ในรอบปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป ถือเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการ Disrupt ธุรกิจดั้งเดิม จากการมาของเหล่าสตาร์ทอัป รวมไปถึงการทรานฟอร์มธุรกิจสู่โลกดิจิทัล ที่องค์กรธุรกิจต่างกำลังเผชิญหน้าอยู่ในช่วงเวลานี้
แต่ในมุมของเทคโนโลยี เหล่าผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ทีมงานไซเบอร์บิซ จึงได้รวบรวม 5 ที่สุดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกไอทีในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อให้เตรียมรับมือกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า
1. สมาร์ทโฟนไฮเอนด์ราคาแพงขึ้น
ในปี 2017 ถือเป็นปีที่แอปเปิล ฉลองไอโฟนครบรอบ 10 ปี ด้วยการออกวางจำหน่าย iPhone X (ไอโฟน สิบ) ที่ถือเป็นรุ่นพิเศษเพิ่มเติมจากรุ่นปกติ (iPhone 8 และ iPhone 8 Plus) ที่มีคิวอัปเดตในทุกๆปี และถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการสมาร์ทโฟนในปีนี้ ด้วยการเป็นสมาร์ทโฟนในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปที่ระดับราคาอยู่ในช่วง4หมื่นบาท
แม้ว่า iPhone X จะไม่ใช่สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ออกมาวางขายในช่วงระดับราคาดังกล่าว เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ Porches Design Huawei Mate Series ก็เคยวางจำหน่ายในระดับราคาเกือบ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม แต่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น หรือมีจำนวนจำกัด
กลับกัน iPhone X ไม่ได้ถูกวางตัวให้เป็นรุ่นจำนวนจำกัด แต่พร้อมกระจายสินค้าไปในตลาดที่แอปเปิลเข้าถึง ที่สำคัญคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าของแอปเปิลอยู่แต่เดิม
ในส่วนของซัมซุงเองก็มีการปรับราคา Note 8 ขึ้นมาอยู่ที่ 33,900 บาท หรือเป็นการก้าวข้ามเพดานราคา 3หมื่นบาทขึ้นไป จากปีก่อนหน้าที่เคยวางราคาในรุ่น Note 7 ซึ่งไม่ได้ทำตลาดในราคา 28,900 บาท ส่วนหัวเว่ยยังยืนราคาเดิมของ Mate 10 ไว้ที่ 27,900 บาท
ส่วนในปีนี้เชื่อว่าผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลายคนต่างกำลังจับตาดูสมาร์ทโฟน Hydrogen One จากบริษัทผู้สร้างกล้องถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก RED ที่มีข้อมูลออกมาว่าเตรียมวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่จะมากับจอที่สามารถแสดงผลแบบโฮโลกราฟิก 3 มิติได้ ในระดับราคา 1,200 เหรียญ ซึ่งสูงกว่า iPhone X รุ่นแพงที่วางขายในราคา 1,149 เหรียญ (ราคาขายในไทยราคา 46,500 บาท)
2. สถิติวันคนโสด 11.11 จากอาลีบาบา ทำให้เห็นกระแสสึนามิ อีคอมเมิร์ซ
8.39 แสนล้านบาท คือมูลค่ายอดขายสินค้ารวมผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา ซึ่งนับเฉพาะในวันที่ 11 เดือน 11 จากทุกมุมโลก ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 41% ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอีคอมเมิร์ซจากจีนรายนี้ ที่กำลังขยายตลาดออกไปทั่วโลก
โดยในเทศกาล 11.11 โกลบอล ชอปปิ้ง เฟสติวัล 2017 อาลีบาบาใช้เวลา 13 ชั่วโมง ในการทุบสถิติยอดขายในปี 2016 และทำสถิติใหม่เมื่อครบ 24 ชั่วโมงที่ 25,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 8.39 แสนล้านบาท เมื่อครบ 24 ชั่วโมง
สิ่งที่น่าสนใจจากมูลค่าการซื้อขายดังกล่าวคือสัดส่วนของวิธีการสั่งซื้อสินค้าของผู้บริโภคกว่า 90% มาจากอุปกรณ์พกพา ทำให้เห็นว่าการมาของสมาร์ทโฟนช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอีคอมเมิร์ซได้ง่ายขึ้น และตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
ประกอบกับแนวคิดในการสร้าง New Retail ของอาลีบาบา อาจทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายต่างต้องเร่งปรับตัว ในเมื่อลูกค้ามีทางเลือกที่มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และรอรับอยู่ที่บ้านจะกลายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป
3. ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือทะลุ 1 Gbps
แม้ว่าในประเทศไทยจะมีข้อจำกัดในแง่ของคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายไม่สามารถนำเทคโนโลยี4Gมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การมาของ AIS Next G ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการเครือข่ายไร้สายในภูมิภาค
ด้วยการเป็นผู้ให้บริการ Gigabit Network รายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 1 Gbps ด้วยการนำเทคโนโลยี 4G LTE มารวมกับ AIS Super WiFi ทำให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้ความเร็วเกิน 1 Gbps
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงยังมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในการใช้งานต้องใช้กับสมาร์ทโฟนที่รองรับ LTE Advanced หรือรองรับเทคโนโลยี 3CA 4×4 MIMO 256 QAM ที่อยู่บนสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ ขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ในพื้นที่ให้บริการ AIS Super WiFi ด้วย
แม้ว่าจะเป็นเพียงสีสันที่เกิดขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ผู้ให้บริการลงทุนเพื่อนำมาให้บริการในประเทศไทย ไม่ได้ด้อยกว่าในต่างประเทศอย่างที่คิดกันแน่นอน และเชื่อว่าในปี 2018 จะสนุกขึ้นไปอีก เมื่อมีการปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องคลื่นความถี่ ด้วยการนำคลื่นออกมาประมูล ให้โอเปอเรเตอร์นำไปให้บริการต่อไป
4. บิตคอยน์ การลงทุนความเสี่ยงสูง
สถิติราคาสูงสุดของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา คือทะยานขึ้นไปถึง 19,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 6.2 แสนบาท ก่อนร่วงลงมาอยู่ที่ราว 12,000 เหรียญในปัจจุบัน จากในช่วงต้นปีที่ราคาเฉลี่ยอยู่ราว 1,000 เหรียญ หรือราว 33,000 บาท เท่านั้น จนทำให้นักวิเคราะห์ทางการเงินหลายรายต่างออกมาเตือนกันว่าการลงทุนในบิตคอยน์มีความเสี่ยง
สำหรับจุดที่ทำให้ บิตคอยน์ เริ่มถูกจับตามากขึ้นคือในวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ราคาของสกุลเงินดิจิทัลพุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับ 10,000 เหรียญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการที่ตลาดซื้อขายฟิวเจอร์สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Chicago Mercantile Exchange (CME) ประกาศแผนการซื้อขายบิตคอยน์ออกมา
รวมถึงการแยกสกุลเงินดิจิทัลออกมา และการที่เหล่าสตาร์ทอัปหลายรายออกเหรียญเงินตราของตัวเองเพื่อใช้ระดมทุนในรูปแบบของ ‘Initial Coin Offering’ (ICO) ทำให้ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัลจึงมีให้เลือกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีการออกมาสร้างความเข้าใจกับนักลงทุน เพื่อให้รับรู้ว่าการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) เป็นเพียงสินทรัพย์หนึ่งเพื่อการลงทุน คล้ายกับตราสารหนี้เท่านั้น เพราะไม่สามารถใช้ชำระเงินตามกฏหมายได้
5. ทำลายกำแพงภาษาด้วย Pixel Buds
หนึ่งใน Gadget ที่เปิดตัวออกมาแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีที่สุดในปีนี้ คงหนีไม่พ้น Google Pixel Buds ที่นำความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่งมาใส่ไว้ด้วยกัน จนทำให้หูฟังชิ้นนี้ สามารถแปลภาษาได้ถึง 40 ภาษา แน่นอนว่าด้วยคอนเซปต์ของอุปกรณ์ชิ้นนี้ถือว่าสื่อสารออกมาได้ค่อนข้างดูดี
แต่ในความเป็นจริงหลังจาก Pixel Buds วางจำหน่าย คู่กับสมาร์ทโฟน Pixel 2 และเริ่มมีผู้นำไปใช้งาน ปรากฏว่าการทำงานของ Pixel Buds คือการสั่งงานผ่าน Google Assistance หรือการสั่งงานผ่านผู้ช่วยเสมือนของกูเกิล ส่วนเวลาแปลภาษาก็จะใช้ Google Translate หรือแอปแปลภาษาของกูเกิล
ทำให้ในการใช้งาน Pixel Buds แทบไม่ต่างจากการเปิดใช้งานแอปแปลภาษาบนแอนดรอยด์โฟน เพราะเมื่อพูดเข้าไปในหูฟังก็จะเป็นการบันทึกเสียงออกมาเป็นข้อความในแอป เพื่อทำการแปล เช่นเดียวกันถ้าต้องการใช้ในการฟัง ก็จะใช้แอปในสมาร์ทโฟนแปลภาษาออกทางหูฟังเท่านั้นเอง
ด้วยแนวคิดที่ดีแต่การใช้งานจริงยังไม่สะดวกมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ควรรอดูกันต่อไปในปีหน้า เมื่อ AI และแมชชีนเลิร์นนิ่งได้เรียนรู้มากขึ้น อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ รวมถึงอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายจะเข้ามาช่วยให้ชีวิตมนุษย์สะดวกมากขึ้นแค่ไหน.
ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000131180