SF International ประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของ Kerry Express ประเทศไทย คาดใช้เม็ดเงิน 7,000 ล้านบาท

SF International บริษัทขนส่งจากจีน ประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของ Kerry Express ประเทศไทย ในสัดส่วน 73.18% คาดว่าจะใช้เม็ดเงินมากถึง 7,000 ล้านบาท การรับซื้อหุ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสภาวะการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจขนส่งในประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างภายในบริษัทมาแล้วก็ตาม

บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 26.82% ได้ประกาศรับซื้อหุ้นของบริษัทขนส่งรายดังกล่าวทั้งหมด

SFTH ได้ตั้งราคารับซื้อหุ้นที่ 5.5 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะใช้เม็ดเงินมากถึงราวๆ 7,000 ล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออีก 73.18% ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่หลายรายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัท BTS และกองทุนรวมต่างๆ หรือแม้แต่นักลงทุนรายย่อย

หุ้นของบริษัทขนส่งรายนี้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อช่วงปลายปี 2020 โดยมีราคา 28 บาทต่อหุ้น และราคาหุ้นเคยทำสถิติสูงสุด 73 บาท ในวันเปิดทำการซื้อขายวันแรก ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับนักลงทุน เนื่องจากบริษัทเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจขนส่งสินค้า และเป็นธุรกิจที่มีกำไร

อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายนของปี 2021 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KEX คือทาง Kerry Logistic Network ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ขายหุ้นสัดส่วน 51.8% ให้กับ SF Express ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งเจ้าใหญ่ของประเทศจีน เป็นเม็ดเงินมากถึง 17,600 ล้านฮ่องกงดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 80,000 ล้านบาท

ผลที่เกิดขึ้นทำให้ KEX ต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัท ภายใต้การบริหารของ SF Express โดยความเคลื่อนไหวมีทั้งการออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 3,400 ล้านบาท หรือแม้แต่การรับเงินช่วยเหลือระยะสั้นมูลค่า 1,700 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถขยายตลาดหรือแม้แต่มีสภาพทางการเงินที่ดีขึ้น

เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2023 ที่ผ่านมา Kerry Logistic Network ได้ประกาศปันผลเป็นหุ้นของ KEX ออกมาให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย ซึ่งจะทำให้ SFTH ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SF Express จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทน ก่อนที่จะมีการประกาศรับซื้อหุ้น

ธุรกิจขนส่งในประเทศไทยถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันดุเดือด เนื่องจากมีผู้เล่นหลายราย เช่น Flash Expres ไปรษณีย์ไทย ฯลฯ ไปจนถึงผู้เล่นที่เป็นธุรกิจ E-commerce อย่าง Shopee Express หรือแม้แต่ Lazada Express ซึ่งลูกค้าหลายรายเองสามารถเปลี่ยนไปใช้งานผู้ที่ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยราคา ปัจจัยด้านคุณภาพการขนส่งได้เสมอ

ผลจากการแข่งขันดังกล่าวได้ทำให้ KEX นั้นมีผลประกอบการขาดทุนตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา โดยขาดทุนไปทั้งสิ้น 2,830 ล้านบาท และผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2023 บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 2,725 ล้านบาท ผลดังกล่าวทำให้ราคาหุ้นของบริษัทไม่เคยกลับไปเท่ากับช่วงที่ IPO ด้วยซ้ำ

ในการประกาศรับซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทนั้นอาจมีผู้ถือหุ้นบางส่วนนั้นไม่ขายหุ้นให้กับ SFTH ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อหุ้นนั้นไม่ถึง 7,000 ล้านบาท แต่สัญญาณดังกล่าวแสดงให้เห็นการปรับโครงสร้างของ SF Express รวมถึงการปรับกลยุทธ์ของบริษัทขนส่งจากจีนว่าเอาจริงเอาจังกับการต่อสู้ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้เล่นหลายราย รวมถึงผู้เล่นจากธุรกิจ E-commerce ด้วย