กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็ว แรงมากทั้งเรื่องเทคโนโลยี ดิจิทัล และเข้ามา Disrupt ธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ทำให้โครงสร้างธุรกิจต่างไปจากเดิม ผู้ประกอบการได้ปรับตัวนำเรื่องของ AI เข้ามาใช้ในโครงการ การทำ Sharing Economy เช่น นำรถส่วนตัวมาร่วมให้บริการแก่ลูกบ้าน การซื้อที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องไปเยี่ยมชมโครงการ แต่สามารถดูผ่าน VR ได้ ฯ มาให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
แต่เทรนด์ไม่หยุดแค่นั้น ของใหม่ยังมีมาเรื่อยๆ โดย “ชานนท์ เรืองกฤติยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) มองกระแสการอยู่อาศัยในอนาคตอาจได้เห็นการอยู่อาศัยอาจเป็นการ “Sharing” นำห้องพักมาแชร์กันอยู่คนละเวลา ไม่ต่างจากปัจจุบันที่มี Airbnb UBER ซึ่งไม่ต้องมีสินทรัพย์แต่ก็ทำธุรกิจได้ใหญ่โต เพราะคนรุ่นใหม่อาจไม่ต้องการครอบครองสินทรัพย์เป็นของตัวเองตลอดไป
ในฐานะเป็นหนึ่งใน “บิ๊ก ดีเวลลอปเปอร์” อนันดา ต้องตามเทรนด์ให้ทันอยู่เสมอ ว่าผู้บริโคยุคนี้มีความต้องการเชิงลึก(Insight)แบบไหน เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านโปรดักท์ที่อยู่อาศัย การทำตลาด และบริการหลังการขายให้ตรงใจที่สุด
ซึ่งเทรนด์ปีนี้ที่บริษัท “จับได้” คือการพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม เพื่อตอบโจทย์หนุ่มสาวคนทำงานเจนเนอเรชั่น C หรือConnectedness ชื่นชอบการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัล ให้มีความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย
ทั้งนี้ ปี 2560 บริษัทจะมีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น 16 โครงการ มูลค่ากว่า 35,100 ล้านบาท โครงการแบ่งเป็น
- คอนโดมิเนียม 8 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการร่วมทุนกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” 7 โครงการ
- เพื่อก้าวเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่พัฒนาโครงการร่วมทุนมีมูลค่าเกิน 114,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ จากปีก่อนมีมูลค่า 95,000 ล้านบาท
- โครงการแนวราบ 8 โครงการ เช่น บ้านเดี่ยว
- จำนวนโครงการใหม่ปีนี้เท่ากับปีก่อนที่พัฒนา 16 โครงการ มูลค่า 42,500 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโด 11 โครงการ และโครงการแนวราบ 5 โครงการ
ในปี 2561 ถือเป็นปีที่บริษัทโฟกัสพัฒนาคอนโดมิเนียม “แบรนด์ไอดีโอ” มากขึ้น เพราะการได้ทำเลที่ดินสอดคล้องกับแบรนด์ โปรดักท์และแบรนด์ DNA มีความโดดเด่น มีพลัง เป็นคอนโดที่มีภาพลักษณ์ระดับบน แต่ราคาจับต้องได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อตารางเมตร พร้อมจุดขายที่ตั้งโครงการใกล้ “รถไฟฟ้า” ส่วนบ้านเดี่ยวจะให้พัฒนาโครงการราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย
“การโฟกัสแบรนด์ IDEO เพราะเป็นเรื่องของการหาที่ดินได้เหมาะกับแบรนด์ และเราต้องการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนวัยทำงาน คนในเมือง ที่มองหาคอนโดไม่ได้หรูหรามากนัก ราคาซื้อได้ ในทำเลที่มีศักยภาพ ที่สำคัญมองว่าดีมานด์ของตลาดดังกล่าวกำลังกลับมาด้วย”
ปี 2560 การพัฒนาคอนโดของบริษัทเน้นไปที่ “ไอดีโอ โมบิ” จำนวน 3 โครงการบนทำเลพระราม 4 รางน้ำ และสุขุมวิท เพราะเป็นแบรนด์ที่ฮอตมากตลาดตอบรับดีขายหมดอย่างรวดเร็ว
สำหรับพอร์ตโฟลิโอแบรนด์คอนโดและบ้านเดี่ยวของอนันดามีมากกว่า 10 แบรนด์ เช่นบ้านเดี่ยวแบรนด์อาร์เด้น, มัลดีฟส์ บีช, บาหลี บีช และจาวา เบย์ ฯ ส่วนคอนโดมีแบรนด์ เช่น “ไอดีโอคิว”,“แอชตัน” วาง Positioning จับลูกค้าตลาดบน มีความทันสมัย, “โอดีโอ โมบิ” เป็นแบรนด์ที่เจาะทำเลติดสถานีรถไฟฟ้าจริงๆ และเน้นในเรื่องของเทคโนโลยี “ไอดีโอ” ทำเลอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าระยะ 300 เมตร จับกลุ่มเป้าหมายที่ Young ลงมาในกลุ่มนักศึกษา วัยทำงาน, “ยูนิโอ” อยู่บนทำเลห่างรถไฟฟ้า 600 เมตรขึ้นไป ราคาขายต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็น Super Value เป็นต้น
เนื่องจากบริษัทมองกลุ่มเป้าหมายคนทำงานหนุ่มสาวเจน C ทำให้การทำตลาดต้องใช้ “ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง” มากขึ้นพลิกทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล เพื่อเกาะติดผู้บริโภคให้ทัน ที่สำคัญยังสอดคล้องกับคาแร็กเตอร์ของอนันดา ที่เป็นแบรนด์เผ่าพันธุ์ของคนรุ่นใหม่ด้วย
โจทย์การอยู่อาศัยของลูกบ้านยุคปัจจุบันไม่ได้ต้องการแค่โปรดักท์ราคาจับต้องได้ แต่ไลฟ์สไตล์ต้องสะดวกสบายมากขึ้น อนันดาฯ จึงต่อยอดบริการต่างๆให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น การสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยการสแกนบาร์โค้ดผ่าน Nasket โดยไม่จำเป็นต้องออกห้องชุด การรายงานช่างซ่อมผ่าน Application โดยไม่ต้องมาดูความเสียหาย ปัญหา ก่อนซ่อม เพื่อช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการซ่อมแซมสิ่งชำรุดในที่พักอาศัย เป็นต้น
นอกจากนี้ อนันดา ยังให้ความสำคัญกับ “บริการหลังการขาย” ให้แก่ลูกบ้านมากขึ้น เพราะเชื่อว่า นี่คือ “เทรนด์สำคัญ” ที่จะชี้วัดการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต
อสังหาในอนาคต แบรนด์ไหนตอบโจทย์ด้านบริการเหนือกว่าย่อมได้ใจลูกบ้าน
การพัฒนาโครงการใหม่ปีนี้ จะส่งผลให้บริษัทมียอดขาย 35,097 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ยอดโอนคาดว่าจะอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท เติบโต 152% จากปีก่อนมียอดขาย 34,920 ล้านบาท เติบโต 6% ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 12,950 ล้านบาท เติบโต 6% มีกำไรสุทธิ 1,328 ล้านบาท ลดลง 12%
อย่างไรก็ตาม แผนธุรกิจดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของ “4 in 4 Road Map ระยะเวลาแห่งการเติบโตมากกว่า 4 เท่า ใน 4 ปี” คือภายในปี 2564 ต้องการมียอดการโอนแตะ 70,000 ล้านบาท เติบโต400% จากปี 2560 มีโอน 15,100 ล้านบาท โดยปัจจุบันมียอดขายที่รับรู้รายได้กว่า 53,700 ล้านบาท รองรับการเติบโตตามโร้ดแม็ป.