Universal Studio เตรียมเปิดบริการที่ “ปักกิ่ง” ท่ามกลางความท้าทายกระแส “ชาตินิยม”

Universal Studio สาขาที่ 5 ของโลกเริ่มก่อสร้างใน “ปักกิ่ง” เมื่อปี 2015 และเลื่อนเปิดบริการเนื่องจากโรคระบาด แต่ในที่สุด มีความเคลื่อนไหวว่าจะเปิดได้เร็วๆ นี้ แม้ประเทศจีนยังไม่เปิดพรมแดน โดยคาดว่าตลาดภายในประเทศจะมีดีมานด์เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักคือกระแส “ชาตินิยม” ของคนจีน อาจทำให้ธีมปาร์คแห่งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

Universal Beijing Resort จะเป็นสวนสนุกธีมปาร์คแห่งใหม่ของ Universal Studio โดยตั้งอยู่นอกกรุงปักกิ่งไป 32 กิโลเมตร เป็นแห่งที่ 5 ของโลกต่อจากที่ ฮอลลีวูด, ออร์แลนโด, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ภายในมีโซนเด่นๆ สร้างจากธีมภาพยนตร์และอนิเมชันอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์, ทรานสฟอร์เมอร์ส, จูราสสิค เวิลด์, กังฟู แพนด้า และ มินเนี่ยนแลนด์

สำนักข่าวท้องถิ่นในจีนเริ่มลงข้อมูลในเว่ยป๋อ (โซเชียลมีเดียจีน) ถึงความเคลื่อนไหวของ Universal Studio ว่ากำลังจะเปิด “ในอนาคตอันใกล้” หลังจากชื่อของ Universal Resort ปรากฏบนแผนที่รถไฟฟ้าใต้ดินแล้วตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ภาพเรนเดอร์เครื่องเล่น Decepticoaster โซนทรานสฟอร์มเมอร์ส

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ท้าทายมากสำหรับธีมปาร์คหรือสวนสนุก แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการเข้าออกธุรกิจไม่น้อย โดย “เบธ ชาง” กรรมการผู้อำนวยการ AECOM Economics รายงานข้อมูลกับสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่าปี 2020 มีสวนสนุกเปิดใหม่ถึง 12 แห่งในจีน แต่ก็มีถึง 9 แห่งที่ปิดตัวลงหรือปิดชั่วคราว

ส่วนสวนสนุกที่กำลังก่อสร้างก็พยายามที่จะเปิดให้ได้ตามกำหนด เพราะการทำงานกับรัฐบาลจีนซึ่งต้องการให้ธุรกิจเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการให้บริษัทเปิดดำเนินการให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ อย่างเช่น Universal Beijing นี้รัฐบาลจีนร่วมทุนถึง 70% ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง

 

พึ่งพิงคนในประเทศ

กรณีของ Disneyland Hong Kong ต้องปิดบริการนานหลายเดือนท่ามกลางโรคระบาด เพราะกลุ่มเป้าหมายถึง 2 ใน 3 มาจากคนนอกเกาะ ไม่ว่าจะเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่หรือต่างชาติอื่นๆ แต่กรณีของ Universal Studio ที่ปักกิ่ง จะแตกต่างกัน เพราะพึ่งพิงคนในประเทศเป็นหลักได้

เฉพาะกรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจินก็น่าจะทำให้สวนสนุกแห่งนี้มีลูกค้ามากเพียงพอหล่อเลี้ยงได้แล้ว ในกรณีที่โรคระบาดอาจทำให้คนจีนเองไม่สามารถเดินทางเข้ามาปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม จีนมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วมากกว่า 200 ล้านคน เฉพาะในปักกิ่ง มีผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 70% ของทั้งเมือง รวมถึงทั้งประเทศยังไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้น

ม้าหมุนโซนกังฟู แพนด้า

ไซม่อน ลี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong มองว่า การเปิดสวนสนุกในยามนี้อาจจะเสี่ยง แต่ตลาดท้องถิ่นจีนก็ใหญ่เพียงพอ และเชื่อว่าโรคระบาดจะดีขึ้นเป็นลำดับ สถานการณ์ขณะนี้เพียงแต่ทำให้เกิดผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ทำให้ระยะคืนทุนช้าลงบ้าง

ส่วนคู่แข่งสวนสนุกในจีน หากวัดกลุ่มที่เป็นแบรนด์ต่างชาติด้วยกันจะมี Disneyland Shanghai ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2016 และเน้นกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางแดนมังกรที่มีราว 400 ล้านคน

แต่คาดกันว่าคู่แข่งตัวจริงจะเป็นสวนสนุกที่อยู่ในปักกิ่งมานาน 15 ปีมากกว่า Happy Valley Beijing ตั้งอยู่ห่างจากกลางกรุงปักกิ่งไปเพียง 17 กิโลเมตร และบริหารงานโดย Overseas Chinese Town Enterprises รัฐวิสาหกิจจีนด้านสวนสนุก ซึ่งถือเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ใหญ่กว่า Universal Studio หากวัดจากจำนวนทราฟฟิกเข้าสวนสนุกต่อปี

 

ความท้าทายหลัก “กระแสชาตินิยม”

โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ซบเซาลงอาจไม่ใช่ความท้าทายสำคัญนักของ Universal Studio แต่ที่น่ากังวลพอสมควรคือ กระแส “ชาตินิยม” ในหมู่คนจีนที่รุนแรงขึ้น นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

แฮร์รี่่ พอตเตอร์มีแฟนคลับไม่น้อยในจีน

ที่จริงแล้ว Universal Studio ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนจีน แต่คนจีนที่เป็นแฟนคลับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือทรานสฟอร์มเมอร์ส นั้นมีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะทรานสฟอร์มเมอร์สที่น่าจะดึงดูดคนได้หลายวัย รองมาคือกลุ่มอะนิเมชั่นอย่าง กังฟู แพนด้า และ มินเนี่ยน ที่ดึงดูดกลุ่มเด็กๆ

ความโด่งดังวัดได้จากตัวเลขรายได้การฉายภาพยนตร์ ทรานสฟอร์มเมอร์ส ทำรายได้รวมกันทุกภาคไปกว่า 5,000 ล้านหยวน (ประมาณ 25,400 ล้านบาท) จูราสสิค เวิลด์ สองภาครวมกันทำเงิน 3,100 ล้านหยวน (ประมาณ 15,700 ล้านบาท) แม้แต่การนำ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพณ์ มาฉายใหม่ปีนี้ก็ยังทำเงินได้ 200 ล้านหยวน (ประมาณ 1,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม มีเจนเนอเรชันหนึ่งที่ถูกมองว่าอาจจะไม่ตื่นเต้นกับการมาของ Universal Studio นั่นคือ “เจนซี” หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1995-2010 (อายุ 11-26 ปี ณ ขณะนี้) iiMedia Research รายงานว่า คนกลุ่มนี้เติบโตมากับการปลุกเร้ากระแสชาตินิยม ตอบรับแบรนด์จีนและถวิลหาวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งทำให้ช่วงที่ผ่านมา เสื้อผ้าแบบจีนโบราณเกิดฮิตติดตลาด เฉพาะปีนี้คาดว่าจะเติบโตถึง 59.7% เป็น 10,000 ล้านหยวน (ประมาณ 50,800 ล้านบาท)

วัยรุ่นชายหญิงแต่งตัวด้วยชุดฮั่นฝูของจีน เดินตามท้องถนนในเมืองนานจิง (ภาพเมื่อ เม.ย. 2020) แสดงออกถึงความภูมิใจในชาติ (Photo : Shutterstock)

iiMedia ยังมองด้วยว่ากระแสจีนทำจีนใช้แบบนี้ จะทำให้แข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศได้ในไม่ช้า และอาจจะเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงในระดับโลกภายใน 5-10 ปีด้วย

แต่ตลาดที่มีผู้บริโภคจำนวนมากและเศรษฐกิจยังโตได้อีก ย่อมมีแบรนด์ต่างชาติเข้ามาไม่ขาดสาย เช่น Merlin Entertainments (อันดับ 2 ของโลกในธุรกิจสวนสนุก) จะนำ Legoland มาลงทุนถึง 3 แห่งติดต่อกัน ได้แก่ เสฉวน เปิดปี 2023, เซี่ยงไฮ้ เปิดปี 2024 และเสิ่นเจิ้น คาดว่าจะเปิดปี 2025 หรือ Disneyland Shanghai ก็ไม่หยุดลงทุน ธีมปาร์คพื้นที่ใหม่ ‘Zootopia’ จะเปิดเร็วๆ นี้ และเตรียมขึ้นราคาบัตรอีก 10% ปีหน้า

ทั้งนี้ ลิเดีย ไพรซ์ ศาสตราจารย์ที่ China Europe International Business School ให้ความเห็นว่า เพราะลักษณะผู้บริโภคจีนที่เปลี่ยนแปลง สวนสนุกที่เป็นแฟรนไชส์ต่างประเทศก็จะต้องตามให้ทัน เช่น สร้างคาแร็กเตอร์และเรื่องราวแบบเอเชียนให้มากขึ้น และลดการ ‘สเตอริโอไทป์’ จากสายตาคนตะวันตก ซึ่งเธอมองว่า Universal และ Disney คือ “ปรมาจารย์” ของเกมธุรกิจนี้ และเชื่อว่าจะทำสำเร็จในจีน

Source