ซีรีส์อินเดียช่วงนี้ แผลงฤทธิ์แย่งผู้ชมหน้าจอทีวีจากละครไทย วาไรตี้ไปได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งพลังหนุมาน และ แรงแค้นงูสาวนาคิน กำลังมาแรง ชนิดที่ว่าบางวันมีคนดูเฉลี่ยต่อนาทีสูงกว่าละครไพรม์ไทม์แล้วโดยเฉพาะหนุมานฯ ของช่อง 8 มีโอกาสชนะช่อง 7 และทุกช่องที่นำซีรีส์อินเดียมาออกอากาศ
ทั้งช่อง 3 เอชดี ช่อง 3 แฟมิลี่ ช่อง 8 อาร์เอส และช่องไบรท์ นั้น ต่างค้นพบแล้วว่าซีรีส์อินเดียเป็นตัวดันเรตติ้งช่อง เพราะแต่ละเรื่องได้เรตติ้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่อง ขณะที่ต้นทุนการซื้อรายการเฉลี่ยถูกกว่าผลิตละครเองอย่างน้อย 3 เท่า
ซีรีส์อินเดียจะมาถึงจุดสุดฮอต ที่บ่งบอกได้ว่ายังมีเนื้อหารายการอีกมากมาย ที่ผู้ชมในยุคดิจิทัลต้องการ
***หนุมานฯ ช่อง 8 แผลงฤทธิ์แซงละครช่อง 7
และแล้วพลังลิงน้อย “มารุติ” หน้าตาน่ารัก มีพุงน้อย ๆ ของบรรดาแม่ ๆ สาวกแฟนคลับ ก็ส่งให้ช่อง 8 ได้สัมผัสเรตติ้งอันดับ 1 ช่วงไพรม์ไทม์ หลัง 2 ทุ่ม จากเรื่อง “หนุมาน สงครามมหาเทพ” ในการออนแอร์วันที่ 29 พ.ย.2560
เรียกได้ว่าช่อง 8 ใช้กลยุทธ์เลือกเวลา และโปรดักต์ได้ถูกที่ถูกจังหวะกับที่ “กลุ่มเป้าหมาย” รออยู่อย่างมาก การเลือกเวลา ด้วยการยิงยาว เพื่อพยุงเรตติ้งในรายการที่มีผู้ชมจำนวนมากให้นานที่สุด ที่อาร์เอสตัดสินใจปรับผังรายการของช่อง โดยเคลียร์เวลาให้ “หนุมาน สงครามมหาเทพ” ตั้งแต่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ออนแอร์ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงไพรม์ไทม์ โดยแบ่งเป็นช่วงแรกเวลา 18.50-20.00 และช่วงที่สองคือหลังจบข่าวพระราชสำนัก ออนแอร์เวลา 20.30-21.30 น.ทุกวันจันทร์-พฤหัส
จนถึงจุดพีคคือเมื่อค่ำวันที่ 29 พ.ย.ในการออนแอร์ช่วงที่สอง หนุมานฯ ได้เรตติ้งไป 4.196 หรือหากคำนวณคร่าว ๆ ได้คนดูไปกว่า 2.5 ล้านคน จากปกติหนุมานฯ จะได้เรตติ้งประมาณ 3 กว่า ๆ
การได้ 4.196 คือวันที่ช่อง 7 แผ่วพอดี แม้จะเป็นแชมป์ตลอดกาล แต่วันดังกล่าวไม่ใช่ของวันของช่อง 7 เพราะละครใหม่คือ “วังนางโหง” ทำเรตติ้งได้แค่ 4.010 จากปกติมาตรฐานช่อง 7 จะได้อยู่ที่ประมาณ 5-6
นอกจากนี้หนุมานฯ ยังชนะ “สายธารหัวใจ” ของช่อง 3 แต่ไม่ได้เซอร์ไพรส์ เพราะหนุมานฯ มาเหนือช่อง 3 เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง
อย่างไรก็ตาม ที่หนุมานฯ ส่งให้ช่อง 8 ได้สัมผัสอันดับ1 บ้างนั้น ก็ทำให้พอมีลุ้นอีกว่า จะไม่ใช่เพียงแค่สัมผัสครั้งเดียว จากนี้อาร์เอสจึงมั่นใจ และเดินหน้าซีรีส์อินเดียต่อแน่นอน เพื่อเป็นอีกหนึ่งรายได้สานฝันให้รายได้แตะ 2,000 ล้านบาทในปีหน้า
เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากกระแสหนุมานฯ เวลานี้ ยังมีข่าวเช้าเป็นจุดเด่นของช่อง ทำให้อาร์เอสเน้นรายการช่วงไพรม์ไทม์ 2 ช่องคือช่วงเช้าเวลา 06.00-09.00 น. และช่วงค่ำ 18.00-22.00 น. ทำให้ปีนี้คาดทำรายได้รวม 1,200 ล้านบาท และปีหน้าคาดว่าจะทำได้ถึง 2,000 ล้านบาท
แน่นอนว่าจะมีการปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่ม 45% จากราคาเฉลี่ยนาทีละ 30,000 บาท เป็นประมาณ 45,000 บาท
ขณะนี้กระแสหนุมานฯ ดีมาก การขายโฆษณาก็ได้ราคาดี โดยราคาเรตการ์ด หนุมานฯ อยู่ที่นาทีละ 3 แสนบาท สูงกว่าละครที่ได้ราคา 1.8 แสนบาท และข่าวเช้าได้ 1 แสนกว่า
คำเฉลยจากการเลือกรายการลงผังนั้น ยังสะท้อนให้เห็นว่าสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่กำลังทำรายได้หลัก คือ อาหารเสริม สกินแคร์ ที่เฮียฮ้อเปิดเผยว่าได้เน้นกลุ่มลูกค้า อายุ 35 ปี นี่คือการรองรับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ
ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ดิจิทัลทีวี กล่าวว่า ผู้ชมซีรีส์อินเดียส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงทำงาน และแม่บ้าน ที่อยากดูอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มที่ดูละครไทยอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องหนุมานฯ ทำให้แฟนประจำช่องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ความสำเร็จของช่อง 8 ที่ดึงคนดูซีรีส์อินเดียได้นั้น ปูทางมาจากเรื่องสีดาราม ศึกรักมหาลงกา มีกระบวนการผลิตดี อลังการ จนมาถึงหนุมานฯ และปีหน้าจึงได้เตรียมไว้ออนแอร์อีก 3 เรื่อง
***งูนาคินแผ่พลัง
ทางฟากช่อง 3 ก็มี “นาคิน” เรื่องราวของแรงแค้นงูสาว เป็นความหวัง ที่ช่อง 3 ลงผังออนแอร์ในเวลาประมาณ 18.15-19.00 น.จันทร์-พฤหัส และเวลา 18.00-19.00 น.วันศุกร์ ผ่านไปแล้วเกือบเดือนที่เรื่องราวเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ แฟนตาซีด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกแรง ๆ เรตติ้งก็เริ่มมา
จากวันแรกที่ออนแอร์เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ทำได้ 2.111 บางวันหล่นไปที่ 1.979 จนวันที่ 27-28-29 พ.ย.เรตติ้งทะลุ 3 มาได้ จนมาแรงสุดคือวันที่ 29 พ.ย.ที่ได้เรตติ้งนิวไฮไป 3.649 ทำให้เกือบเฉลี่ยทั้งเดือน นาคินได้เรตติ้ง 2.528
ช่อง 3 ไม่อยากส่ง นาคิน ชน หนุมาน ของช่อง 8 จึงเลือกเวลาออนแอร์ก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ชนกับ อโศกมหาราช ที่อยู่ในเครือด้วยกัน คือช่อง 3 แฟมิลี่ บริษัทเซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นคนซื้อลิขสิทธิ์จากเจเคเอ็น โกลบอลมีเดีย และยังมีอีกหลายเรื่องในมือ
อีกช่องที่พยายามจะสร้างเรตติ้งจากซีรีส์อินเดีย คือ ไบรท์ทีวี ที่แม้จะอยู่ในประเภททีวีดิจิทัลช่องข่าว แต่ช่วงเย็นของทุกวันก็ปูพรมซีรีส์อินเดีย 3 เรื่อง ยิงยาวตั้งแต่เวลา 17.00 น.
ซีรีส์อินเดียทุกเรื่องของทุกช่อง หากวัดความสำเร็จว่ามากน้อยเพียงใด ชัดเจนว่า “สำเร็จ” เพราะเรตติ้งแต่ละเรื่องสูงกว่าค่าเฉลี่ยของช่อง ไม่เฉพาะช่องเล็ก แต่ช่องท็อป 5 ก็ยังต้องใช้พลังซีรีส์อินเดียช่วยดัน อย่างช่อง 8 เรตติ้งประจำเดือน พ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 0.666 แต่หนุมานฯ ทำเรตติ้งได้ถึง 3.269ช่อง 3 เอชดี เรตติ้งช่องเฉลี่ย 1.252 แต่นาคินทะลุไป ได้ถึง 2.565
หากย้อนไปประมาณ 2 ปีที่แล้วมีช่องเวิร์คพอยท์ และช่อง 5 ที่นำซีรีส์อินเดียมาออนแอร์ ซึ่ง น.ส.ณัฐชญา ทวีวิทย์ชาครียะ จากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์ข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ยของรายการซีรีส์อินเดีย ปี 2558-2560 พบว่า แต่ละช่องจัดวางผังทั้งช่วงไพรม์ไทม์ตอนต้น ประมาณ 18.30-20.30 น.และตอนปลาย 20.30-22.30 นั้น เป็นการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับความนิยมจากผู้ชมสูง
ส่วนกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้หญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป อยู่ในเขตต่างจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับการวางผังที่ผู้ชมในต่างจังหวัด จะกลับบ้านเร็ว ขณะที่การวางผังในช่วงที่ไม่ใช่ไพรม์ไทม์จะไม่ค่อยสำเร็จ อาจเป็นเพราะผู้ชมส่วนใหญ่ทำงาน หรือออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
นอกจากนี้การนำเสนอคอนเทนต์ที่เคยได้รับความนิยม และห่างหายไปนาน เมื่อกลับมาใหม่ก็ได้รับผลตอบดี อย่างหนังอินเดียที่คนไทยเคยนิยมดูเมื่อกว่า 30-40 ปีก่อน แต่ห่างหายไปเพราะมีหนังจากชาติอื่น อย่างจีน ฮอลลีวูด ญี่ปุ่น เกาหลี มาแทน เมื่อกลับมาใหม่ด้วยเรื่องราวที่คนไทยคุ้นเคย อย่างศาสนา ประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ จึงได้รับความนิยมกลับมาได้ไม่ยาก
**เจเคเอ็นเจ้าตลาดคลังซีรีส์อินเดีย
สำหรับแหล่งที่มาของซีรีส์อินเดีย ที่ซื้อลิขสิทธิ์จากผู้ผลิตในอินเดีย และนำมาจัดสรรขายต่อให้ทีวีดิจิทัล รวมถึงเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมช่องต่าง ๆ นั้น คือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่มี “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’’ เป็นซีอีโอ
แอน จักรพงษ์ อธิบายถึงความนิยมของซีรีส์อินเดียที่ตอนนี้ถูกจริตคนไทย ว่า เพราะคนไทยคุ้นเคยเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องเกี่ยวกับภาษาสันสกฤต ศาสนา ประเพณี วรรณกรรมอย่างเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระแก้วที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก หรือชื่อของหลายอย่าง มีจุดกำเนิดที่มาจากประเทศอินเดีย
ที่สำคัญยังต้องดูว่าโปรดักชันดีไหม การเลือกเรื่องที่เหมาะ และคาดว่าคนดูน่าจะชอบ นับเป็นความเชี่ยวชาญของเจเคเอ็นอยู่แล้ว เพราะอยู่ในธุรกิจค้าคอนเทนต์มาหลายสิบปี จึงมองเห็นเทรนด์ที่มาจากทั่วโลกก่อนคนอื่น
“เราเดินทางเยอะมาก ไปดูงาน ดูตลาดต่างประเทศ ดูงานสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก คุยกับดาราศิลปิน และเป็นคนอ่านเยอะ จึงมาบรรจบกับความคิดที่ว่า Content is Culture และนี่คืออาหารสมองของคน”
ตลาดนี้ไม่ได้อยู่ที่ “ผู้ซื้อ” หรือสถานีทีวีเลือกฝ่ายเดียวว่าอยากได้เรื่องไหน เพราะความเชี่ยวชาญอยู่ที่ “เจเคเอ็น” มาถึงจุดที่สามารถจัดเรื่องได้ว่าเรื่องไหนควรออนแอร์ช่องใด เช่น เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อย่างอโศกมหาราช อยู่ในช่อง 3 แฟมิลี่ และเรื่องแฟนตาซี อย่างนาคิน อยู่ช่อง 3 เอชดี
ส่วนช่อง 8 ที่เริ่มเดินมาด้วยกันก่อนกับสีดาราม ที่ประสบความสำเร็จ และตามด้วยหนุมาน ทำให้เจเคเอ็นนึกถึงช่อง 8 ก่อนเมื่อได้เรื่องแนวมหากาพย์ วรรณกรรม และแฟนตาซี ถ้าช่อง 8 ไม่ซื้อ ก็มีทางเลือกไปช่องอื่น ๆ อีกได้ เพราะเวลานี้ทุกช่องต่างต้องประหยัดต้นทุน เพราะซื้อซีรีส์อินเดีย แม้จะใช้เงินก้อนใหญ่ เพราะแต่ละเรื่องยาวหลายตอน แต่ถ้าคิดเฉลี่ยต่อตอนแล้วถูกกว่าการผลิตละครเองเฉลี่ย 3 เท่า
แอน จักรพงษ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้กี่เรื่อง ๆ ก็หมดเกลี้ยง เพราะทุกคนเจ็บจากการผลิตรายการเอง ยิ่งผลิตยิ่งใช้เงินเยอะ ต้องมีบุคลากรจำนวนมาก เฉลี่ยละครไทยอาจต้องใช้งบตั้งแต่ 8 แสนบาท -1.23ล้านบาท เมื่อทุนไม่สูงพอก็ทำให้ต้องออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป ขณะที่เจเคเอ็นมีคอนเทนต์ระดับโลก ที่ง่ายสะดวก ประหยัด และประสบความสำเร็จ เพราะมีเรตติ้ง การผลิตได้มาตรฐานระดับโลก เวลาขายให้ช่องต่าง ๆ เฉลี่ยก็คิดราคาประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนผลิตละครไทย ราคาถูกกว่า แต่เรตติ้งออกมาแล้วดี อย่าง สีดาราม และหนุมาน ก็เรตติ้ง 5 กว่า
ปรากฏการณ์ซีรีส์อินเดียนี้ ทำให้เห็นว่าเวลานี้ผู้ชมกลุ่มซีรีส์ต้องการดูอะไรที่คุ้นเคย โปรดักชันดี ความสำคัญยังอยู่ที่คนขายอย่างเจเคเอ็น ที่ต้องดีลกับคนขายในอินเดียให้ได้ใจ จนหลายรายเลือกขายผ่านเจเคเอ็น ไม่ขายตรงให้ช่อง นอกจากนี้เจเคเอ็นก็มีบริการให้ช่องที่มาซื้ออย่างครบวงจร ทั้งตัดต่อ พากย์ และทำตลาด เรียกได้ว่าช่องซื้อไปเพียงแค่จัดลงผังออนแอร์เท่านั้น
นี่คือการประสานกันอย่างลงตัวของคนผลิต คนขาย และเจ้าของช่อง ในยุคทีวีดิจิทัล ที่ต้องรู้จักตัวเองอย่างดีว่าจุดแข็งคืออะไร เพื่อให้ทุกคนที่ร่วมอุตสาหกรรมอยู่รอดเติบโตไปด้วยกัน
เจเคเอ็น ได้รับลิขสิทธิ์ จากเจ้าของคอนเทนท์ ทั้งจากเกาหลีใต้ อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ และอเมริกา โดยรายได้จากการขายคอนเทนท์ในไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2557 มีรายได้ 222 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม ณ ไตรมาส 3 ปี 2560 มีรายได้กว่า 832 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ โดยเจเคเอ็นได้เข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เมื่อวันท่ี 30 พ.ย.ที่ผ่านมา.