ถุงพลาสติกแบรนด์แฟชั่น “Céline” ราคาเกิน 18,000 บาทที่ชมพู่–อารยาหิ้วจนเป็นข่าวดังนั้นไม่ได้เป็นประเด็นเรื่องราคาอย่างเดียว แต่เรื่องนี้เป็นการรณรงค์ให้นำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ และเกี่ยวข้องกับกระแส “แบนพลาสติก” ที่กำลังร้อนแรงในหลายอุตสาหกรรมโลกตะวันตกโดยตรง
ไม่เพียงถุงพลาสติก ล่าสุดหลายเมืองในสหรัฐฯ และยุโรปประกาศรณรงค์งดถ้วย–หลอด–ช้อนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ขณะที่เริ่มมีการแจ้งเกิดซูเปอร์มาร์เก็ตไร้พลาสติกแห่งแรกของโลก ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า “พลาสติก” กำลังเป็นประเด็นร้อนที่นักการตลาดโลกกำลังจับตาเป็นพิเศษในปีนี้
*** ถุงพลาสติกขึ้นรันเวย์
ต้นเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่งาน Paris Fashion Week AuAutumn/Winter 2018 จัดขึ้นที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดาราดังอย่างชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต ไม่พลาดร่วมงานพร้อมกับโพสต์ภาพลง IG ของตัวเองต่อเนื่อง ประเด็นร้อนเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตว่า “แม่ชม” ถือถุงพลาสติกใสตีตรา “Céline” แบรนด์แฟชั่นดังที่โชว์ถุงนี้บนรันเวย์ และตั้งราคาไม่ธรรมดาคือ 592 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นบาท
ผลคือโลกออนไลน์ไทยกล่าวขานแต่เพียงประเด็นราคา ที่สูงลิ่วสวนทางกับภาพการเป็นถุงพลาสติกใส่ข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวลุยสวนในตลาดนัด แต่ในเวทีโลก สื่อออนไลน์หลายสำนักชี้ว่านี่คือสัญญาณที่ตอกย้ำว่า “ถุงพลาสติกช้อปปิ้ง” กำลังเป็นไอเท็มล่าสุดที่โลกแฟชั่นกำลังยึดเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากไม่เพียง Céline วันนี้ Burberry และ Balenciaga ก็ชวนถุงพลาสติกขึ้นรันเวย์เช่นกัน
เว็บไซต์ refinery29.com วิเคราะห์ว่าการหยิบยื่นถุงพลาสติกให้นางแบบถือบนรันเวย์แฟชั่นโชว์ เป็นการกระตุ้นชั้นดีให้ผู้ชมอยากรู้อยากเห็น เพราะไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอนที่ถุงพลาสติกซึ่งร้านค้าใช้ใส่สินค้าจะถูกดันขึ้นสู่สายตาชาวโลกแบบพร้อมใจหลายแบรนด์เหมือนนัดกัน แถมยังเป็นเรื่องแปลกมากที่แบรนด์แฟชั่นจะทำให้เราผู้บริโภคต้องจ่ายเงินหมื่นเพื่อซื้อถุงพลาสติก
คำตอบของเรื่องนี้คือแบรนด์แฟชั่นระดับโลกกำลังกระตุ้นให้ผู้ซื้อเดินไปบนถนน “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และนำถุงพลาสติกนี้กลับมาใช้ซ้ำ แม้เรื่องนี้จะไม่มีการประกาศชัดเจน และเสี่ยงกับภาพแบรนด์เพราะสินค้าที่นำเสนอนั้นตรงกันข้ามกับป้ายแบรนด์ที่หรูหราราคาแพง
นอกจาก Céline ก่อนหน้านี้แบรนด์อย่าง Raf Simons ออกแบบถุงโปร่งใสสำหรับร้าน Voo ในเบอร์ลินด้วยราคาขายปลีก 158.79 เหรียญ ล่าสุดคือคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ 2018 จาก Céline, Burberry และ Balenciaga ที่มีถุงพลาสติกอยู่บนรันเวย์ โดย Céline ซึ่งเป็นข่าวเพราะชมพู่นั้นราคา 592 เหรียญ ขณะที่ Balenciaga ราคาแพงกว่าถึง 1,159 เหรียญ
ความหมายที่ซ่อนอยู่ของการที่แบรนด์ลุกขึ้นมาติดแบรนด์และกำหนดราคาถุงเหล่านี้ เป็นเหมือนสิ่งเตือนใจผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกว่าอย่าทิ้ง และควรนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นในแง่ของธุรกิจแฟชั่น การนำถุงพลาสติกขึ้นรันเวย์ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แถมยังกำไรด้วยหากมีใครเจียดสตางค์มาซื้อไปใช้งาน
*** แบนถุง–หลอด–ช้อน–ถ้วยพลาสติก
ประเด็นของ Céline ถือว่ารับกับกระแสรณรงค์ลดการเกิดขยะจากพลาสติกที่กำลังร้อนแรงในโลกตะวันตก ซึ่งไม่เพียงถุง แต่หลายเมืองชายฝั่งทะเลในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพร้อมใจออกกฎห้ามหรือจำกัดการใช้หลอดพลาสติก รวมถึงอุปกรณ์ช้อนส้อมมีดถ้วยพลาสติกที่มักกลายเป็นขยะริมชายหาด
เมืองที่มีการแบนอุปกรณ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งคือ Malibu, Davis และ San Luis Obispo ในแคลิฟอร์เนีย ยังมี Miami Beach และ Fort Myers ในฟลอริดา โดยคาดว่าจะมีการออกกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อลดการใช้หลอดพลาสติก กระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ก่อนขยายไปยังโครงการขนาดใหญ่ขึ้น โดยเมืองชายฝั่งอื่นในสหรัฐฯ อาจออกมาตรการคล้ายกันในอนาคต
สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือสหรัฐอเมริกากำลังเอาจริงเรื่องปัญหาพลาสติก ยังไม่นับแบรนด์อย่าง Evian, Coke และ McDonald’s รวมถึงแบรนด์อื่นที่พร้อมใจประกาศเป้ารีไซเคิล 100% ซึ่งไม่เพียงแดนลุงแซม สก็อตแลนด์ก็วางแผนกำจัดหลอดพลาสติกออกหมดประเทศในปี 2019 หรือปีหน้า
บ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่างไต้หวัน ก็เตรียมการเพื่อประกาศห้ามใช้หลอด ถ้วย หรือถุงช้อปปิ้งที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน คาดว่าจะประกาศได้ปี 2030
*** กำเนิดซูเปอร์มาร์เก็ตไร้พลาสติกแห่งแรกของโลก
28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์เพิ่งเปิดตัวซูเปอร์มาร์เก็ตพันธุ์ใหม่ที่ “ปลอดพลาสติก” โดยจำกัดเป็นโซนในร้าน Ekoplaza ซึ่งจะจัดเรียงสินค้าทุกประเภทที่ไม่มีส่วนประกอบของพลาสติกแฝงในบรรจุภัณฑ์ ทั้งของชำ ขนมขบเคี้ยว และของที่ระลึกอื่นที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติหรือกระดาษ เชื่อว่าการจัดโซนนี้เป็น “จุดสำคัญในการต่อสู้กับมลภาวะพลาสติกทั่วโลก“
สินค้าที่ปราศจากพลาสติกในโซนนี้มีมากกว่า 700 รายการ ทั้งเนื้อสัตว์ ซอส ธัญพืช โยเกิร์ต และช็อกโกแลต จุดนี้ Erik Does หัวหน้าผู้บริหารของ Ekoplaza ยืนยันว่าพันธกิจนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เคล็ดลับทางการตลาด แต่เป็นสิ่งที่ Ekoplaza ให้ความสำคัญมาหลายปีแล้ว
มีความเป็นไปได้สูงที่โซนปลอดพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตอาจจะขยายตัวสู่ประเทศอื่นในอนาคต โดยเฉพาะวันนี้ที่ Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นผู้บริหารของสหภาพยุโรปเคยกล่าวกับสื่อว่า หากมนุษย์เราไม่ทำคิดแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกล้นโลก อีก 50 ปีข้างหน้า โลกเราจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร
อีกสิ่งที่เราสามารถสรุปได้คือ ธุรกิจผลิตหลอดดูดน้ำ, ขวดพลาสติก, ถ้วยกาแฟ และฝาปิดจากพลาสติกจะต้องปรับตัว เพราะทั้งหมดนี้คือรายการสินค้าที่อียูจะแบนทั้งกระบุง.
ที่มา
- https://www.refinery29.com/2018/03/192644/plastiktuete-it-bag
- https://www.instagram.com/chomismaterialgirl/?hl=en
- celine bag plastic
- https://www.nytimes.com/2018/02/28/business/netherlands-plastic-supermarket.html
- https://www.nytimes.com/2018/03/03/climate/plastic-straw-bans.html