ธุรกิจสวนสนุกในประเทศไทย ปัจจุบันไม่ใช่ “ขาขึ้น” มากนัก เพราะจากข้อมูลของสมาคมสวนสนุกโลก (IAAPA) ระบุว่า สถานการณ์ตลาดไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมากนัก เพราะยุคนี้มีสิ่งดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น เช่น สวนน้ำ ความบันเทิงกึ่งการเรียนรู้ (Edutainment) ที่เข้ามาแย่งตลาดมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ของเจ้าตลาดสวนสนุกในประเทศไทยอย่าง “สวนสยาม–ทะเลกรุงเทพฯ” เผชิญภาวะรายได้ดิ่งลง ไม่เพียงแค่รายเดียว แต่คู่แข่งในสนามเดียวกันอย่าง “ดรีมเวิลด์” ก็เหนื่อยไม่แพ้กัน
เพื่อไม่ให้ธุรกิจเจ็บตัว “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ จำกัด ผู้ก่อตั้งสวนสยามฯ เลยต้องปรับแผนพัฒนาพื้นที่โครงการใหม่สวนสยามเนื้อที่ 400 ไร่ใหม่ ยอมทุบทิ้งอาคารทางเข้าที่เป็นปราสาทอันเป็น “ไอคอนิค” ของโครงการที่สร้างยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อนำพื้นที่บริเวณดังกล่าว 70 ไร่ ไปลุยโปรเจกต์ใหม่ “สยามเมืองบางกอก” มูลค่า 3,000 ล้านบาท ส่วนสวนน้ำยังเปิดบริการปกติ
“สิ่งหนึ่งที่ต้องทำทั้งที่ไม่อยากทำก็คือ การทุบทิ้งอาคารทางเข้าด้านหน้าที่เป็นปราสาททางเข้าสวนสยาม สัญลักษณ์ที่สร้างมานานกว่า 4 ทศวรรษ” ไชยวัฒน์ บอกถึงความรู้สึก
สำหรับโครงการสยามบางกอก มีพื้นที่รวม 6,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งการพัฒนาเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อทำจุดจำหน่ายบัตร จุดประชาสัมพันธ์ ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม พื้นที่การค้า เป็นต้น ซึ่งจะแล้วเสร็จไตรมาส 2 ปีหน้า
เฟส 2 จะก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จำนวน 13 อาคาร สำหรับการจำลองวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ สมัยเก่ามาไว้ให้ชม เช่น ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบีกริมแอนด์โก คลองถม สำเพ็ง เยาวราชไชน่าทาวน์ บ้านพระอาทิตย์ เรียกว่าเป็นการดึงสถานที่แม่เหล็กที่เคยเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวของคนกรุงมาไว้ในที่เดียวเสร็จสรรพ
ภายในโครงการยังมีเรือนขนมปังขิง เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าชุมชน โอทอป ทั่วประเทศด้วย เพื่อให้พ่อค้าแม่ขายมีช่องทางจำหน่ายสินค้า แต่อีกมุมหนึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับทางโครงการ เพราะสวนสยามไม่ได้มีแค่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปเยือน แต่ยังมีต่างชาติเข้าไปหาความสนุกสนาน เมื่อกลับออกจากโครงการก็จะได้ซื้อสินค้าที่ระลึกของฝากติดไม้ติดมือกลับไปได้ โดยเฟส 2 นี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563
โครงการสยามบางกอกนี้จะใช้เวลาคืนทุนไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี แต่จะเป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญให้กับสยามพาร์คหลายด้าน ตั้งแต่การเพิ่มรายได้ของบริษัท จากเกือบ 500 ล้านบาท ในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ใช้บริการรวม 3 ล้านคน ช่วยดึงกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้นเป็น 50% จากเดิมสัดส่วน 30% และคนไทย 70% ช่วยบาลานซ์พอร์ตโฟลิโอลูกค้าได้เป็นการกระจายความเสี่ยงในการทำเงินที่ไม่กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มเป้าหมายเดียว
เมื่อรายได้เพิ่ม ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัท “มีโอกาส” นำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 3 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านมามีความพยายามที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องผลประกอบการ ทำให้เป็นอุปสรรคในการยื่นแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่ผ่าน
อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นในการเข้าตลาดครั้งนี้ มีความชัดเจนอีกครั้ง เพราะบริษัทได้ 1 ใน Big4 ผู้ตรวจสอบบัญชี อย่าง “EY” มาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว
“เคยคิดจะเข้าตลาดหุ้นมานานแล้ว นึกว่าเข้าง่าย เอาเข้าจริงมันยาก เพราะบริษัทต้องมีความพร้อมทั้งด้านการบริการ จัดการ รายได้ กำไร เราต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ต้องมีการจัดการที่ดี แต่ตอนนี้มีรุ่นลูกเข้ามาช่วยรับช่วงบริหารและสานโปรเจกต์ต่อแล้ว” ไชยวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสมาคมสวนสนุกโลก (IAAPA) ระบุว่า ในปี 2558 ธุรกิจสวนสนุกไทยมีมูลค่าประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท เท่านั้น และมีการเติบโตค่อนข้างน้อย โดยตลาดยังแบ่งย่อยเป็น 3 หมวดได้แก่ สวนสนุกกลางแจ้ง ธีมพาร์ค เช่น สวนสยามฯ ดรีมเวิลด์ฯ และสวนสนุกในร่ม ซึ่งอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ รวมจำนวนสวนสนุกกว่า 20 แห่ง แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการประมาณ 5-10 ล้านคน.