ระเบิดศึกโมบายเพย์เมนต์ วัดพลังเอไอเอส ควงคู่แรบบิท+ไลน์ ปะทะ ทรูผนึกอาลีเพย์

มองทิศทาง AIS mPAY หลังจับ Rabbit LINE Pay ท้าชน TrueMoney ที่ควงคู่ Alipay หลังจากนิ่งเงียบปล่อยให้คู่แข่งอย่าง ทรู มันนี่ (TrueMoney) จับมือกับ แอนท์ ไฟแนนเชียล (ANT) ผู้ให้บริการอาลีเพย์ (Alipay) เข้ามารุกตลาดโมบายเพย์เมนต์ในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เอ็มเปย์ (mPAY) จะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับกับยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

การประกาศร่วมทุนระหว่าง แอดวานซ์ เอ็มเปย์ และ แรบบิท ไลน์ เพย์ จึงกลายมาเป็นคำตอบที่น่าสนใจ และมีโอกาสทำให้ mPAY ที่จะผันตัวไปเป็นแพลตฟอร์มอีเพย์เมนต์ กลับมาเป็นผู้นำในตลาดนี้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับพันธมิตรหลักอย่างแรบบิท (Rabbit) และไลน์ (LINE)

‘โอกาส’ ที่ทั้ง 3 รายมองเห็นร่วมกันคือ จำนวนลูกค้าที่ใช้งานเครือข่ายเอไอเอสกว่า 40 ล้านราย และจำนวนลูกค้าที่ใช้งาน LINE กว่า 42 ล้านราย ในไทย ที่เชื่อว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม จุดเติมเงิน และรับชำระมีมากขึ้น ผู้บริโภคคนไทยก็พร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่การใช้งานโมบายเพย์เมนต์มากขึ้น

ทั้งนี้ การเข้าไปร่วมทุนของบริษัท แอดวานซ์เอ็มเปย์ จำกัด จะเข้าไปร่วมทุนผ่านการซื้อขายหุ้นเพิ่มใน แรบบิท ไลน์ เพย์ (Rabbit LINE Pay) จำนวน 1,999,998 หุ้น ในราคาหุ้นละ 393.75 บาท รวมเป็นเงิน 787 ล้านบาท ขณะที่ระหว่างผู้ร่วมทุนเดิม ไลน์ เพย์ คอร์ปอเรชั่น และไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) กับบริษัท แรบบิท เพย์ ซิสเทม จำกัดก็ได้มีการเพิ่มทุนอีก 1,999,996หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท เพื่อให้ทั้ง 3 รายถือหุ้นเท่ากันที่ 33.33%

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ระบุว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ภาพรวมของโมบายมันนี่ในประเทศไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคืออยู่ภายใต้การร่วมกันผลักดันให้พฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ช่องทางดิจิทัลที่ประหยัด และปลอดภัยกว่า

โดยข้อมูลจำนวนผู้สมัครใช้งานล่าสุดของ mPAY จะอยู่ที่ราว 3-4 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่มีการใช้งานเป็นประจำ (Active User) ราว 4-5 แสนราย ในขณะที่ Rabbit LINE Pay (RLP) ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีลูกค้าสมัครใช้บริการราว 3 ล้านราย และจำนวนการใช้งานสูงสุดใน 1 วันอยู่ที่ 1.5 ล้านราย พร้อมกับประกาศว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน ผู้ใช้งาน Rabbit LINE Pay จะสามารถใช้ชำระค่าบริการรถไฟฟ้า BTS ได้

ทั้งนี้ จุดเด่นหลักของ mPAY ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานคือเป็นช่องทางในการชำระค่าบริการสาธารณูปโภค รวมถึงค่าบริการต่าง ๆ ได้ครอบคลุมมากที่สุดกว่า 200 รายการ ทำให้ เอไอเอส มองว่าการขยับ mPAY ขึ้นไปเป็นแพลตฟอร์มอีเพย์เมนต์ เพื่อนำมาให้บริการลูกค้าโดยเฉพาะลูกค้าองค์กรจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า

ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส ให้ข้อมูลเสริมว่า ลูกค้าที่ใช้งานกระเป๋าเงิน mPAY ในปัจจุบันจะค่อย ๆ ถูกไมเกรดให้เข้าไปใช้งาน RLP ภายในแอป myAIS แทน ภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยเหตุที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านเนื่องจากต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าในการสมัครเข้าไปใช้งาน RLP ก่อน

ส่วนรูปแบบการให้บริการของ mPAY ในอนาคต ก็จะหันมาเน้นลูกค้าในส่วนขององค์กรธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากรายได้หลักของเอ็มเปย์ในปัจจุบันมาจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งในแง่ของการให้บริการโอนเงินระหว่างบริษัท รวมถึงการเชื่อมระบบอีเพย์เมนต์ต่าง ๆ

ดังนั้น ต่อไปในแง่ของการให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์แก่ผู้บริโภคทั่วไปจะอยู่ภายใต้ RLP ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายกว่า จากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่ปัจจุบันกว่า 95% ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมีการติดตั้งและใช้งานแอปพลิเคชัน LINE รวมถึงระยะเวลาในการใช้งานเฉลี่ยของคนไทยในแต่ละวันสูงถึง 63 นาที

จิน วู ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Rabbit LINE Pay เสริมว่า ความร่วมมือระหว่าง LINE และเอไอเอส จริง ๆ แล้วเริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2012 จากการให้บริการ LINE Official Sticker น้องอุ่นใจ ถัดมาในปี 2014 ที่ LINE นำเกม Cookie Run เข้ามา เอไอเอส ก็เป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ร่วมทำแคมเปญการตลาด

จนมาถึงการร่วมมือ AIS mPAY x Rabbit LINE Pay ในครั้งนี้ ที่เข้ามาช่วยเสริมอีโค ซิสเต็มส์ของ RLP ในแง่ของช่องทางการเติมเงินจากเดิมที่ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินออนไลน์ได้จากการผูกบัญชีธนาคาร และจุดรับเติมเงินอย่าง Kerry Express ซึ่งเมื่อร่วมกับ mPAY ช่องทางอย่าง M Pay Station ศูนย์บริการเอไอเส และเทเลวิซ รวมจุดเติมเงินอีกกว่า 1 แสนจุดทั่วประเทศ ก็จะสามารถเติมเงินเข้า RLP ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกันลูกค้า RLP ก็จะเข้าถึงช่องทางชำระเงินค่าบริการ และค่าสาธารณูปโภคกว่า 200 รายการของ mPAY ไม่นับรวมกับช่องทางชำระเงินอื่น ๆ ที่ทาง RLP อีกกว่า 9,000 จุด และมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วไปอีก

ความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือเป็นการปลดล็อก mPAY ที่ถูกปั้นขึ้นมาโดยพี่ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2548 ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเป็นบริการลูกรักที่อยู่คู่กับซีอีโอคนปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถูกมรสุมกระหน่ำจากการที่เหล่าธนาคารต่างหันมาให้บริการออนไลน์ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน

กลับกันเมื่อมาดูในฝั่งของ TrueMoney ที่ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าที่สมัครใช้งานราว 8 ล้านราย โดยเป็นลูกค้าที่ใช้งานประจำราว 4 ล้านราย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ และคาดว่าจนถึงปี 2020 จะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าที่สมัครใช้งานเป็น 30 ล้านรายได้

โดยในช่วงก่อนหน้านี้ ลูกค้าหลักที่ใช้งาน TrueMoney จะเริ่มจากกลุ่มที่เป็นเกมเมอร์ ใช้ในการเติมเงินเกมออนไลน์ และโอนเงินภายในระบบ จนกระทั่ง TrueMoney จับมือกับ ANT จึงเริ่มขยายการให้บริการสู่การชำระเงินผ่านช่องทางออฟไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวในไทย

จุดแข็งสำคัญของ TrueMoney ในเวลานี้จึงขึ้นอยู่กับการนำร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 ที่มีสาขาอยู่มากกว่า 1 หมื่น แห่งทั่วประเทศ ที่มีโอกาสขยายไปให้บริการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ เมื่อรวมกับช่องทางชำระสินค้าและบริการในกลุ่มทั้งของซีพี และทรูมูฟ เอช จึงทำให้กลายเป็นผู้นำอยู่ในเวลานี้

เมื่อรวมกับเป้าหมายเดิมของ TrueMoney และ ANT ในการขยายร้านค้าชำระเงินให้กลายเป็น 1 แสนแห่งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้การแข่งขันระหว่าง 2 กลุ่มพันธมิตรนี้จะช่วยเพิ่มจุดรับชำระเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดให้แก่ประเทศไทย

ขณะที่ถ้ามองในภาพใหญ่ การขยับตัวครั้งนี้ของ mPAY ร่วมกับอีก 2 พันธมิตร ยังเน้นการให้บริการเฉพาะลูกค้าที่ใช้งานในประเทศเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายของทรูมันนี่ ภายใต้แอสเซนด์ กรุ๊ป วางเป้าใหญ่ไปในระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยฐานลูกค้าที่หวังไว้ราว 100 ล้านราย จากจำนวนประชากรกว่า 620 ล้านราย ภายในปี 2020

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักเดียวกันของผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ หรืออีมันนี่ในไทย ที่ถูกผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการใช้งานได้สะดวกขึ้นทั้งการมาของระบบชำระเงินผ่าน QRcode จากทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการโอนเงินภายใต้บริการอย่างพร้อมเพย์ ที่ช่วยตัดปัญหาค่าใช้จ่ายในการโอนเงินข้ามบัญชี และการปรับตัวของหลาย ๆ ธนาคารที่ร่วมวงเข้ามาจับพฤติกรรมการออนไลน์ของลูกค้า ต่างอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดด้วยกันทั้งสิ้น

‘บริการ RLP ไม่จำกัดว่าเป็นแค่ลูกค้าเอไอเอสถึงจะใช้บริการได้ เพราะใช้การลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชน ใครก็ได้ที่ใช้ไลน์ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกคน บริการที่สะดวก ปลอดภัยนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้คนที่อยากใช้จะต้องย้ายค่ายมาใช้ แต่เรามองว่าทุกคนสามารถใช้บริการนี้ได้’ ปรัธนากล่าวส่งท้าย.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000024058