มีการประเมินว่าตลาดการขนส่งพัสดุมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านบาท ถือเป็นเป็นอีกหมวดธุรกิจที่มี “ขนาดใหญ่” ไม่ใช่เล่น และนับวันแนวโน้มการเติบโตของตลาดมีแต่จะ “เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย” เพราะถ้าไปดูตัวเลขของบรรดาผู้ประกอบการในตลาด ไม่ว่าจะเป็น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, ไดนามิค แมนเนจเม้นท์ หรือ ม้าขาว ของซีพีออลล์ เจ้าตลาดอย่างไปรษณีย์ไทย รวมถึง Black Cat หรือ แมวดำ ของเอสซีจีและพันธมิตร นิชิเร โลจิสติกส์ (ญี่ปุ่น) ก็ล้วนมีทิศทางการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะ 3 รายแรก รายได้และกำไรโตแบบ “ก้าวกระโดด”
เมื่อ “ขุมทรัพย์” การส่งพัสดุด่วนมีมูลค่ามหาศาล ทำให้ผู้ประกอบการต้องติด “สปีด” ขยายธุรกิจ เพื่อช่วงชิงโอกาสให้เร็วกว่าคู่แข่งในสมรภูมิเดียวกัน
หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ ที่เปิดเกมรบรุกตลาดให้บริการส่งพัสดุด่วนรับศักราชใหม่ปี 2561 ต้องยกให้ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ที่ประกาศเดินหน้าเปิดจุดให้บริการจัดส่งพัสดุใหม่ เพื่อตอบโจทย์การส่งสินค้าแบบบุคคลถึงบุคคล หรือเรียกว่า “เอ็กซ์เพรส พาร์เซลชอป” และร่วมกับพันธมิตรเปิดจุดบริการในห้างรวมกว่า 2,300 แห่ง จากปัจจุบันมีจุดที่ให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปมาใช้บริการส่งพัสดุทั้งสิ้นกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ และยังเตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้าย่อยอีกกว่า 300 แห่งด้วย เพิ่มจากปัจจุบันมีศูนย์ฯกว่า 600 แห่งทั่วทุกจังหวัด
การชิงจังหวะดังกล่าว เพื่อเป็นการขยายตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายทุกที่ทั่วไทยยิ่งขึ้น และยังเป็นรับการแข่งขันส่งพัสดุด่วนที่ทวีความรุนแรงทุกขณะ
อานิสงส์ที่ทำให้การส่งพัสดุด่วนเติบโต มาจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญ คือ “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” การขายสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งบนมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ Lazada, 11street, shopee ตลอดจนโซเชียลคอมเมิร์ซอย่าง Facebook, Line, Instagram เป็นต้น ชนิดที่ได้เห็นแม่ค้าแม่ขายโพสต์กองพัสดุมหึมาอยู่บ่อยครั้ง
เคอรี่ ประเมินแล้วว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซนับวันจะยิ่งแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้อัตราเติบโตสูงตามไปด้วย จึงอัดฉีดเงินหลายพันล้าน เพื่อขยายงานล่วงหน้าถึง 2 ปี ทั้งการเพิ่มเครือข่ายจุดรับส่งพัสดุ รวมถึงการเพิ่มรถจากปี 2560 ที่ผ่านมา เคอรี่ฯ มีรถส่งสินค้าทั้งรถทรัค จักรยานยนต์กว่า 6,500 คัน
รวมถึงยังเพิ่มศูนย์คัดแยกสินค้าขนาดใหญ่เพิ่ม 3 แห่ง และขยายศูนย์คัดแยกสินค้าบางนา กม.19 ในเฟส 2 ซึ่งจะส่งผลให้มีพื้นที่ใช้สอยรวมมากกว่า 36,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยสร้างเสร็จพร้อมใช้งานได้ในเดือนมีนาคมนี้ อนาคตพื้นที่ดังกล่าวยังรองรับการขยายศูนย์คัดแยกสินค้าได้อีกกว่า 40,000 ตารางเมตรด้วย
อเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหารสายงานธุรกิจรับ-ส่งพัสดุ เคอรี่ โลจิสติกส์กรุ๊ป ประจำสาขาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดส่งพัสดุที่มีศักยภาพสูง บริษัทจึงให้ความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางสำหรับการบริหารจัดการเครือข่ายของเคอรี่ในภูมิภาคทั้งฮ่องกง, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย รวมถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างภายในองค์กร ระบบปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ และซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ใช้ในตลาด ล้วนออกแบบ พัฒนา และประยุกต์ใช้โดยสำนักงานในประเทศไทย โดยจะเพิ่มพนักงานอีก 100 อัตรา
ขณะที่บริการในไทยเรียกว่ากินรวบเกือบทุกตลาด ตั้งแต่ธุรกิจถึงบุคคล เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายค่ายโฮมช้อปปิ้งต่างๆ และอีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B) จับกลุ่มลูกค้าองค์กร ภาคธุรกิจต่างๆ ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 1,000 ราย ครอบคลุมธนาคาร สำนักงานกฎหมาย ร้านค้าปลีก ขายตรง ส่งสินค้าต่างประเทศ บริการส่งสินค้าจากบุคคลถึงบุคล ผ่านพาร์เซลชอป ตลอดจน แบงคอค เซมเดย์ ที่ส่งสินค้าภายในวันเดียว เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด มีจุดให้บริการสำหรับบุคคลทั่วไปกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ และศูนย์กระจายสินค้าอีกกว่า 600 แห่งอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อให้ส่งได้ในวันถัดไป มีอัตราการจัดส่ง หลักแสนชิ้นต่อวัน อัตราความสำเร็จในการจัดส่งพัสดุถึงมือผู้รับในครั้งแรกอยู่ระดับ 97% ส่วนพัสดุที่ไม่สามารถจัดส่งได้มีไม่ถึง 1% ของจำนวนพัสดุทั้งหมด โดยวางจุดขายของการจัดส่งพัสดุด่วนภายในวัน ในเขตกรุงเทพฯ หรือเรียกว่า แบงคอค เซมเดย์ (Bangkok Sameday) อีกด้วย
เพื่อตอกย้ำว่าธุรกิจส่งพัสดุด่วนเป็น “ขาขึ้น” อย่างแท้จริง ผลการดำเนินงานคงตอบได้ดี
- ปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมมากกว่า 3,228 ล้านบาท เติบโต 112.44%
- ปี 2558 มีรายได้กว่า 1,519 ล้านบาท เติบโต 182.79%
- ปี 2557 มีรายได้กว่า 537 ล้านบาท