“โตแล้วแรดได้” ถึง “คนหน้าหมี” บทเรียน Content Marketing ดังและดับ! ในข้ามคืน

ในการผลิตรายการโทรทัศน์ รายการบน YouTube Channel แม้กระทั่งการนำเสนอเรื่องราว Live สดผ่าน Facebook ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อดึงดู “ผู้ชม” แย่ง Eyeball จากคนดูกว่า 60 ล้านกว่าคน รายการจะชนะได้ คนทำการตลาดมักจะย้ำเสมอคือเรื่องการผลิตคอนเทนต์ที่ดี มีคุณภาพ สนุก ครบรส หรือ Content is King ซึ่งรายการดี โดนใจ เรียกคนดู ยังเรียก “เรตติ้ง” และ“เม็ดเงินโฆษณา” ก้อนโตจากบรรดาลูกค้า สปอนเซอร์ได้ด้วย

เวลานี้ดูเหมือนว่า “เหล่าคนดัง” ทั้งนักแสดง เซเลบริตี้ บล็อกเกอร์ Influencer ต่างหันมาทำรายการในช่องทางของตัวเองมากขึ้น ทว่า รายการใหม่ที่เพิ่ง “ดัง” และ “ดับ” เป็นกระแสดราม่า สังคมจวกยับ! อย่างเผ็ดร้อนในเวลานี้ต้องยกให้รายการ “คนหน้าหมี” ของ 2 พิธีกรหนุ่ม “โอ๊ต ปราโมทย์” และ “ดีเจอาร์ต มารุต” ซึ่งหลังจากรายการออกอากาศได้เพียงแค่ 2 ตอน (EP) ก็มีเหตุให้คลิปมีอันต้อง “ปลิว” ไปเรียบร้อย ท่ามกลางยอดวิวทะลุล้านในวันเดียว

สาเหตุที่ทำให้กระแสตีกลับจนคลิปถูกลบ และทางรายการต้องขึ้นคำเตือนว่าเป็นรายการที่ “เหมาะสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป” เพราะเนื้อหาของลักษณะมีความหมิ่นเหม่ กับการพูดจาเย้าหยอกด้วยถ้อยคำสองแง่สองง่ามกับแขกรับเชิญที่เป็นผู้หญิง จึงทำให้สังคมตั้งคำถามถึงรายการว่าเป็นเพียง Public Joke หรือมากกว่านั้นคือการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เพราะนอกจากคำพูด การ Zoom ภาพไปยังบริเวณหน้าอกแขกรับเชิญอีกด้วย

เป็นที่รู้กันว่าการทำคอนเทนต์ หากต้องการเรียกยอดคนดู ยอด Like Share สำหรับผู้ชาย มีกฎสำคัญที่นักการตลาดอย่าง “แม็ค สุนาถ ธนสารอักษร” ผู้ร่วมก่อตั้ง Macthai.com และกรรมการผู้จัดการ แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป เคยให้ความเห็นว่า คอนเทนต์จะต้องมี

  1. Informative คือการให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นคอนเทนต์ที่ดี
  2. Relevency เนื้อหาควรเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกๆ คน
  3. Entertainment ความบันเทิงทุกรูปแบบจะดราม่า อารมณ์ความรู้สึก ตลกขบขัน ใช้ได้หมด

แล้วถ้าทำคอนเทนต์ให้ผู้ชายดู เรื่องเจ๋งๆ ล้ำๆ ต้องมี, ตลก ขบขัน แกล้งหยอกล้อกันสนุกสนานต้องมี, ความเซ็กซี่ มีผู้หญิงต้องไม่พลาด เป็นต้น ซึ่งรายการ คนหน้าหมี” มีครบถ้วน คือแขกรับเชิญสวย เซ็กซี่ รายการมีความบันเทิงสำหรับคนดู ผลลัพธ์แรกๆ อาจดี มีคนชอบ คนดูเป็นล้าน แต่อีกมุมหนึ่งก็มีคนไม่ดู และ “ไม่ชอบ” ซึ่งเหตุผลของคนไม่ชอบและนำไปสู่ดราม่า เพราะมองว่ารายการนั้นส่อไปทางคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับทุกประเทศทั่วโลกไม่ใช่แค่ในไทย และเรียกร้องให้รายการปรับปรุงเสียใหม่

ผลกระทบนอกจาก “พิธีกร” คือโอ๊ต-อาร์ท แล้ว ยังมีการพูดถึง “สปอนเซอร์” หรือผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งแรกๆ มีคนต้องการเห็นแบรนด์สินค้าต่างๆ มาซื้อโฆษณากับทางรายการ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถทำ EP อื่นๆ ออกมาตอบสนองคนดู แต่เวลานี้แบรนด์ที่เข้าไป ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้บริโภคจะ “ตราหน้า” ว่าแบรนด์หนุนให้คนผลิตรายการที่คุกคามทางเพศทันที

ไม่เพียงเท่านี้ “โอ๊ต ปราโมทย์” ซึ่งเป็นพรีเซ็นเตอร์ของบัตรเครดิตดัง ทำให้การติติง “ลาม” ไปถึงแบรนด์ด้วย กลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปัจจุบันการทำรายการให้ดังข้ามคืน “กลยุทธ์การตลาด” ที่เห็นกันดาษดื่นคือ ทำให้เกิดดราม่า ด้วยการใช้ประเด็นแรงๆ คำพูดแรงๆ เรียกแขก การใช้ Sex มาเป็นจุดขาย รายการผู้หญิงดูต้องมีผู้ชายหล่อ ล่ำๆ ถอดเสื้อโชว์ซิกแพค รายการผู้ชายดูต้องมี Net Idol มาจุดติดกระแสเร็วๆ รัวๆ เช่น รายการ “โตแล้วแรดได้” ของหญิงแย้ ที่วิพากษ์วิจารณ์นักแสดงเกาหลี สุดท้ายคนทำรายการต้องออกมาขอโทษ และล่าสุดรายการคนหน้าหมี แม้ทางคนทำรายการจะขอโทษ แต่สิ่งที่สังคมประทับตราให้ก็ทำให้รายการพัง!ได้

หลายครั้งที่นักการตลาดออกโรงเตือน การทำตลาด การทำคอนเทนต์การตลาดจะต้องเลี่ยงประเด็นเกิดดราม่า เพราะสุดท้าย สิ่งที่ได้กลับมาไม่คุ้มเสีย ไม่ว่าจะเป็นคนทำรายการ เรตติ้ง และสปอนเซอร์ และ “คนหน้าหมี” ก็เป็นอีกบทเรียนของการทำตลาดบนโลกออนไลน์ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะผู้บริโภคยุคนี้ “รู้เท่าทัน” แล้ว.