ในช่วงเทศกาลสำคัญ “ปีใหม่-สงกรานต์” เป็นช่วงที่ประชาชนจำนวนมากหลัก “แสนคน” เดินทางกลับบ้านเกิด หากพูดถึงรถโดยสาร หรือรถทัวร์ ยี่ห้อแรกๆ ที่ทุกคนรู้จักอย่างดีต้องยกให้ “เชิดชัยทัวร์” ของ “เจ๊เกียว สุจินดา เชิดชัย” เจ้าแม่รถทัวร์สายอิสาน และครอบคลุมเส้นทางการเดินรถอื่น ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกด้วย
เจ๊ เกียว ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อแต่งงานกับสามี (วิชิต เชิดชัย) เจ้าของอู่ต่อรถ ทำให้มีโอกาสได้หยิบจับบริหารงานทุกอย่างของสามี กระทั่งขยายกิจการไปสู่การสัมปทานการเดินรถที่ตั้งต้นจากรถ 2 คัน กระทั่งปัจจุบันเป็นเจ้าแม่รถทัวร์ ที่อยู่ในวงการธุรกิจมานานถึง 60 ปี
กลยุทธ์ที่ทำให้เชิดชัย เติบโต ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ในตลาด และมีรถบริการครอบคลุมเส้นทางและจุดหมายปลายทางหลายจังหวัด ตอบโจทย์ของนักเดินทางนั่นเอง รวมถึงการมีธุรกิจต่อรถเอง ทำให้ได้เปรียบในการบริการจัดการต้นทุน ประกอบกับในอดีต “คู่แข่งน้อย” ทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตจนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในวงการรถทัวร์นั่นเอง ดังนั้น “ทางเลือกของผู้บริโภค” จึงมีไม่มากนัก ยังไงก็ต้องใช้บริการ
ปัจจุบันเชิดชัยทัวร์ ชื่อชั้นของแบรนด์อาจตกลงบ้างในสายตาของผู้บริโภค เพราะต้องยอมรับว่า “ทางเลือก” ในการเดินทางของผู้บริโภคมีมากขึ้น นอกจากรถทัวร์ รถไฟ รถส่วนตัว ยังมี “สายการบินต้นทุนต่ำ” หรือโลวคอสต์แอร์ไลน์มาแย่งตลาดด้วย โดยเฉพาะเมื่อสายการบินปล่อยโปรโมชั่นแรง 0 บาท (ไม่รวมภาษีสนามบิน ค่าธรรมเนียม) ทำให้ราคาค่าโดยสารต่ำลงมาบี้กับรถทัวร์ จนเจ๊เกียวถึงกับออกมาบ่นก็มี
การแก้เกมแรกๆ ของเจ๊เกียว ที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ (Remind) คือการทุ่มทุนใช้รูปตัวเองติดไว้ที่รถทัวร์ เป็นการสร้าง Personal Branding ให้กับโปรดักท์ชัดๆ นี่เป็นวิธีการเดียวกับ “เจ้าพ่อชาเขียว ตัน ภาสกรนที” ใช้โปรโมทอิชิตันนั่นเอง แต่การทำตลาดของเจ๊เกียว ก็โดนกระแสล้อเลียนจากผู้บริโภคพอสมควร
นอกจากนี้ ยังมีการปรับรถใหม่ ชูภาพลักษณ์ด้านบริการมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค ด้วยการให้ชำระเงินและออกตั๋วโดยสารที่เคาเตอร์เซอร์วิส เป็นการปรับตัวเพื่อปกป้องตลาดทุกทาง และทั้งหมดเกิดจากเสียงสะท้อนดังๆ ของผู้บริโภคที่ติตั้งแต่โปรดักท์ เกี่ยวกับรถเสีย แอร์ไม่เย็น บริการรถเสริมต่างๆ ที่สู้คู่แข่งไม่ได้ เมื่อเทียบกับ “ราคาที่จ่าย” อาจไม่คุ้มค่า ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับว่าท้าทายผู้เคยรุ่งเรืองในธุรกิจอย่างมาก
เชิดชัยแผ่ว แต่แบรนด์ที่มาแรงและ “เขย่า” ตลาดรถทัวร์ให้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ หนีไม่พ้น “นครชัยแอร์” ที่ทำตลาดมา 30 ปี
นครชัยแอร์ มีการใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดที่น่าสนใจ หลายประการ โดยเฉพาะระยะหลัง ปรับจากแมสแล้ววาง Positioning จับตลาดบนมากขึ้น ด้วยการนำ “รถนอนพิเศษ” มาใช้ในตลาดเป็นรายแรก ส่งผลให้โปรดักท์หรือรถที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารมีคุณภาพ ลดจำนวนที่นั่งจาก 42 ที่นั่งเหลือ 32 ที่นั่ง ทำให้พื้นที่ห้องโดยสารมีความกว้างขวาง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง พนักงานที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารแต่งตัวเหมือนกับแอร์โฮสเตสเลยก็ว่าได้ อีกทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่บริการก็ถือว่าน่าพึงพอใจกับ “ราคาที่จ่ายแพงขึ้น”
จุดขายความพิเศษที่แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้นครชัยแอร์ ได้ลูกค้ารายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะการเดินทางระยะไกล ใช้เวลา 6-10 ชั่วโมง ผู้บริโภคย่อมต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น
ขณะที่เส้นทางการเดินรถของนครชัยแอร์ มีมากขึ้นเป็นลำดับ จากจุดเริ่มเดินรถเพียงไม่กี่เส้นทางในภาคอิสาน ก็ขยายสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น
นอกจากเจาะตลาดบนแล้ว นครชัยแอร์ ยังมุ่งตลาด Niche Market สำหรับลูกค้าที่กระเป๋าหนัก ด้วยการส่งรถ N C A First Class 21 ที่นั่ง มาให้บริการบางเส้นทางเท่านั้น
ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายของนครชัยแอร์ ไม่ได้มีแค่คนไทย แต่ยังมีชาวต่างชาติด้วยราว 10% และโลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำให้บริษัทยกระดับการบริการจองตั๋วออนไลน์ พัฒนาช่องทางในการจ่ายเงินผ่านระบบ Alipay Samsung Pay ตลอดจน Mobile Payment ต่างๆ ด้วย
ปัจจุบันทั้งเชิดชัยทัวร์ และนครชัยแอร์ มีบริการอื่นที่ไม่ใช่แค่รถโดยสาร แต่หากมาดูรายได้ของทั้ง 2 บริษัท ไม่ธรรมดา
บริษัทในเครือของเจ๊เกียว เช่น เชิดชัย มอร์เตอร์สเซลส์, เชิดชัยกลการ, อู่เชิดชัยอุตสาหกรรมฯ มีรายได้รวมในปี 2559 มากกว่า 1,600 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 60 ล้านบาท ส่วนนครชัยแอร์ มีรายได้กว่า 1,632 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 47 ล้านบาท