วยกลุ่มอายุ 45-54 ปี 12% ที่เหลือคือกลุ่มอายุ 18-24 ปี 8% อายุ 55-66 ปี 7% และอายุมากกว่า 65 ปี 2%
พบว่าแนวโน้มกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการอยู่คอนโดมิเนียมมากขึ้น เหตุผลเพราะเรื่องความปลอดภัย ความพร้อมเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ต้องขึ้นบันได เป็นต้น
ส่วนการตัดสินใจเลือกซื้อของคนรุ่นใหม่นี้ ไล่เรียงปัจจัยสำคัญ อันดับแรกคือ ทำเล การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวก และราคาต่อตารางเมตร ส่วนเรื่องแบรนด์ ก็เป็นเหตุผลสำคัญแต่ไม่มากเท่าในอดีต
“กรณีการตัดสินเลือกซื้อในกลุ่มที่อยู่ระดับไฮเอนด์ บ้านแพงระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป หากปัจจัยทุกอย่างใกล้เคียงกัน แบรนด์ที่ดังน้อยกว่า หรือแบรนด์ระดับกลาง ๆ หากยอมตัดราคาลงมา 5-10% ก็มีผลให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อได้ ส่วนกลุ่มระดับกลางลงมา ดูที่ของแถม หากเป็นของดีมีคุณภาพ ก็จะดึงลูกค้าได้มากกว่า”
สำหรับความต้องการเสนอขาย และซื้อที่อยู่อาศัยที่มีการเสนอผ่านเว็บไซต์นั้น ตลาดใหญ่จำนวน 70% คือระดับราคา 3-8 ล้านบาท 5-8% ระดับแพงกว่า 8 ล้านบาท และต่ำกว่า 1-3 ล้านบาท 22-25%
ทั้งหมดนี้สะท้อนเป็นดัชนีอสังหาริมทรัพย์ที่ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชี้ให้เห็นว่า ไตรมาส 3 ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 53% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจากนี้อีก 1-2 ปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทำเลแนวรถไฟฟ้า และยังไม่เห็นสัญญาณโอเวอร์ซัพพลาย