เมื่อสองบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านสตรีมมิ่งเพลงอย่างสปอติฟาย (Spotify) กับเท็นเซนต์ (Tencent) มีการซื้อหุ้นในบริษัทลูกของอีกฝ่าย ซึ่งกลายเป็นที่น่าจับตา เพราะการซื้อหุ้นระหว่างกันครั้งนี้ ได้ทำให้สปอติฟายมีโอกาสขยายธุรกิจเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่เท็นเซนต์เองก็ได้โอกาสออกมาเติบโตนอกประเทศจีน เรียกได้ว่าวิน – วินทุกฝ่ายนั่นเอง
สำหรับรายละเอียดของการซื้อหุ้นนี้ ไม่ปรากฏกว่ามูลค่าของการซื้ออยู่ที่เท่าไร รวมถึงสัดส่วนที่แต่ละฝ่ายเข้าไปถือหุ้นด้วย ทราบแต่เพียงว่า บริษัทที่สปอติฟายเข้าไปถือหุ้นมีชื่อว่า เท็นเซนต์ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านสตรีมมิ่งเพลงในตลาดจีน
นอกจากนั้น การดีลกับเท็นเซนต์ยังเป็นประโยชน์ในการสร้างสตอรี่ให้กับสปอติฟาย ที่คาดการณ์ว่าจะเข้าตลาดหุ้นในปีหน้าอย่างมากด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่า สปอติฟายมีความสนใจจะบุกตลาดจีนอย่างจริงจัง
โดยหากสปอติฟายใช้โอกาสนี้แทรกตัวเข้าไปในตลาดจีนได้สำเร็จ
นอกจากจะสามารถใช้ดีลนี้เพิ่มมูลค่าหุ้นได้แล้ว ยังสามารถอ้างว่าตนเองเป็นโกลบอล คอมพานีได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่สปอติฟายจะได้ประโยชน์ก็คือ การมีพาร์ทเนอร์เป็นเพื่อนคู่คิด เพราะหลายแบรนด์คงทราบกันดีว่าในตลาดจีนนั้น การบุกเดี่ยวตามลำพัง ไม่ใช่เรื่องง่าย
สำหรับเท็นเซนต์ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนต์นั้น มีบริษัทลูกที่ให้บริการด้านสตรีมมิ่งเพลงอยู่สองบริษัทคือ คิวคิว มิวสิค และ KuGou ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้มีผู้ใช้งานรายเดือนรวมกันอยู่ที่ 450 ล้านคน
ด้าน Daniel Ek ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของสปอติฟายกล่าวว่า สปอติฟายและเท็นเซนต์ มิวสิค เอนเตอร์เทนเมนต์เห็นโอกาสอันดีที่จะก้าวไปสู่ตลาดมิวสิค สตรีมมิ่ง ระดับโลก และคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับพาร์ทเนอร์รายต่าง ๆ ของบริษัทในตอนนี รวมถึงผู้ใช้งานด้วย
หากพิจารณาย้อนหลังจะพบว่า เท็นเซนต์มีการซื้อหุ้นในบริษัทหลาย ๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็น สแน็ป (Snap) ด้วยมูลค่าสองพันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้บริษัทมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของสแน็ป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เท็นเซนต์ก็เคยซื้อหุ้นเทสล่า (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าบริษัท และซื้อหุ้นของซูเปอร์เซลล์ (Supercell) บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ ด้วยมูลค่า 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐด้วยเช่นกัน
ยูทูป เตรียมส่งแอปใหม่ลงชิงชัยในตลาดสตรีมมิ่งเพลง “ปีหน้า”
ทางด้าน ยูทูป (YouTube) ได้เตรียมเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งเพลงแบบสมัครสมาชิกตัวใหม่แล้วในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดสตรีมมิ่งเพลงแข่งกันดุเดือดมากขึ้น เพราะจะมียูทูปเข้ามาเป็นคู่แข่งคนสำคัญของบริการอย่าง สปอติฟาย (Spotify) และแอปเปิลมิวสิค (Apple Music) นั่นเอง
โดยรายงานชิ้นนี้ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างว่ามาจากแหล่งข่าววงในของยูทูป ที่ตั้งใจจะส่งบริการใหม่ลงมาเป็นคู่แข่งกับสปอติฟายและแอปเปิล ส่วนชื่อที่เรียกกันภายในคือ รีมิกซ์ (Remix)
อย่างไรก็ดี คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องซับซ้อนอยู่สักหน่อย เนื่องจากยูทูปเองนั้น หากย้อนประวัติไปดี ๆ ก็จะพบว่า เคยเปิดตัวบริการที่ชื่อว่า ยูทูปมิวสิคคีย์ (YouTube Music Key) เมื่อปี 2014 โดยในยุคนั้น คิดค่าบริการที่ 9.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สมัครสมาชิกสามารถเข้าใช้บริการกูเกิลเพลย์มิวสิค (Google Play Music) ที่มีเพลงมากกว่า 30 ล้านเพลงได้ รวมถึงสามารถอัปโหลดเพลงของตัวเองขึ้นไปได้ด้วย
นอกจากนั้น ยูทูปก็ยังมีบริการอย่าง ยูทูปเรด (YouTube Red) ซึ่งเป็นบริการแบบจ่ายเงินเพื่อแลกกับการไม่ต้องรับชมโฆษณาอยู่แล้ว การจะเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งออกมาใหม่อีกหนึ่งตัวจึงเป็นกลยุทธ์ที่แปลกมากทีเดียว
คำตอบที่พอจะเป็นไปได้คือ เพราะยูทูปมิวสิคคีย์นั้นเปิดตัวออกมาผิดที่ผิดเวลาไป ประกอบกับตลาดสตรีมมิ่งเพลงในยุคนั้นยังไม่ถือว่าเกิดได้อย่างแท้จริง แต่ในยุคนี้ที่ตลาดมีความท้าทายมากขึ้นแล้ว แต่การจะนำบริการเก่าที่ไม่ประสบความสำเร็จมาปัดฝุ่นก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี บทสรุปจึงออกมาที่การสร้างโปรดักซ์ใหม่เสียเลย แถมยังถือเป็นการท้าทายคู่ต่อสู้กันตรง ๆ อีกด้วย
ปัญหาของยูทูปมีเพียงข้อเดียว นั่นคือ การไม่สามารถโน้มน้าวใจผู้บริโภคให้จ่ายเงินสมัครสมาชิกได้ดีนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับความเคลื่อนไหวของยูทูปในปีที่ผ่านมานั้นพบว่า ได้มีการว่าจ้างอดีตผู้บริหารของวอร์เนอร์มิวสิค (Warner Music) อย่าง Lyor Cohen เข้ามาเพื่อช่วยดูแลธุรกิจเพลงในต่างแดน ซึ่ง Cohen ได้ประกาศแผนที่จะเปิดตัวบริการแบบจ่ายเงินตัวใหม่ออกมา ส่วนที่กูเกิลก็มีการส่งทีมงานจำนวนมากจากกูเกิลเพลย์มิวสิคเข้ามายังยูทูปเมื่อต้นปีด้วย
อย่างไรก็ดี โกลแมน แซคส์ (Goldman Sachs) ได้ออกมาคาดการณ์ไว้ในรายงานเรื่อง Music in the Air ว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงนั้นจะสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2030 และกูเกิลจะครองส่วนแบ่งตลาดชิ้นใหญ่ได้เสียด้วย ซึ่งตัวเลขคาดการณ์นั้นอาจเกี่ยวข้องกับบริการสตรีมมิ่งเพลงตัวใหม่ที่มีข่าวว่ากูเกิลจะปล่อยออกมานี้ก็เป็นได้.
ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000124053