กลายเป็นดราม่าไปอีกราย สำหรับบิลบอร์ดโฆษณา เว็บไซต์สมัครงานแห่งหนึ่ง ปูพรมป้ายโฆษณาทั้งบนสถานี ในรถไฟฟ้า รถประจำทาง ริมถนน โดยตั้งคำถามถึงงานที่เป็นอยู่ปัจจุบัน คนทำระบุ ใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปคุย คนในแวดวงโฆษณาเห็นแย้ง ระบุสอนสังคมถึงความไม่อดทน ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ใช้ “อินไซต์” ด้านมืดล่อลวงให้หางานใหม่ ถามกลับ ตกงานมาแบรนด์รับผิดชอบหรือเปล่า เอือมสังคมปั่นป่วนกับการเปลี่ยนงาน ชี้ เด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน
กลายเป็นที่ฮือฮากันทั้งเมือง สำหรับโฆษณาสื่อนอกบ้านของเว็บไซต์สมัครงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝีมือของบริษัทดิจิตอลเอเยนซี่เจ้าหนึ่ง ที่ต้องการฉีกแนวการโฆษณาเพื่อเรียกความสนใจ โดยใช้ข้อความในเชิงตั้งคำถามถึงปัญหาการทำงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในมุมต่างๆ พร้อมทั้งแนะนำให้เข้าเว็บไซต์เพื่อหางานใหม่
เช่น “นิว อยากร้องไห้ไหม ได้โบนัสน้อยกว่าเดิม, ต้น เบื่อหัวหน้าใช่ไหม?, พลอย ถ้าทำงานหนักจนแฟนจำหน้าไม่ได้, นิว อยากร้องไห้ไหม โบนัสได้น้อยกว่าเงินเดือน, พลอย นอยด์ป่ะ หัวหน้าสั่งงานเช้า จะเอาเที่ยง, มาย ถ้าไม่ลาออกตอนนี้ จะลาออกตอนไหน, วันหยุดอยากไปปากช่อง แต่สตางค์ไปได้แค่ปากซอย พลอยจะทนทำไม, หงุดหงิดป่ะ? เมย์ ทำงานจนเป็นบ้า ลูกรักได้หน้าซะงั้น, รถติด 2 ชม. เจ้านายบ่นอีก ชม. แบงค์ กลุ้มมั้ย?, วันนึงจะต้องต่อรถต่อรถกี่รอบ โบว์” ฯลฯ
คนทำโฆษณาชิ้นดังกล่าวเล่าถึงที่มาของไอเดียว่า ได้โจทย์จากลูกค้าเป็นเว็บสมัครงานซึ่งคนอื่นพูดมาเยอะ เราจะทำยังไงให้แตกต่างในยุคที่สื่อเยอะแยะมากมายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เราคุยกันว่าอยากสื่อสารอะไรที่ย่อยง่ายๆ ให้ลูกค้า เพราะคนสมัยนี้ไม่ชอบโฆษณา ไม่อยากฟัง ไม่อยากเห็น ไม่อยากดูอีกแล้ว เราจะทำโฆษณาอะไรที่ไม่ไปแทรกแซงชีวิตพวกเขา เราเลือกทาง Copy Ad ที่ทุกคนคิดว่าน่าเบื่อ งั้นเราใส่ Insight ความเป็นมนุษย์เข้าไปคุยกับเค้า แล้วเลือกใส่ชื่อคนไทยที่ชอบตั้งซ้ำๆ กัน นิว พลอย มาย แนน และอีกมากมาย ยังไงก็ต้องโดนสักคนที่ผ่านมาเห็น “เฮ้ยนี่ชื่อกูนิ” หรือถ่ายรูปแล้วส่งให้เพื่อน “เฮ้ยนี่ชื่อมึง” สุดท้าย เราเชื่อว่ามนุษย์ก็ยังต้องการความง่ายในชีวิต “Back to Basic”
อย่างไรก็ตาม งานโฆษณาชิ้นดังกล่าวมีบุคคลในแวดวงโฆษณาได้วิจารณ์ว่า ที่บริษัทโฆษณาที่ตนทำงานเมื่อสิบกว่าปีก่อน พวกเราถูกสอนให้คิดงานออกมาแล้วต้องรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การไม่ปลูกฝังทัศนคติแย่ๆ ต่อสังคม หรือชี้นำในในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ถ้าคุณโดนเจ้านายใช้งานแบบนี้อย่าทน คุณละทิ้งเหตุผลของปัญหาทิ้งหมดเลย ประเด็นนี้คุณกำลังสอนสังคมถึงความไม่อดทน สอนให้คนไม่มีความเป็นมืออาชีพในเรื่องนิสัยการทำงาน บรรทัดล่างสุด “เย็นนี้หางานใหม่ซะเลย” ประโยคนี้มันล่อลวงให้คุณหางานใหม่กับแบรนด์ คำถามคือ งานหาง่ายหรือ ตกงานมาแบรนด์รับผิดชอบหรือเปล่า อีกอย่าง เพราะทัศนคติแบบนี้แหละ สังคมคนทำงานของบ้านเราจึงปั่นป่วนกับการ Turn over (เปลี่ยนงาน) ของพนักงานที่สูง จนธุรกิจทุกสาขาบ่นกันเป็นเสียงเดียวว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน อย่าให้ใครมาว่าพวกคุณแบบนี้มันไม่คูล อย่าคิดงานแบบนี้มันไม่คูล อย่าเอา insight ด้านมืดมาขายของแล้วโน้มน้าวให้เป็นเรื่องดี แบบนี้มันไม่งาม
สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/onlinesection/detail/9610000009259