โลกออนไลน์สะเทือน! Facebook เปลี่ยน News Feed

กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับ Facebook ที่จะทำให้โพสต์จาก ธุรกิจ, แบรนด์ และสื่อต่าง ๆ ถูกลดทอนความสำคัญในหน้านิวส์ฟีดของผู้ใช้ไป

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก บอกว่าหลังจากนี้ Facebook จะให้ความสำคัญกับโพสต์ของสมาชิกในครอบครัว และเพื่อน ๆ แทน ซึ่งน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้แล้ว

“ระยะหลังเราได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ว่าในปัจจุบัน โพสต์ของภาคธุรกิจ, แบรนด์ และสื่อต่าง ๆ เริ่มจะท่วมหน้าฟีดส่วนตัวใน Facebook แทนที่จะเป็นโพสต์ส่วนตัว ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้าหากัน … ผมได้ให้เป้าหมายใหม่กับทีมของเราไป จากการมุ่งช่วยให้ผู้ใช้ Facebook ได้เห็นเนื้อหาที่ “ตรงประเด็น” ของแต่ละคน มาเป็นการช่วยให้ผู้ใช้ได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความหมายแทน” ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าว และเปรยว่าเขารู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตนเอง กับทีมที่จะทำให้ Facebook “ดีต่อชีวิต” ของผู้ใช้

สำหรับโพสต์ของเพจต่าง ๆ จากองค์กรธุรกิจ หรือ สื่อ หากถูกโปรโมตก็จะไปปรากฏอยู่ในหน้า Facebook ของกลุ่มที่สนใจในเรื่องนั้น ๆ เป็นพิเศษ อาทิ กลุ่มที่พูดคุยกันเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ หรือ กีฬา เป็นต้น เช่นเดียวกับคลิป และไลฟ์วิดีโอ ก็จะไปอยู่ในหน้าฟีดของคนที่สนใจในเรื่องเฉพาะกลุ่มเช่นเดียวกัน

ผู้ก่อตั้ง Facebook ยังได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า “ผมหวังว่าคนจะใช้เวลากับ Facebook ลดลง แต่จะเป็นเวลาที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น”

โซเชียลมีเดียโดยเฉพาะ Facebook รวมไปถึง Twitter  และ Google ตกเป็นที่วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีส่วนต่อการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งเรียกกันว่า “ข่าวปลอม” (Fake News)ตัวแทนของโซเชียลมีเดียหลัก ๆ ต้องไปให้การต่อคณะกรรมาธิการของสภาฯ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่ง ซัคเคอร์เบิร์ก ยืนยันว่าเขาจะ “แก้ไข” ปัญหาดังกล่าวให้ได้ในปี 2018 โดย ซัคเคอร์เบิร์ก ยังบอกว่าต้องการจะป้องกันไม่ได้ผู้ใช้ Facebookได้รับผลกระทบในทางลบ และอยากจะให้ช่วงเวลาในการใช้เป็น “ช่วงเวลาที่มีค่า” ด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่าทางรัสเซียได้ใช้เงินในการซื้อโฆษณา เพื่อบิดเบือนข้อมูลต่าง ๆ จาก Facebook จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อย่างที่ ลอรา ฮาร์ซาร์ด โอเวน แห่ง Harvard University จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ “ซึ่งคงกระทบต่อบรรดาสื่อต่าง ๆ พอสมควร เราจะเห็นโพสต์จากสื่อน้อยลงมาก ๆ อย่างแน่นอน” ซึ่งสุดท้ายแล้วโพสต์จากเพจที่จะได้รับความสนใจ และมีสิทธิ์ไปปรากฏในหน้าฟีดของคนได้มากกว่าปกติ อาจจะต้องเป็นเรื่องประเภท “เฉพาะกลุ่ม” หรือ “ประเด็นอื้อฉาว” ที่ทำให้คนแสดงความเห็นกันอย่างเผ็ดร้อน

กระแสวิจารณ์เรื่องการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมถึงการส่งผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ทำให้ Facebook ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้มากที่สุดต้องตกเป็นจำเลยอย่างช่วยไม่ได้ และความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของ Facebook ก็น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อแสดงจุดยืนในความ “เป็นมิตร” ต่อผู้ใช้ และแสดงให้เห็นว่า Facebook พร้อมเสมอที่จะใช้พลังในการ “ทำให้สังคมดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เกเบรียล คาห์น แห่งภาควิชาสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยUniversity of Southern California มองว่า “สาธารณะชนควรได้มีโอกาสร่วมถกเถียงว่าค่านิยมใดที่ Facebook ในการสร้างระบบคัดกรองเนื้อหาต่าง ๆ ด้วย”

ความเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดน่าจะทำให้ Facebook กลับไปสู่รากเง้าในการเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับข่าวสารจาก “กลุ่มเพื่อน” และร่วมแบ่งปันความคิดมากกว่าจะใช้ในการ “แชร์” บทความต่าง ๆ

ซึ่งครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เลือกที่จะทำในสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อเดิมของเขา ที่ก่อนหน้านี้เน้นในการพัฒนาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ให้มีผู้ใช้มากขึ้น และทำให้ผู้ใช้แต่ละคนอยู่กับ Facebook นานขึ้น แต่ในครั้งนี้เขาเลือกที่จะทำให้คน “ใช้เวลา” อยู่กับ Facebook น้อยลง

โดยตลอดปี 2017 ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องเผชิญกับกระแสวิจารณ์ว่า Facebook มีส่วนส่งเสริมให้เกิด “Fake News” และ “clickbait” ให้แพร่หลายในโลกออนไลน์

แต่สำหรับองค์กรสื่อต่าง ๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลงของ Facebook คงจะสร้างผลกระทบในทางลบอย่างช่วยไม่ได้ เพราะปัจจุบันยอดผู้เข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ มากจาก Facebook ในปริมาณสูงมาก ซึ่งหลังจากนี้เว็บข่าวประเภท “ไวรัล” หลาย ๆ เว็บอาจจะถึงขั้นต้องล้มหายตายจากกันไปเลยทีเดียว

เชื่อกันว่า Facebook จะสูญเงินไปไม่น้อยกับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ตัวของ ซัคเคอร์เบิร์ก เคยออกปากเตือนผู้ลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้วว่าในการต่อสู้กับ Fake Newsคงทำให้บริษัทสูญรายได้ไปบ้าง  … ซึ่งคำถาม ณ ขณะนี้ก็คือความเสียหายดังกล่าวจะมากมายขนาดไหนกันแน่

ที่มา : bbc.com/news/technology-42657621