ด้วยความที่คนไทยชื่นชอบช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเป็นชีวิตจิตใจ ช่องทางขายอุปกรณ์กอล์ฟที่สำคัญในเมืองไทย จึงไม่เหมือนต่างประเทศ ซึ่งมักจะเปิดช็อปขายอุปกรณ์กอล์ฟยี่ห้อต่างๆ อยู่บริเวณสนามไดรฟ์กอล์ฟ หรือสนามออกรอบ
ตรงกันข้ามกับเมืองไทย ที่นักกอล์ฟมักนิยมซื้อหาอุปกรณ์ตามห้างสรรพสินค้า ช็อปขายอุปกรณ์ในสนามไดรฟ์กอล์ฟ หรือสนามออกรอบ มักจะเป็นช็อปเล็กๆ ขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่เหมือนในต่างประเทศ ที่มีขายแบบครบเครื่อง
ร้านขายสินค้ากีฬาของไทยอย่าง ซูเปอร์สปอร์ต และสปอร์ตมอลล์ จึงเป็นช่องทางที่มีบทบาท และทรงพลังอย่างมาก ชนิดที่แบรนด์กอล์ฟมองข้ามไม่ได้ แม้จะมีช้อปของตัวเองแล้วก็ตาม แต่ต้องวางขายในร้านขายทั้งสองแห่งด้วย โดยซูเปอร์สปอร์ตเป็นแบรนด์ของกลุ่มเซ็นทรัล ส่วนสปอร์ตมอลล์ เป็นของเดอะมอลล์ ยิ่งห้างฯเปิดตัวมากเท่าใด เท่ากับว่าโอกาสในการขายก็ยิ่งมีมากขึ้น
“ในบ้านเราการทำธุรกิจกอล์ฟแปลกกว่าชาวบ้าน ในต่างประเทศเวลาไปขายอุปกรณ์กอล์ฟจะไปขายที่สนามกอล์ฟ สนามไดรฟ์ เป็นช่องทางที่ขายดี แต่ในทางกลับกันเมืองไทยขายดีในห้างสรรพสินค้า ทำให้ประเทศอื่นแปลกใจ เป็นเพราะพฤติกรรมคนไทยที่ชอบเดินสะดวก คนไปห้างเป็นครอบครัว ทำให้ทุกคนได้ของทุกอย่างครบ ลูกมีที่เดินเล่น คุณแม่สามารถจับจ่ายช้อปปิ้ง ส่วนพ่อก็ได้อุปกรณ์กอล์ฟ”
เมื่อคนไทยเล่นกอล์ฟมากขึ้น สินค้ากอล์ฟขายดิบขายดีจนทำยอดขายอันดับ 2 เป็นรองก็แค่รองเท้ากีฬา ซูเปอร์สปอร์ตและสปอร์ตมอลล์จึงต้องเพิ่มพื้นที่ขายกอล์ฟมากขึ้น จัดสรรพื้นที่ให้กับสินค้ากอล์ฟมากมายถึงเพียงนี้ บางแห่งเช่นซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัล ลาดพร้าว มีพื้นที่ของแผนกสินค้ากอล์ฟถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด
เสน่ห์ที่สินค้ากอล์ฟที่เย้ายวนใจ ราคาต่อยูนิตสูงกว่าสินค้ากีฬาชนิดอื่น
โอกาสในการขายมีมากกว่า มีสินค้าหลากหลายรายการตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่ไม้กอล์ฟไปจนถึงเสื้อผ้า ของประดับ อย่าง กิ๊ฟติดผม หมวก เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ถุงมือ ไปจนถึงไม้หุ้มหัวกอล์ฟ
ความถี่ในการซื้อที่เพิ่มมากขึ้น จากการเร่งเร้าของนวัตกรรม เทคโนโลยีของอุปกรณ์ และความเป็นแฟชั่น ทำให้หลายคนควักเงิน เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ หากมีไม้ที่ตีแล้วนิ่มกว่าเดิม หรือตีได้ไกลกว่าเดิม
นักกอล์ฟหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากฮีโร่ทั้งโปรไทยและโปรต่างชาติระดับโลก ที่อายุเด็กลงเรื่อยๆ ไม่ใช่โปรสูงวัยเหมือนในอดีต
แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายล้วนมีกำลังซื้อสูง เพราะกอล์ฟนอกเหนือจากเป็นกีฬา อันหมายถึงเล่นเพื่อออกกำลังกายแล้ว ยังหมายถึงสังคม หมายถึงภาพลักษณ์หน้าตา และที่สำคัญกอล์ฟกลายเป็นกีฬาที่ก่อให้เกิดรายได้งาม มี Career Path ชัดเจนหากคิดเล่นจริงจัง
ดังนั้น สนามรบของแผนกสินค้ากอล์ฟที่เป็นมุมหนึ่งในร้านขายสินค้ากีฬาเริ่มคุกรุ่นขึ้นทุกปี ตามจำนวนนักกอล์ฟไทยที่เติบโตขึ้น แม้ตัวเลขมูลค่าตลาดสินค้ากอล์ฟในเมืองไทยจะหาตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ โดยซูเปอร์สปอร์ตประมาณการไว้ที่ 2,400 ล้านบาท ขณะที่สปอร์ตมอลล์ประเมินว่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้สินค้ากอล์ฟยังถูกผลักดันจากเจ้าตลาดเก่าแก่อย่างธนิยะพลาซ่า ที่เป็นตำนานห้างขายกอล์ฟยุคบุกเบิกของเมืองไทย รวมถึงค่ายเล็กๆ อย่างสปอร์ตเวิลด์ด้วย
โลเกชั่นสะท้อนถึง Positioning ของแต่ละร้าน แต่ละสาขาได้เป็นอย่างดี ธนิยะพลาซ่า และเอ็มโพเรียม เป็นแหล่งกอล์ฟขนาดใหญ่ของนักกอล์ฟเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลี ขณะที่สยามพารากอนและเซ็นทรัล ชิดลม ได้ทั้งนักท่องเที่ยวหลากเชื้อชาติ ด้านเซ็นทรัล ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า บางนา และสาขาอื่นๆ ของสปอร์ตมอลล์ ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป เจาะลูกค้าคนไทยเป็นหลัก
ด้วยโปรไฟล์ของลูกค้าที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อกลยุทธ์ของแต่ละค่ายอย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ
POSITIONING นำเสนอ กลเกมและมุมมองต่อการเติบโตของกีฬากอล์ฟในเมืองไทย จากซูเปอร์สปอร์ตและสปอร์ตมอลล์ บ้างเหมือน บ้างต่าง แต่จุดร่วมที่เหมือนกันชัดเจน คือ เชื่อว่าคนไทยจะให้ความนิยมกับกีฬากอล์ฟมากยิ่งขึ้น อันเป็นสัญญาณบ่งชี้อันดีต่อตลาดโดยรวม