อ่านมุมมอง ‘รันวงการ’ ของ 6 ผู้สร้างแรงบันดาลใจ จากทำเนียบ ‘100 นักสร้างสรรค์’ โดย NIA

เป็นปีที่ 2 แล้วที่ NIA จัดทำเนียบ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม” รวมนักสร้างสรรค์ไทย 100 คนที่ช่วยพัฒนาสิ่งใหม่ให้ประเทศใน 6 สาขาอาชีพ โดยในงานเปิดตัว มีการเสวนาของตัวแทนนักสร้างสรรค์ 6 ท่านจากหลายวงการ ตั้งแต่วงการศิลปะ ภูมิสถาปนิก ผู้ให้ความรู้ ผู้ประกอบการ จนถึงผู้ขับเคลื่อนสังคม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดรายชื่อ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม” ปี 2 จำนวน 100 คน โดยทำเนียบรายชื่อนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแต่กลุ่มนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Hard Innovation) เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่คือกลุ่มนวัตกรรมที่ใช้สุนทรียศาสตร์ (Soft Innovation) ซึ่งเป็นผลงานที่สำคัญเช่นเดียวกันในการพัฒนาสร้างสรรค์

ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรมรวมผลงานของคนทุกเพศทุกวัยจาก 6 กลุ่ม และมีตัวอย่างผู้ได้รับการระบุชื่อขึ้นทำเนียบ ดังนี้

  • ศิลปินวิภูริศ ศิริทิพย์ (Phum Viphurit) ศิลปินอินดี้ไทยที่ดังไกลทั่วโลก, ปันปัน นาคประเสริฐ (Pangina Heels) ศิลปินแดร็กชื่อดัง, ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีที่กำลังมาแรง
  • ผู้ขับเคลื่อนสังคมอเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ปลุกจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ, สุชาดี มณีวงศ์ จากเสียงพากย์ ‘กระจกหกด้าน’ สู่แพลตฟอร์มออนไลน์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา เจ้าของนามปากกา ‘หมอดื้อ’ ผู้เป็นทั้งหมอ นักวิจัย และนักสื่อสาร
  • นักออกแบบมีชัย แต้สุจริยา ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บ้านคำปุนและนักออกแบบผ้าไทย, แดนไท สุขกำเนิด นักออกแบบบอร์ดเกมวัย 16 ปี, อนุทิน วงศ์สรรคกร นักออกแบบตัวอักษร Cadson Demak
  • ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดร.วิโรจน์ จิรพัณนกุล ผู้ก่อตั้ง Skooldio, มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ แม่ทัพ Sea Thailand, พรทิพย์ กองชุน ผู้ก่อตั้ง Jitta Wealth
  • ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ทิชากร ภูเขาทอง นักจัดปาร์ตี้กลุ่ม Trasher, สุวรรณา เอี่ยมพิกุล ผู้ปรับโฉมใหม่ของ ‘เซียงเพียวอิ๊ว’, อนุรักษ์ สรรฤทัย สุดยอดนักขายออนไลน์ บังฮาซัน
  • ผู้ให้ความรู้ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ทำความเข้าใจโลกการเมืองผ่านหลักกฎหมาย, แก่นคำกล้า พิลาน้อย ชาวนานักอนุรักษ์และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง, ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล ผู้สร้างสรรค์อาหารบนพื้นฐานความรู้ดั้งเดิมที่ประยุกต์ให้เข้ากับโลกยุคใหม่

โดยสามารถติดตามรายชื่อและเรื่องราวทั้ง 100 นักสร้างสรรค์ได้ที่ www.nia100faces.com ในเว็บไซต์มีฟังก์ชันให้ชมนิทรรศการ 3D แบบออนไลน์ได้ด้วย ทดแทนนิทรรศการบนพื้นที่ออฟไลน์ที่ยังจัดขึ้นไม่ได้ในปีนี้

 

อ่านมุมมองจาก 6 นักสร้างสรรค์หลากหลายวงการ

งานเปิดตัวที่จัดขึ้นแบบออนไลน์ตามสถานการณ์ NIA ได้เชิญนักสร้างสรรค์ 6 คนมาพูดคุยกันถึงประสบการณ์ในวงการ และมุมมองที่อยากจะเห็นในอนาคต

“ศิลปะบนถนนช่วยเปลี่ยนเมือง”

NIA 100 นักสร้างสรรค์ นวัตกรรม

“พัชรพล แตงรื่น” หรือ Alex Face คือศิลปินสตรีทอาร์ต เขาพ่นกราฟิตีมาตั้งแต่ปี 2545 จนกลายเป็นศิลปินดัง พัชรพลเล่าถึงประสบการณ์คนพ่นสีแบบเขาว่า ต้องหาที่แสดงงานก็คือตามตึกร้าง พื้นที่ในซอกในมุมทั้งหลาย สิ่งที่เขาพบเจอจึงไม่ใช่แค่ตึก แต่เจอ “คน” ในพื้นที่ด้วย

“สิ่งที่เราเจอคือคน คนชายขอบที่ไปนอนอยู่ตรงนั้น หรือคนขายของทั่วไป พอเราได้ปฏิสัมพันธ์กัน ทำให้เราเห็นว่าคนที่ถูกมองเป็นชาวบ้านๆ เขาก็มีมุมมองศิลปะของเขา” พัชรพลกล่าว

งานศิลปะที่อยู่ตามข้างถนนจึงใกล้ชิดกับชาวบ้าน เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องไปตามหอศิลป์ (ที่มีไม่เพียงพออยู่แล้วในไทย) ยิ่งระยะหลัง สตรีทอาร์ตกลายเป็นการขับเคลื่อนสังคมเมืองทั่วทุกมุมโลก “ตรงที่เคยร้าง ไม่ค่อยมีคน พอจัดเฟสติวัลศิลปะก็กลายเป็นมีคนเดิน มีร้านค้าเกิดในชุมชน” โดยตัว Alex Face เองเคยใช้พลังศิลปะบนถนนสร้างกระแสให้กับยะลามาแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน

มุมมองอนาคตวงการศิลปะของเขา หากต้องการเปิดประตูงานสร้างสรรค์ให้มากขึ้น พัชรพลมองว่าควรเริ่มด้วยการอย่าปิดกั้นจินตนาการวัยเด็กและรัฐควรสนับสนุนศิลปิน ทั้งในแง่พื้นที่ปล่อยจินตนาการ รวมถึงเงินทุนสนับสนุนที่ไม่ปิดกั้นจินตนาการของศิลปินเช่นกัน

 

“การเดินในเมืองคือความรื่นรมย์”

NIA 100 นักสร้างสรรค์ นวัตกรรม

หากใครเคยไปอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ นั่นคือผลงานของ “กชกร วรอาคม” ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Landprocess เธอมีแพสชันกับงานภูมิสถาปัตย์เป็นอย่างมาก  และต้องการจะใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดช่วยพลิกสภาพเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น

“เมืองต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ยิ่งเจอโรคระบาดเรายิ่งรู้ว่ามันเร่งด่วนมากแค่ไหน นอกจากปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างฝุ่น PM2.5 น้ำท่วม น้ำเน่าเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จัดการได้ด้วยการออกแบบเมือง แต่สภาพเมือง กทม. ตอนนี้เหมือนอยู่ในขั้วตรงข้ามของสิ่งที่เมืองควรจะเป็น” กชกรกล่าว

โดยเธอเปิดเผยว่า สิ่งที่เธอให้ความสำคัญเป็นพิเศษท่ามกลางปัญหาเมืองทั้งหมดคือ “พื้นที่สีเขียว” ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในกรุงเทพฯ ขณะนี้งานออกแบบที่กำลังทำอยู่ของเธอจึงเป็นการปรับปรุงสวนลุมพินีเสียใหม่

อนาคตที่กชกรอยากเห็นของการออกแบบเมือง คือการทำให้การเดินจากจุด A ไปจุด B ในกรุงเทพฯ มีความรื่นรมย์ และอยากให้คนใส่ใจและร่วมกันพัฒนาระบบคลองที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้

 

“เข็นนวัตกรรมให้เป็นสินค้า”

NIA 100 นักสร้างสรรค์ นวัตกรรม

“ผศ.ดร.รัฐ พิชญางกูร” อาจารย์และนวัตกรด้านชีวเคมี และที่ปรึกษาของ NIA กลับจากเมืองนอกมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2539 หลังจากนั้นเริ่มเห็นปัญหาในวงการวิทยาศาสตร์ นั่นคือ อาจารย์ได้สร้างบัณฑิตออกไปหลายรุ่นแต่ศิษย์ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ เพราะอุตสาหกรรมไทยยังไม่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

ผลก็คืออาจารย์ต้องผันตัวมาเป็นนวัตกรเอง เข้าไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมเพื่อหาโจทย์มาวิจัย ตั้งบริษัทและรวบรวมลูกศิษย์มาพัฒนานวัตกรรมต่อยอดจนเป็นสินค้าพร้อมใช้ เช่น สารกระตุ้นการเติบโตของกล้วยไม้

ดร.รัฐมองพัฒนาการระยะต่อมาว่า บริษัทขนาดใหญ่เริ่มลงทุน R&D แล้วในช่วง 5-10 ปีมานี้ แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทยยังตามหลังอีกไกล เพราะประเทศเหล่านั้นลงทุนด้านนวัตกรรมมาร่วม 50 ปี “เราเพิ่งจะเริ่ม ถ้าเรายังค่อยๆ ย่ำไปมันจะไม่ทัน เราต้องก้าวกระโดดให้ได้” ดร.รัฐกล่าว

เขามองอนาคตงานวิจัยนวัตกรรมของไทยว่า สิ่งที่จะทำให้ตามทันได้ คือการเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้มานาน 50 ปีเหมือนกัน เข้ากับกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อเร่งนำไปใช้ และอาจารย์มหาวิทยาลัยคือแรงขับเคลื่อนสำคัญ ควรเปลี่ยนจากยุคของการทำ ‘เปเปอร์วิชาการ’ มาเป็นนวัตกรสร้างผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ได้เลย

 

“สร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือคน”

PULSE Clinic คือคลินิกแห่งแรกในไทยที่จ่ายยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) หรือยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ตีตราผู้มารับบริการ “นพ.ณัฐเขต แย้มอิ่ม” หรือ หมอเต้ คือแพทย์ผู้ก่อตั้งคลินิกแห่งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การปรึกษาเรื่องสุขภาวะทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอายและเข้าถึงได้ง่าย ความสำเร็จของ PULSE ที่มีคนบอกปากต่อปาก ทำให้มีเจ้าหน้าที่มาดูงานรวม 16 ประเทศจากทั่วโลก

มองไปข้างหน้า หมอเต้กล่าวว่าเขาเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศ “เด็ก” รู้เรื่องเพศเร็วขึ้นมาก จากสมัยก่อนเด็กมักจะเริ่มเข้าถึงหนังโป๊ช่วงวัย 11 ขวบขึ้นไป แต่ยุคนี้ 8-9 ขวบก็เริ่มเข้าถึงหนังโป๊กันแล้ว นั่นทำให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพเกิดเร็วขึ้น แต่กฎหมายไทยยังระบุให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะตรวจเลือดได้

ในมุมของหมอเต้ ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เขาทำเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย จึงมองว่าใครก็ตามที่อยากสร้างนวัตกรรมควรจะมองที่โจทย์เป็นหลักก่อนว่า สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งจะกลายเป็นหลักยึดให้มีกำลังใจทำต่อไป

 

“การสื่อสาร เทคโนโลยี และดาต้า”

NIA 100 นักสร้างสรรค์ นวัตกรรม

“วราภรณ์ กุลสวัสดิ์ภักดี” ซีอีโอและเอ็มดี บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด เป็นหนึ่งใน PR แถวหน้าของเมืองไทย มีลูกค้าเป็นบริษัทใหญ่หลายแห่ง เช่น SCG, สหพัฒน์ และงาน PR ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ทำให้อยู่ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว การรายงานข่าวยุคใหม่แทบไม่มีการปรับแก้หรือกรองก่อน ทำให้การสร้างสรรค์ของคนทำงานด้านการสื่อสาร คือการบริหารสิ่งเหล่านี้ และจะหยิบคอนเทนต์อะไรมาสื่อสารให้เกิดพลัง

อีกมุมหนึ่งของการสื่อสาร โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย มีคนที่หยิบมาเป็นดาต้าเพื่อส่งต่อให้ธุรกิจใช้วางแผนการตลาด “กล้า ตั้งสุวรรณ” ซีอีโอ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด คือคนคนนั้น เขาคือผู้นำนวัตกรรมจับคู่ AI กับดาต้า จับให้เห็นเทรนด์ว่าคนไทยกำลังคุยอะไรกันบนโซเชียล โดยไม่ต้องพึ่งพิงบริการจากต่างประเทศ

จากคนที่คลุกคลีกับการสื่อสาร กล้ามองว่าสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือความเข้าใจกันของคนในประเทศ ซึ่งต้องมาจากการสื่อสารที่ดี ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น และก้าวข้ามโลกโซเชียลที่ตัวเองอยู่มาเห็นโลกที่กว้างใหญ่กว่านั้น