ในยุคดิจิทัล มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็น “เครื่องมือ” ทำให้คนธรรมดาดังได้ในข้ามคืน และกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์
YouTube อีกช่องทางที่คนแจ้งเกิด เป็น Content Creator หรือ Youtuber ผลิตผลงานคลิปวิดีโอออนไลน์ให้คนดู และ ”ทำเงิน” ได้เป็นกอบเป็นกำ
Positioning พาผู้อ่านไปรู้จักคนดังสนั่นโซเชียล “เก๋ไก๋ สไลเดอร์“ หรือณัฐธิชา นามวงศ์ อดีตนักแสดงซีรีส์ดัง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่ผันตัวมาเป็น “ยูทูปเบอร์” กว่า 1 ปี มีคนติดตาม (Subscribe) เกือบ 4 ล้านคน และทำวิดีโอคลิปออกมามีคนดูต่อคลิปสูงทะลุ 20 ล้านวิว
“เก๋” เริ่มทำคลิปเพราะเห็นยูทูปเบอร์คนอื่น ๆ หาเงินได้มหาศาล จึงลองบ้าง โดยหลักการทำ “คอนเทนต์” ที่ชอบ นำเสนอไลฟ์สไลต์กิน เที่ยว ทำเซอร์ไพรส์ ตลก แกล้งเพื่อน เน้นจับกลุ่มเป้าหมายคนดูเด็ก วัยรุ่น เป็นหลัก
เพื่อให้คนดูเกาะติดคลิป ไม่หนีหาย ความถี่ในการนำคอนเทนต์มาออกอากาศเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 คลิปต่อสัปดาห์ ส่วนเวลาออกอากาศไม่ได้กำหนดชัดเจน เหมือนกับยูทูปเบอร์คนอื่น ๆ ที่กำหนดเวลาเป๊ะ ๆ เพื่อให้แฟน ๆ ได้ดู
ยิ่งปัจจุบันเมื่อมีสปอนเซอร์มีรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คอนเทนต์เริ่มออกอากาศ “ดีเลย์” กว่าเดิมเพราะลูกค้าต้องตรวจคอนเทนต์ก่อน
สำหรับการทำเงินของเก๋ไก๋สไลเดอร์เริ่มเห็นภายใน 6 เดือน ซึ่งคอนเทนต์ติดตลาดแล้ว ยอดวิวหลัก “ล้าน” และได้ส่วนแบ่งจากยูทูปหลัก “พันบาท” แต่ปัจจุบันรายได้หลักมาจากสินค้าและบริการให้สปอนเซอร์ ซึ่งทุกคอนเทนต์เวลานี้ล้วนมีสปอนเซอร์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการผลิตคอนเทนต์ทำเงินคือการนำรูปภาพ เพลงที่มีลิขสิทธิ์มาใช้ เพราะจะต้องมีค่าใช้จ่ายลิขสิทธิ์ตามมา ไม่เช่นนั้นจะกระทบการออกอากาศ โดยยูทูปจะทำการตรวจสอบ แจ้งเตือนเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และระหว่างที่คอนเทนต์ยังไม่ได้ออกอากาศจะเสียรายได้
สำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ ถือเป็นสิ่งที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ยูทูปเบอร์ต้องตระหนัก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าแม้สปอนเซอร์ให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อนำมาประกอบคอนเทนต์ แต่ก็ยังถูกเรียกเก็บซ้ำซ้อน ไม่ต่างจากกรณีรายการเพลงดังต่าง ๆ ที่จ่ายลิขสิทธิ์นำเพลงมาร้อง แต่ก็ยังถูกถอดคอนเทนต์ออกจากช่องทางดังกล่าว
อีกคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชื่อดัง คือ “จีรภัทร์ สุกางโฮง” เจ้าของช่อง “ครูนกเล็ก” มีผู้ติดตามกว่า 2.5 ล้าน Subscribe และมีวิดีโอคลิปออกมากว่า 1,000 ชิ้น ยอดวิวรวมกันทุกคลิปกว่า 3,000 ล้านวิว บอกว่าการทำคอนเทนต์ให้ดังต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทำอะไร คอนเทนต์แบบไหนเพื่อสื่อสาร หรือเจาะกลุ่มคนดูกลุ่มไหน ซึ่งช่องของเธอเน้นเรื่องการศึกษาให้ความรู้ เพื่อจับกลุ่มเด็กเล็ก
การทำคอนเทนต์แต่ละครั้งต้องระมัดระวัง เพราะยุคโซเชียลถ้าเนื้อหาไม่ดี หมิ่นเหม่ ดราม่ามาเยือนแน่นอน การผลิตคอนเทนต์จึงต้องวางแผนแต่ละขั้นตอนให้ดี ละเอียด รอบคอบ และนับ 1-100 ก่อนปล่อยสู่สายตาผู้บริโภค
ส่วนการนำคอนเทนต์ออกอากาศ เพื่อเอาใจแฟนคลับที่รอชมต้องปล่อยทุกวัน วันละคลิป หลังเลิกเรียน
แน่นอนคนดูเยอะ วิวหลายสิบล้าน สินค้าต้องมีมาให้รีวิว เกณฑ์เลือกต้องสอดคล้องกับเด็ก การเรียนรู้ ดังนั้น น้ำอัดลม เลยเลี่ยง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมาให้รีวิว ต้องพูดตามจริง
“3 คนที่เรามีส่วนเกี่ยวข้อง คือ เราคือคนทำคลิป สปอนเซอร์ และคนดู ถ้าสินค้าไหนไม่ดี เราพูดตามจริงได้ไม่เต็มปาก ก็ปล่อยไป เพราะสิ่งที่เราแคร์สุดคือคนดู เรามาถึงวันนี้ได้เพราะคนดู สำคัญที่สุด จึงต้องซื่อสัตย์ไม่โกหกคนดู.